Health Brings Wealth (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

Health Brings Wealth (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ขอเปลี่ยนมาเขียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพบ้าง เพราะผมได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับหนังสือสุขภาพ ที่มีสาระความรู้ที่หนาแน่นและน่าสนใจอย่างมาก

ผู้เขียนซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่าน คือ Prof Jiri Dvorak (ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังกล้ามเนื้อและกีฬา) Prof Sergio Fazio (ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ) นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ (ผู้ชำนาญการด้านดูแลป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ) และ Prof  Keith Black (ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง) 

หนังสือเล่มนี้เป็นตำราที่ผมขอนำมาย่อสรุปเป็น 2 ตอน โดยในตอนแรกนี้ผมจะสรุปภาพรวมของหนังสือก่อนและตอนสุดท้ายผมขอเจาะลึกเฉพาะเรื่องโรคหัวใจและโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุ (เช่นผม) จะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด

แม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเทียบแล้วเป็นบทที่ค่อนข้างสั้นในหนังสือเล่มนี้ (บทที่ 6 ที่เขียนถึงโรคหัวใจยาวเพียง 10 หน้า ในขณะที่บทที่ 7 ที่เขียนถึงโรคสมองยาวเพียง 9 หน้าในหนังสือที่มีความยาวกว่า 200 หน้า) แต่เป็นบทที่มีสาระสำคัญที่สมควรรับรู้อย่างมาก

ข้อสรุปที่เป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ Preventive Medicine and Health การดูแลและป้องกันให้สุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์ตลอดไป ไม่ใช่การรอให้เป็นโรคหรือมีปัญหาแล้วจึงต้องเรียกหาหมอมาจ่ายยารักษาหรือทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของร่างกาย 

การดำเนินชีวิตที่เป็นรากฐานของสุขภาพที่ดีตลอดไปมีอยู่ 5 ข้อคือ

1.    เข้านอนก่อน 22.00 น.และนอนหลับคืนละ 8-9 ชั่วโมง
2.    ออกกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีทุกวัน
3.    กินอาหารที่มีคุณภาพและมีความสมดุล-ลดน้ำหนักที่เกินเกณฑ์โดยเฉพาะส่วนที่เป็นไขมัน
4.    ควบคุมความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ การเล่นโยคะและไทชี
5.    หลีกเลี่ยงสารอันตราย ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุราและฝุ่น PM 2.5

การมีสุขภาพแข็งแรงมีประโยชน์อย่างไรในยุคที่ COVID-19 ระบาด? ได้มีงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทประกันสุขภาพของสหรัฐ โดยอาศัยศูนย์การแพทย์ Kaiser Permanent Medical Center เมื่อปี 2021 โดยใช้ข้อมูลของคนที่ติดเชื้อ COVID-19 48,440 ราย

ซึ่งพบว่าเพียง 6% ของคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (consistently active) ต้องเผชิญกับการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 

ขณะที่คนที่ออกกำลังเป็นครั้งคราว (somewhat active) มีสัดส่วนที่ป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่า ทั้งนี้กลุ่มที่มีสัดส่วนป่วยหนักและเสียชีวิตสูงสุดคือกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกาย (consistently inactive) ดังนั้นข้อสรุปในบทที่ 4 ว่าด้วยการออกกำลังกายคือบทที่มีความยาวมากที่สุด 

Health Brings Wealth (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แต่มีข้อสรุปสั้นๆ ที่ได้ใจความคือ “Physical activity is your cheapest medicine” ซึ่งสะท้อนชื่อของหนังสือเล่มนี้ได้ดีคือการออกกำลังกายซึ่งไม่ต้องใช้เงินมาก แต่ให้ผลตอบแทนสูงในการนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีคือ Health ที่ bring Wealth อย่างแท้จริง 

บทสรุปคือจะต้องกินยา “สุขภาพ” (ออกกำลังกาย) ทุกวัน ตอนเช้า 1 เม็ด (ออกกำลังกาย) ตอนเย็น 1 เม็ด (ออกกำลังกาย).

 บทต่อไปคือบทที่ 5 ซึ่งพูดถึงเรื่องของการกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราคงตระหนักกันดีแล้วว่า การเลือกกินอาหารที่ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มและมีความสมดุลนั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการดูแลสุขภาพ 

ปัญหาคืออาหารดังกล่าวจะไม่ค่อย “อร่อย” ซึ่งตรงนี้จะต้องเลือกระหว่างการได้รับความพึงพอใจ (satisfaction) มากในปัจจุบันกับปฏิเสธความพึงพอใจดังกล่าว ณ ปัจจุบัน (delay gratification) ในวันนี้เพื่อ “ลงทุน” สำหรับอนาคตที่มีสุขภาพดีในวันหน้า

 คือการกินอาหารอย่างระมัดระวังที่ไม่สบอารมณ์นัก เพื่อแลกกับการมีสุขภาพดีแข็งแรงสามารถทำกิจกรรมอะไรได้ตามในชอบไปอีกนานหลายปีและลดความเสี่ยงจากการที่สุขภาพในอนาคตจะถดถอยอย่างรุนแรง 

Health Brings Wealth (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ทำให้ต้องไปพบแพทย์หลายรายบ่อยครั้งและต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการรักษาพยาบาลร่างกาย ที่เริ่มพิการก่อนวัยอันควร และอาจจะนำมาซึ่งความทรมานตัวเป็นประจำทุกวันและยังเป็นข้อจำกัดให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้ เช่นการเดินเที่ยวนานๆ เป็นต้น

แน่นอนว่าเราไม่สามารถทราบได้ว่า “การลงทุนในสุขภาพ” ดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด (การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด) หลายครั้งตอนที่เรา (ผม) อายุน้อยก็มักจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับความเสี่ยงทางสุขภาพในอนาคตเพราะเคยชินกับร่างกายที่แข็งแรง จึงไม่คิดจะหาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้ดี (“if something works, why fix it?”)

ในส่วนของอาหารนี้อาจมีอีก 3 เรื่องที่บางคนอาจจะยังไม่ได้นึกถึงที่หนังสือเพิ่มนี้ตักเตือนเรา ได้แก่
1.    ควรกินอาหารที่มีการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด คือใกล้กับความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ดังนั้นในบางกรณี เช่น การคิดที่จะลดการกินเนื้อสัตว์โดยหันไปกินโปรตีนสกัดมาจากพืชนั้น ก็ควรคำนึงถึงกระบวนการปรุงแต่ง (processed food) ดังกล่าวด้วย

2.    แนะนำให้อดอาหาร 12 ชั่วโมงทุกวัน (12 hours fasting) ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ก็จะต้องจำคาถานี้เอาไว้ให้ดีคือ “Eat breakfast alone (กินได้เยอะหน่อย), Lunch with your friends (กินได้และคุยกับเพื่อนด้วย), ”and give dinner to your enemy” (หากไม่มีศัตรูก็ไม่ต้องกินอาหารเย็น)

3.    อาหารเนื้อที่มีการปรุงแต่งและใช้สารกันบูด (processed meat, sodium nitrite) ที่พวกเราทุกคนชอบกินคือเบคอน ไส้กรอกและซาลามี ถูกจัดอันดับโดย WHO ให้เป็นอาหารที่อยู่ใน Group 1 คือมีข้อสรุปชัดเจนแล้วแล้วว่า Carcinogenic แปลว่า “causes cancer” ในขณะที่เนื้อวัว หมูและแกะ ถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Group 2A ที่มีข้อสรุปว่า “probably causes cancer” 

ประเภทของมะเร็งที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นกับผู้ที่กินอาหารประเภทดังกล่าวคือ มะเร็งในลำไส้ใหญ่ และแถมด้วยการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ดังปรากฏในตาราง

Health Brings Wealth (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ                 

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมกินเนื้อที่มีความเค็มและใช้สารกันบูด จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ก็ต้องบอกว่าการกินเนื้อมากๆ อาจเสี่ยงต่อการบริโภคเหล็ก (iron) มากเกินไปซึ่งจะนำมาซึ่งการดื้ออินซูลินหรือการใช้เคมีเพื่อถนอมอาหารส่งผลกระทบทำให้ตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลินได้รับความเสียหาย

หนังสือเล่มนี้ยังได้จัดหาตำราอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 18 ตำราด้วยซึ่งดูแล้วน่าอร่อยอย่างมากครับ.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร 
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร