เปิดแผน “เอ็กโก” ลงทุนลดคาร์บอน เพิ่มพอร์ตพลังงานสีเขียวแตะ 30%

เปิดแผน “เอ็กโก” ลงทุนลดคาร์บอน เพิ่มพอร์ตพลังงานสีเขียวแตะ 30%

“เอ็กโก” เร่งขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดคาร์บอน ชี้ พลังงานฟอสซิลยังสำคัญ เร่งใช้เทคโนโลยีเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดแตะ 30% พร้อมลุยพลังงานไฮโดรเจน เสนอรัฐหนุนไทยพัฒนาเทคโนโลยี หนุนสร้างอีโคซิสเต็มพลังงานสีเขียว

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป จัดสัมมนา EGCO Group Forum 2022 หัวข้อ "Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “Carbon Neutral Roadmap” ว่า สถานการณ์ปัจจุบันได้ขับเคลื่อนตามนโยบาย 4D1E ที่กดดันผู้ประกอบธุรกิจให้ต้องปรับตัว โดยเอ็กโกตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีเหมาะสม และการหาพาร์ทเนอร์แข็งแรง

สำหรับโรดแมปจะเริ่มให้ความสำคัญการผลิตพลังงานสีเขียว โดยปัจจุบันขยายพอร์ตลงทุนในไทย และต่างประเทศ จนปัจจุบันมีทั้งโซลาร์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ ลม หรือไฮโดรเจน รวม 1,424 เมกะวัตต์ ราว 20% จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 6,079 เมกะวัตต์

“ต่อจากนี้จะเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าเดิมโดยเน้นใช้เทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยคาร์บอน แม้จะเป็นโรงไฟฟ้าจากฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน โดยได้หาพาร์ทเนอร์ที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า 33 แห่ง กระจาย 8 ประเทศทั่วโลก เพื่อปรับพอร์ตลงทุนไปสู่พลังงานสะอาด

นอกจากนี้ จากการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บทบาทสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.นโยบายกฎกติกา 2.ภาษีคาร์บอน 3.เทคโนโลยี 4.ชื่อเสียง จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งเอ็กโก ต้องวางแผนบริหารจัดการฟอสซิลให้มากที่สุด โดยตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2030 และสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 ซึ่งระหว่างทางพลังงานจากฟอสซิลยังจำเป็นเพื่อความมั่นคง แต่บริษัทจะลดความเข้มข้นในการปล่อยคาร์บอนลง 10% พร้อมเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียน 30% ในปี 2030

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าพลังงานหมุนเวียนมี 2 รูปแบบ คือ ลม และแสงแดด ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่เสถียร ไม่สามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่งการจ่ายไฟที่ผลิตได้แค่ 20% หากจะให้ครบ 24 ชั่วโมง จะต้องมีอย่างน้อย 5 เท่า และมีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานช่วงกลางวันเพื่อมาจ่ายในกลางคืน

“เอ็กโก” เร่งลงทุนพลังงานสีเขียว

ดังนั้นปีที่ผ่านมา เอ็กโก จึงได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนโมเดลใหม่ ผ่านการถือหุ้น 17.46% ในเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่เพื่อจำหน่าย และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เองในสหรัฐ โดยปัจจุบัน “เอเพ็กซ์” มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำลังผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 61 โครงการ กำลังผลิตรวม 20,439 เมกะวัตต์

 

รวมทั้งมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 โครงการ กำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 121 โครงการ กำลังผลิต 19,920 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ เตรียมประมูลโครงการรัฐที่ตั้งเป้าไว้ 1,500 เมกะวัตต์ โดยเน้นพลังงานแสงอาทิตย์กับแบตเตอรี่ ซึ่งอาจร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญ และภายในปี 2565 เอ็กโก จะปิดดีลกิจการโรงไฟฟ้าอีกแน่นอน โดยยังคงวางงบประมาณลงทุนทั้งปีที่ 30,000 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 1,000 เมกะวัตต์

พร้อมลุย “ไฮโดรเจน”

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า พลังงานจากฟอสซิลยังอยู่ ส่วนการพัฒนาแบตเตอรี่ถือว่าใช้เงินลงทุนสูงแต่เก็บไฟได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเดียวจะไม่ตอบโจทย์จึงดูทางเลือกอื่น และที่น่าสนใจ คือ ไฮโดรเจน เพราะเป็นการทรานฟอร์มจะดีที่สุด ซึ่งการใช้ไฮโดรเจน 40% ร่วมกับก๊าซธรรมชาติจะลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาให้เปลี่ยนแก๊สธรรมชาติเป็นไฮโดรเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ Small Modular Reactor ถือเป็นปฏิบัติการนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบที่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ มีความปลอดภัยที่สูง รวมถึงเทคโนโลยี Fusion Technology เป็นปฏิบัติการฟิวชั่น ถือเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดจากการรวมกันของธาตุเบาแล้วได้ธาตุหนักแล้วปล่อยพลังงานออกมา โดยพลังงานที่ออกมาเป็นพลังงานที่เกิดจากการหายไปของมวล ส่วน D-T Fusion Reaction ถือเป็นไฮโซโทปของไฮโดรเจนมีอยู่ในน้ำทะเล ลิเทียมและมีอยู่น้อยมากในธรรมชาติ ผลิตได้จากธาตุลิเทียม และอีกเทคโนโลยีคือ การใช้โซลาร์บนดวงจันทร์

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาไฮโดรเจนต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 4-5 ดอลลาร์ เทียบเท่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ 25-26 ดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติผันผวน และมีราคาสูงที่ 29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ดังนั้น หากเทียบราคากรีนไฮโดรเจนถือว่าถูก

แนะเร่งพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ เอ็กโกพร้อมทั้งแสวงหาแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงานทางเลือกในอนาคตหรือธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพในการสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งให้แก่องค์กรได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รวมทั้งไทยจำเป็นต้องไปสู่ศูนย์กลางทั้งเป็นผู้นำเทคโนโลยี ผู้ผลิต และส่งออก ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนนโยบายส่งเสริมธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ สนับสนุนการพัฒนา R&D สร้างเทคโนโลยีไว้ใช้เองและส่งออก โดยหากปรับโครงสร้างอีโคซิสเต็มให้รองรับ และมีแรงจูงใจ เพื่อให้นักลงทุนมีความคุ้มค่าการลงทุน แม้วันนี้ไม่คุ้มค่าเพราะราคาสูง แต่เมื่อเริ่มก่อนก็จะสามารถวางกลยุทธ์ และเป้าหมายให้ขยายออกไปสร้างโอกาสการลงทุน

“อยากให้ภาครัฐเพิ่มแผน PDP ที่วันนี้หากสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน 50% ควรจะมีทางเลือกอื่นเข้าไปด้วย เช่น ไฮโดรเจน ที่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพ ให้ราคาค่าไฟสามารถแข่งขันได้ และตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้”

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์