“เอ็กโก” ดันแผน “ไฮโดรเจน” เกมเชนจ์ ลดปล่อยคาร์บอน

“เอ็กโก” ดันแผน “ไฮโดรเจน” เกมเชนจ์ ลดปล่อยคาร์บอน

ไฮโดรเจนกำลังเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคต ซึ่งสนพ.ได้บรรจุในนโยบายของกระทรวงพลังงานแล้ว โดยในภาคพลังงานไฟฟ้ามองถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือ นำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยี Fuel Cell

ในขณะที่ภาคขนส่งมองเรื่องไฮโดรเจนถูกใช้ในการสังเคราะห์ และปรับปรุงน้ำมันปิโตรเลียมและน้ามันไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยผ่านเครื่องยนต์ ICE หรือผ่าน Fuel Cell เพื่อผลิตไฟฟ้าไปขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าในรถยนต์

ส่วนภาคพลังงานความร้อนมีแผนเช่นเดียวกับภาคพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือ นำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันเตา

สำหรับทิศทางนโยบายการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ไฮโดรเจนสีเทา ไฮโดครเจนสีฟ้าและไฮโดรเจนสีเขียว โดยมีช่วงเวลาในการส่งเสริมแบ่งเป็นระยะสั้น (2021-2030) จะเป็นการวิจัยพัฒนาและนำร่องเทคโนโลยี ส่วนระยะกลาง (2031-2040) เป็นการเริ่มใช้งานไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าหรือความร้อน และระยะยาว (2041-2050) จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีการผลิตหรือการใช้งานไฮโดรเจน

ทิศทางพลังงานไฮโดรเจนจึงเป็นที่น่าสนใจ และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดสัมมนา “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565 มีการนำเสนอทิศทางเทคโนโลยีทั้งไฮโดรเจนและเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Net Zero

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอนสูงจึงต้องรีบปรับตัวตามนโยบาย 4D1E ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Cleaner Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth รวมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นจากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 1,424 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 24% ของกำลังการผลิตรวม 6,079 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 เพราะระยะสั้นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้ายังจำเป็นต่อความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้นในระยะกลางจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซ์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี 2030

“เอ็กโก” ดันแผน “ไฮโดรเจน” เกมเชนจ์ ลดปล่อยคาร์บอน ดังนั้น แนวทางขยายพอร์ตฟอลิโอการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนพลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟ้ฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ การลงทุนในบริษัท เอเพ็กซ์ คลีนเอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้งส์ ประเทศสหรัฐ ที่มีพอร์ตผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์และลมกว่า 40,000 เมกะวัตต์ ส่วนในไทย หลังจากภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวมกว่า 5,000 เมกะวัตต์ เบื้องต้นจะยื่นประมูลโครงการโซลาร์ และแบตเตอรี่รวมกำลังผลิตราว 1,500 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป จะมุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ฟอสซิลสะอาดขึ้น จากการที่ลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติควบคู่เชื้อเพลิง “ไฮโดรเจน” ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น

“พลังงานจากฟอสซิลยังอยู่ ส่วนการพัฒนาแบตเตอรี่ถือว่าใช้เงินลงทุนสูงแต่เก็บไฟได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเดียวจะไม่ตอบโจทย์ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ไฮโดรเจน เป็นการทรานฟอร์มจะดีที่สุด ซึ่งการใช้ไฮโดรเจน 40% ร่วมกับก๊าซฯ ลดปล่อยคาร์บอนได้ดี ซึ่งปีหน้าจะได้เห็นความชัดเจนในไทยแน่นอน"

รวมทั้งปัจจุบันราคาไฮโดรเจนต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 4-5 ดอลลาร์ เทียบเท่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ 25-26 ดอลลาร์ ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติยังคงผันผวนและมีราคาสูงปัจจุบันอยู่ที่บวกลบ 29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ดังนั้น หากเทียบราคากรีนไฮโดรเจนถือว่ามีราคาถูกและคุ้มค่าต่อการลงทุน

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small modular Reactor) ถือเป็นปฎิบัติการนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบที่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ มีความปลอดภัยที่สูง รวมถึงเทคโนโลยี Fusion Technology ปฏิบัติการฟิวชั่น ถือเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดจากการรวมกันของธาตุเบาแล้วได้ธาตุหนักแล้วปล่อยพลังงานออกมา โดยพลังงานที่ออกมาเป็นพลังงานที่เกิดจากการหายไปของมวล 

อีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ D-T Fusion Reaction ถือเป็นไฮโซโทปของไฮโดรเจนมีอยู่ในน้ำทะเลทลิเทียมและมีอยู่น้อยมากในธรรมชาติ ซึ่งผลิตได้จากธาตุลิเทียม และอีกเทคโนโลยีในอนาคต คือ การใช้โซลาร์บนดวงจันทร์ในอวกาศ ซึ่งอาจจะเห็นเอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้ผลิตจานรับสัญญาณบนหลังคา เป็นต้น เพราะในอวกาศสามารถรับแสงอาทิตย์ได้ตลอด 24 ชม. 

“เราศึกษาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงานทางเลือกในอนาคตหรือธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพในการสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งให้องค์กรได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งภายในปีนี้จะเห็นการลงทุนหลายโครงการ”

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มรายละเอียดในแผนพลังงานชาติ ที่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน 50% และควรมีพลังงานทางเลือกอื่นด้วย เช่น ไฮโดรเจน ที่จะช่วยเพิ่มความเสถียรภาพ ให้ราคาค่าไฟแข่งขันได้และตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้