"ปตท." ชูแผน 3P สู่เป้า Net Zero ปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

"ปตท." ชูแผน 3P สู่เป้า Net Zero ปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

ปตท. ประกาศเป้า Net Zero ปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อคนไทยอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความตั้งใจ ชูกลยุทธ์ 3P ขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่ม ปตท. มองราคาพลังงานปีหน้าระดับ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมหนุมประเทศดูแลคนไทยผ่านพ้นวิกฤตพลังงาน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบปี 2566 จะอยู่ในกรอบ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปตท.ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานพร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังได้ปรับแผนการใช้งบประมาณในทุก ๆ ไตรมาส เนื่องจากปัจจุบันในแง่ของซัพพลาย กลุ่มโอเปกพลัส ได้ประกาศจะปรับลดกำลังการผลิตลงลงในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่ในขณะเดียวกันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็ทำให้ความต้องการใช้ลดลงด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานดูแลค่าครองชีพประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเพื่อช่วยลดผลกระทบให้เบาบางลง

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการลดอุณหภูมิ ซึ่งจากผลสำรวจปี 2019 พบว่าประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 ส่งผลกระทบต่อ GDP ประเทศลดลง 10% คิดเป็นเม็ดเงินสูญเสียกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ และจากตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกปีละ 3.6 หมื่นล้านตัน ส่วนไทยปล่อยที่ 247 ล้านตัน

ทั้งนี้ กลุ่มปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่มีการปล่อยคาร์บอนปีละ 45 ล้านตัน หรือ 18% โดยเฉพาะปตท.เองมีการปล่อยคาร์บอนประมาณปีละ11.6 ล้านตัน ดังนั้น กลุ่ม ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ

ปตท. มีกลยุทธ์ตัวชี้วัดและแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจ กลุ่ม ปตท. โดยจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจกลุ่ม ปตท.”

สำหรับกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประกอบด้วย 3P ได้แก่ 1. Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน

การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดลอง 3-4 โครงการ คาดว่าต้นปี 2566 จะเห็นผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน คาดจะเห็นโครงการทดลอง หรือโครงการนำร่องได้ในช่วงเดือนพ.ย. 2565 เป็นต้น โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

2. Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ โรงไฟฟ้าในกลุ่มปตท.ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าปี 2026 เพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และปี 2030 เป็น 12,000 เมกะวัตต์ และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50% และ

3. Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. ซึ่งแต่ปี 2537 ปตท. ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่า 80% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี

นอกจากนี้ ยังสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี แม้การดำเนินการภาคป่าไม้จะมีต้นทุนที่สูงแต่ถือเป็นอีกวิธีสำคัญ โดยกลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติมรวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงงานแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และส่วนประกอบต่างๆ นั้น ภายในปีนี้ จะเริ่มลงเสาเข็มแล้ว ถือเป็นไปตามแผนโดยจะเริ่มผลิตได้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเฟสแรก 50,000 คันต่อปี และทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150,000-200,000 คันต่อปีในปี 2573”

อย่างไรก็ตาม ปตท. ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก โดยปัจจุบัน ปตท. ได้รับภารกิจเป็นประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network : TCNN) เครือข่ายองค์กรชั้นนำระดับประเทศจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 275 องค์กร มีเป้าหมายมุ่งเป็น “เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero” ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อภาครัฐ มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน

“ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และศักยภาพการเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด และแม้ว่าการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะมีความท้าทาย แม้ว่าในกลุ่มปตท.บางบริษัทจะมีแผนเป้า Net Zero ปี 2060 แต่เมื่อปตท.ทำได้ก่อนเป้าหมายประเทศไทย ก็จะช่วยประเทศได้มากยิ่งบขึ้น”