รู้จัก “Taxonomy” เครื่องมือใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว

รู้จัก “Taxonomy” เครื่องมือใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว

ชวนรู้จัก “Taxonomy” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญใหม่ ในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว เพื่อให้ภาครัฐ สถาบันทางการเงิน เอกชน วางแผนการสนับสนุนขอวงเงินเพื่อดันธุรกิจ-ผลิตภัณฑ์สีเขียว

ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญ และได้ปรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลไกสำคัญในการผลักดันกลุ่มธุรกิจเพื่อลดโลกร้อนไปด้วยกันอีกกลไกสำคัญ คือ สถาบันทางการเงิน เนื่องจากภาคการเงิน จะกลายเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินลงทุนให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของประเทศ สนับสนุนเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมสังคมธรรมาภิบาล

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่จะบรรลุเป้าหมาย ESG ทั่วโลกต้องการเงินลงทุนปีละราว 5-7 ล้านล้านดอลลาร์ และประมาณปีละ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030 เพื่อควบคุมอุณภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา การที่จะดึงเงินลงทุนต่าง ๆ นี้ จะต้องมีการกำหนดกฎกติกากลางให้ได้มาตรฐาน เพราะเราจะทราบได้อย่างไรว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ลงทุนสอดคล้องกับความยั่งยืนจริง ไม่ใช่การฟอกเขียว ที่เป็นการแอบอ้างเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคการเงิน ธปท. จึงออกแบบแผนดำเนินงานที่คำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็วของการดำเนินการที่ชัดเจนและให้มีสมดุลระหว่างการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องไม่เร่งรัดจนทำให้ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้เกิดการละเลยหรือเพิกเฉยที่จะปรับตัว จนส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว ซึ่งแผนดำเนินงานข้างต้นจึงต้องมีการวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

1. ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่สามารถรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจได้ตรงจุด

2. จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง อาทิ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง คาดแล้วเสร็จภายในต้นปี 2566 เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้

3. พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงตัดสินใจลงทุนหรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

4. สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้นำร่องโดยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟู เพื่อสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เหมาะสมแก่ SMEs ในการส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันภายใต้กระแสบริบทโลกใหม่

5. ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

ดร.ปรเมธี กล่าวว่า สำหรับเรื่อง Taxonomy ถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งจะต้องกำหนดนิยามจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่สอดคล้องเรื่องของการการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสอดคล้องความยั่งยืนให้เข้าใจร่วมกัน ให้ผู้กำกับ ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินได้เข้าใจ และนำไปสู่ความคาดหวังให้มีเงินมาสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งอียูและจีนได้มีการบังคับใช้แล้วอย่างเข้มงวด เช่นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเกิน 500 คน จะต้องเปิดเผยข้อมูล ค่าใช้จ่ายการลงทุนพลังงานกี่เปอร์เซ็นต์ที่สอดคล้องกับ Taxonomy เป็นต้น ส่วนในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เริ่มต้นด้วยความสมัครใจ ขณะที่ฟิลิปปินส์ กับประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำ

“ธปท. ได้ดำเนินการตามแผนทรานฟอร์มสู่อนาคต และเตรียมการ อาทิ ด้านดิจิทัล กรีน ยั่งยืน และด้านความยืดหยุ่นในด้านของการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้ออกแนวการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้สายการเงินออกมา ซึ่ง Taxonomy เป็นหนึ่งในด้านของการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดลอม”

ทั้งนี้ ธปท. ได้ตั้งคณะทำงานเรื่อง Taxonomy ซึ่งต้นปีหน้า จะเห็กฎระเบียบแผนงานที่ชัดเจน เพราะธุรกิจพลังงานหากจะเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทนต้องใช้เงินและเทคโนโลยีสูง ธุรกิจองค์กรขยาดเล็กอาจไม่มีขีดความสามารถและความพร้อมประสิทธิภาพด้านการเงิน ต้องคำนึงถึงผลกระทบของโลก ซึ่งความท้าทายอนาคตหากช้าจะมีต้นทุนสูง หากไปเร็วจะถึงจุดที่ไปได้ทันการ

อย่างไรก็ตาม ธปท. อยากให้ประเทศไทยมี Taxonomy ที่เป็นมาตรฐานเพื่อกำหนดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ภาคการเงิน รัฐ และเอกชน สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการดำเนินการของตัวเองได้ ทั้งวางนโยบาย กำกับสนับสนุน สร้างผลิตภัณฑ์หรือการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ จึงควรเริ่มจากภาคพลังงาน และขนส่งก่อน ถือเป็นภาคใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด

“สิ่งที่ต้องทำต่อจาก Taxonomy คือเปิดเผยข้อมูล ซึ่งภาคธุรกิจ สมาคมต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบ ดังนั้น Taxonomy จะเป็นก้าวสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมาย Net Zero และเป็นตัวช่วยอ้างอิงภาคเศรษฐกิจให้ได้ปรับตัวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้เกิดการทำกรีน ฟอสซิล มากขึ้น สถาบันทางการเงินก็จะได้ทำเป็นตัวอ้างอิง โดยมีรัฐกำกับ ส่วนเอกชนจะประเมินความพร้อมด้านเงินลงทุนของตนเองได้”