‘เทคคอมพานี’ ทุ่มงบ-วางโรดแมพ ‘ลดคาร์บอน’ ปูทางสร้างความ ‘ยั่งยืน’

‘เทคคอมพานี’ ทุ่มงบ-วางโรดแมพ ‘ลดคาร์บอน’ ปูทางสร้างความ ‘ยั่งยืน’

“เทคคอมพานี” วางโรดแมพดันองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน “ไมโครซอฟท์” ทุ่มพันล้านดอลล์ลงทุนในกิจการนวัตกรรม ดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ “เอคเซนเชอร์” เผยผลวิจัย ซีอีโอ เอเชีย วางเป้าสู่โมเดลธุรกิจสร้างความยั่งยืน “หัวเว่ย” เร่งยกระดับองค์กรปลอดคาร์บอน

นายโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ถอดรหัสเส้นทางแห่งความยั่งยืนผ่านประสบการณ์การทำงานกับบริษัทไอทีระดับโลก ภายในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ว่าทุกวันนี้ทุกคนต่างทราบถึงเปลี่ยนแปลงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ระดับบุคคล แต่รวมไปถึงองค์กร การทำงาน เรียน การขนส่งคมนาคม ซึ่งตัวแปรสำคัญของปัญหาหนีไม่พ้นก๊าซเรือนกระจก

ข้อมูลระบุว่า ทุกวันนี้มีก๊าซเรือนกระจกกว่า 51,000 ล้านตัน ถูกปล่อยออกมาทุกปี ซึ่งการจัดการไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศไทย ทุกคนทุกประเทศต้องร่วมมือกัน

 

สำหรับไมโครซอฟท์ วางเป้าหมายที่จะนำประสบการณ์ ดึงพลังเทคโนโลยี องค์ความรู้ รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตร มาร่วมกันสร้างความยั่งยืนในอนาคต

ที่ผ่านมา ที่ดำเนินการไปแล้วไม่ใช่การทำประชาสัมพันธ์ แต่เป็นแกนกลางของการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันปักธงการลดคาร์บอนในกิจกรรมของบริษัท ซึ่งการสร้างความสำเร็จได้ไม่ได้มองที่ปลายเหตุ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วัฒธรรมองค์กร และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างเป็นรูปธรรมมาหลายปี

ไมโครซอฟท์ทุ่มงบ1พันล้านดอลล์

นอกจากนี้ เมื่อปี 2020 ได้ตั้งเป้าหมายใหม่ภายในปี 2030 ต้องการเป็นคาร์บอนเนกาทีฟ ลดคาร์บอนให้ได้มากกว่าที่ปล่อย มากกว่านั้นปักธงกับ Zero Waste, วอร์เทอร์โพสิทีฟในดาต้าเซ็นเตอร์ และปี 2050 ดึงคาร์บอนที่เคยปล่อยมาตั้งแต่ปี 1975 ออกจากชั้นบรรยากาศให้หมด

“เราจะพาองค์กรและโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืน เมื่อปี 2020 ได้ตั้งกองทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับลงทุนในกิจการ นวัตกรรม รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ โดยความตั้งใจของไมโครซอฟท์มาพร้อมกับความโปร่งใส ทุกกิจกรรม ทุกความท้าทายมีการรายงาน ถอดบทเรียนเผยแพร่สู่สาธารณะ”

ปัจจุบัน มีการทำสัญญาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 2.5 ล้านตัน สัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาว 8 กิกะวัฒน์ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ 87% จัดทำรายงานกิจกรรม และได้ทำออกมารูปแบบโซลูชันซึ่งพันธมิตรสามารถนำไปปรับใช้ได้ “Microsoft Cloud for Sustainability”

สำหรับโซลูชันดังกล่าวไฮไลต์เช่น Microsoft Sustainability Manager ซึ่งจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาประมวลผล และรายงานจากนั้นนำไปต่อยอดในโครงการต่างๆ โดยแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์มาในรูปแบบ “One Platform” ที่เอื้อต่อการปรับใช้ อำนวยความสะดวกในการทำงาน รูปแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล กระบวนการวิเคราะห์ คำนวณ บันทึก วิเคราะห์ ปูทางสู่การวางแผน และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

‘ความยั่งยืน’ พันธกิจซีอีโอทั่วโลก

นายเจอร์เกน คอปเพนส์ กรรมการผู้จัดการ, Sustainability Lead ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวข้อระดับท็อปของซีอีโอทั่วโลก โดยต่างยอมรับว่าธุรกิจได้รับผลกระทบจาก Climate change และขณะนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ผลสำรวจระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นผลักดันให้ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียเกิดการตระหนักรู้และพิจารณาถึงโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากวางเป็นกุญแจสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลจำต้องให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องนี้ด้วย

“บรรดาซีอีโอมองความยั่งยืนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและได้เพิ่มประเด็นนี้เป็นภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจ จากการสำรวจตลาดที่มีการเติบโตในเอเชีย พบว่าซีอีโอวางบทบาทผู้นำในการขับเคลื่อนงาน มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน กำหนดแนวทางการทำงานของพนักงานซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายรัฐเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม”

โดยซีอีโอต่างเห็นพ้องกันว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าประเด็นเรื่องการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนจะยิ่งมีความสำคัญ เป็นทั้งโอกาสและความกังวลของผู้บริหารไปพร้อมๆ กัน

เอคเซนเชอร์เผยว่า ธุรกิจที่เป็นผู้นำได้เร่ิมวางกลยุทธ์เพื่อจัดลำดับความสำคัญ พร้อมวางบทบาทและเป้าหมายองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันมีการตั้งงบการลงทุนในเทคโนโลยีด้านความยั่งยืน การวิจัยและพัฒนา รวมถึงโปรดักส์ดีไซน์

ส่วนประเด็นความท้าทายที่ต้องเผชิญหลักๆ ประกอบด้วย การเลือกใช้และลงทุนด้านเทคโนโลยี การเงิน การเมืองและการกำกับดูแลของภาครัฐ และการสร้างการรับรู้ในสังคมและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อผลักดันให้การทำงานเกิดศักยภาพครอบคลุมทุกภาคส่วน

ด้านเทคโนโลยีโซลูชันที่คาดว่าจะมีอิทธิพลในงานด้านนี้เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับวิเคราะห์กระบวนการ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า เอไอ ระบบอัตโนมัติ รวมถึงเครื่องมือที่ทำให้สามารถเก็บข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล และวางแผนการซ่อมบำรุงได้แบบเรียลไทม์ ฯลฯ

หัวเว่ย ชูวิชั่นบิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง

“นายเอ็ดวิน เดียนเดอร์” หัวหน้าส่วนนวัตกรรมกลุ่มธุรกิจ โกลบอล อิเล็กทริกซ์ พาวเวอร์ ดิจิทัลไลเซชั่น บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และความเป็นกลางของคาร์บอน (Zero-Carbon) เป็นเรื่องที่องค์กรทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญ กำหนดเป็นนโยบาย แผนงาน พัฒนา ขับเคลื่อน และต้องมีการประเมินผล สิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะช่วยให้โลกยั่งยืนในแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เขายกตัวอย่างหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ เช่น กว่า 195 ประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คิดเป็น 92% ของทั่วโลก และกว่า 130 ประเทศ ได้ยืนเจตจำนงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ 9 ใน 10 ประเทศที่มีจีดีพีสูงท่ี่สุดในโลก ก็มีความมุ่งมั่นที่จะเดินแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากนี้  6 ใน 10 ประเทศชั้นนำของโลกด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ก็วางเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่นเดียวกับ 21 ประเทศ รวมทั้งจีน กำลังพัฒนาเอกสารนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างจริงจัง และมี อีก 97 ประเทศทั่วโลก ที่จะเข้าสู่เวทีเสวนานโยบายระดับชาติในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน

ในมุมมองของหัวเว่ย มองว่า การเปลี่ยนแปลงพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล มีค่าเท่ากับความเป็นกลางของคาร์บอน นั่นหมายความว่า ทุกการทรานสฟอร์ม ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลักด้วย

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ย มีวิชั่น ที่จะก้าวไปสู่ความยั่งยืน เสนอแนวคิดบิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง (More Bits, Less Watts)  และเลือกใช้โซลูชันสีเขียวทั้งระบบ (Green Site-Green Network-Green Operation) ช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถเพิ่มความจุของเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง และลดการใช้พลังงานของหน่วยบิต

ขณะที่ การเพิ่ม 5จี แต่ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และด้วยการใช้รูปแบบ หนึ่งไซต์หนึ่งตู้ หนึ่งไซต์หนึ่งเบลดเซิร์ฟเวอร์ หัวเว่ยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจาก 89% เป็น 97% และลดต้นทุนต่อวัตต์ลง 20% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้มองเห็นฉากทัศน์ที่สวยงามของ 5จี สีเขียวในอนาคต

ยกแคมปัสใหญ่เขตปลอดคาร์บอน

นอกจากนี้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีไอซีทีในเชิงลึก การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไอซีทีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตอุปกรณ์เช่นหัวเว่ย จะดำเนินงานตามแนวปฏิบัติที่ใช้ บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนาทฤษฎี วัสดุ และอัลกอริทึม เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนและประหยัดพลังงาน

อย่างไรก็ตาม นายเอ็ดวิน ยังได้ยกตัวอย่าง หัวเว่ย แคมปัส ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตงกวน ริมทะเลสาบซงซาน (Songshan Lake) เป็นแคมปัสใหญ่ เขตปลอดคาร์บอน มีการบริหารจัดการด้านพลังงานที่ครบวงจรที่ยั่งยืน ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ใช้ยานพาหนะภายในแคมปัสก็เป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด