ส่องเป้าหมายไทยใน 'COP27' เร่งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เร็วขึ้น 35 ปี

ส่องเป้าหมายไทยใน 'COP27' เร่งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เร็วขึ้น 35 ปี

ไทยพร้อมร่วมประชุม COP 27 ช่วง 3-18 พฤศจิกายน 65 นี้ ที่อียิปต์ นายกฯมอบ รมว.ทส.เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ประกาศจุดยืนร่วมมือประชาคมโลกควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศา เร่งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก และความเป็นกลางทางคาร์บอนเร็วขึ้นทุกเป้าหมาย

เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ในการยกระดับเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065 

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับทราบกรอบท่าทีเจรจาของไทยที่มีกำหนดร่วมการประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 3-18พ.ย.2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์

ส่องเป้าหมายไทยใน \'COP27\' เร่งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เร็วขึ้น 35 ปี

โดยกรอบท่าทีเจรจาของไทยเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้จัดทำและปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Long Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy, LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution ,NDC) เพื่อยกระดับเป้าหมายของไทยดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง ซึ่งยังมีสาระสำคัญคงเดิม แต่แก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น การกำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) เร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี

ปรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน เดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) หรือเร็วขึ้นกว่าเดิม 15 ปี

และปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ใน ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) หรือเร็วขึ้นกว่าเดิม 35 ปี

นอกจากนั้นมีการระบุประเด็นที่ไทยต้องการรับการสนับสนุนให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยไม่มี และความช่วยเหลือในเรื่องการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

 

2. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) ที่ยังคงมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับ NDC ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่มีการแก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง โดยมีการแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลง 30-40% จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030  การเพิ่มเติมรายงานข้อมูล การปล่อย/การดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ และเพิ่มเติมผลสำเร็จเรื่องอื่น

สำหรับความคืบหน้าของไทยมีการการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) และความต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการทำการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) เพื่อเพิ่มผลิตภาพของผลผลิตและปล่อยคาร์บอนต่ำ