เมื่อปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพครบ 8 ปี | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพครบ 8 ปี | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วสุขภาพของผมไม่ดี ป่วยปีละ 2-3 ครั้ง เมื่อไปตรวจเลือดก็พบว่าไขมันเริ่มสูง ระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์และมีไขมันพอกตับ หากมองภายนอกก็เห็นได้ชัดว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10 กิโลกรัมและเริ่มปวดหัวเข่าและปวดหลัง

ทั้งหมดนี้ในตอนนั้นผมเข้าใจว่าเป็นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น (การแก่ตัวลง) แต่คุณหมอที่ตรวจฮอร์โมนของผมเตือนว่าระดับฮอร์โมนต่ำเหมือนคนที่อายุ 70 ปี ไม่ใช่คนที่อายุ 56 ปี จึงทำให้ต้องถามตัวเองในตอนนั้นว่าจะทำอย่างไรกับตัวเอง คือทำอย่างเดิมต่อไปแล้วรอไปให้หมอรักษาทีละโรค หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่ โดยคาดหวังว่าจะสามารถกอบกู้สุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
    บังเอิญในปี 2016 ดร. Yoshinori Ohsumi ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ (medicine) จากการค้นพบยีนที่กระตุ้นกระบวนการกลืนกินของเสียในเซลล์ (autophagy) ซึ่งเป็นการฟื้นฟูเซลล์ให้แข็งแรงขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่าหากยีนที่กระตุ้น autophagy กลายพันธุ์หรือบกพร่องก็จะนำไปสู่การเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งและการเสื่อมของเซลล์สมองอีกด้วย

การกระตุ้น autophagy ให้เกิดขึ้นนั้นทำได้โดยการอดอาหารที่ให้พลังงาน (caloric restriction) ซึ่งสอดคล้องกับการที่คุณหมอแนะนำให้ผมงดการกินอาหารมื้อเย็น เพื่อลดน้ำหนักและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน เพราะน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงและพันธุกรรมของผมก็บ่งชี้ว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อแก่ตัวลง
    การงดกินข้าวเย็นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งจากที่เคยกินอาหารค่ำเป็นอาหารมื้อโปรดและกินมากเกินเหตุ ทำให้อาหารไม่ค่อยย่อยและนอนหลับไม่เพียงพอ ผลคือรู้สึกหิวและหงุดหงิด ซึ่งทำให้ต้องเอาเวลาว่าง 1-2 ชั่วโมงดังกล่าวไปวิ่งออกกำลังกาย (หรือเดินเร็วประมาณ 1 ชั่วโมง) เกือบทุกวัน 
    จนกระทั่งเวลาผ่านไป 8 ปีแล้ว ผมจึงสามารถพูดได้ว่าวิ่งช้าๆ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 20 กิโลเมตรเป็นประจำและการงดอาหารเย็นได้ทำให้น้ำหนักตัวลดลงไป 10 กิโลกรัมและน้ำหนักตัวก็นิ่งอยู่ที่ประมาณ 67 กิโลกรัมมาโดยถาวรแล้ว
    ที่ดีเกินคาดคือสุขภาพของผม ผมไม่ป่วยเลยใน 8 ปีที่ผ่านมา การปวดข้อและปวดหลังก็หายไป (แต่ทั้งนี้ได้พยายามยืนทำงานมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการนั่งเฉยๆ เป็นเวลานานๆ อีกด้วย) ที่ไม่ได้นึกถึงแต่เกิดขึ้นกับร่างกายคือขนาดของเท้าใหญ่ขึ้นอย่างน้อย 2 ขนาด (การวิ่งทำให้เท่าใหญ่ขึ้น) 
    หมอฟันชมว่าฟันแข็งแรงและสึกน้อยลง (คงเป็นเพราะจำนวนมื้ออาหารที่กินลดลงไป 1/3 จากเดิมที่กินอาหารวันละ 3 มื้อ) และแน่นอนว่าเมื่อออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วย
    ระยะหลังนี้ผมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาออกกำลังกาย (วิ่ง) มากขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคือเพิ่มการวิ่งตอนเช้าประมาณ 5.30 น. สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพราะอากาศเย็นกว่าและเป็นการเผาผลาญไขมันจากร่างกายได้มากกว่า เนื่องจากตอนเช้าเซลล์จะไม่มีพลังงานสะสมเหลืออยู่ (เพราะอดอาหารมานานต่อเนื่องกว่า 12 ชั่วโมง) 

เท่าที่ผ่านมาผมวิ่งไปทั้งหมดประมาณปีละ 1 พันกิโลเมตร ติดต่อกันมา 8 ปีแล้ว สามารถยืนยันได้ว่าหัวเข่ายังแข็งแรงดีอยู่และดีกว่าตอนอายุ 55 ปีหรือ 10 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน ที่ผมมั่นใจว่าการวิ่งจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบนั้นก็เพราะผมได้ศึกษาวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้เร่งรีบหรือคิดจะวิ่งแข่งกับใคร วิ่งเพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงขึ้นและให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการหายใจเร็ว (Aerobics) ทำให้หัวใจ ปอดและเส้นเลือดแข็งแรง 

เมื่อปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพครบ 8 ปี | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
    ที่สำคัญคือผมมองว่าการวิ่ง (หรือการออกกำลังกายแบบ Aerobics) นั้นเป็น “ยาวิเศษ” เพราะมีงานวิจัยมากมายสรุปว่าการออกกำลังกายแบบ Aerobics เป็นประจำจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเส้นเลือดตีบตัน (และโรคหัวใจ) โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อมและโรคมะเร็งกว่า 10 ชนิด 
    ผมมั่นใจว่า วันนี้ไม่มียาประเภทใดที่วิเศษกว่าการวิ่งออกกำลังกายที่เราหาเวลาได้โดยการงดอาหารเย็น สำหรับรองเท้าวิ่งนั้นผมไม่ใช้รุ่นพื้นหนาที่ซับแรงกระแทก  แต่ใช้รองเท้าวิ่งที่น้ำหนักเบา พื้นบาง (เช่น Asics Tarther Japan) 
    ที่สำคัญคือการวิ่งให้ถูกท่าเพื่อให้เท้ากระแทกน้อยที่สุด ผมพบว่าหลังจากอ่านตำราแล้วก็จะต้องค่อยๆ ฝึกวิ่งไปจนชำนาญ อย่าเร่งรีบเพราะเราตั้งใจว่าจะวิ่งติดต่อกันไปอีกหลายสิบปี
    ผมมองว่าหากผมยังวิ่งได้สัปดาห์ละ 10-20 กิโลเมตร ก็ต้องแปลว่าร่างกายสมบูรณ์ในระดับที่ผมสามารถทำกิจกรรมได้ตามความต้องการปกติโดยไม่มีข้อจำกัดแม้ว่าเราจะแก่ตัวลง ข้อพิสูจน์คืองานวิจัยของ Prof James Fry เมื่อ 20 ปีที่แล้วสรุปว่ากลุ่มที่เป็นนักวิ่งนั้นเมื่อแก่ตัวร่างกายเริ่มด้อยสมรรถนะ (disability) ช้ากว่ากลุ่มที่ไม่วิ่งนานถึง 14 ปี ตรงนี้ผมถือว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่เงินไม่สามารถซื้อได้
    ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเพื่อต่อต้านความแก่ชราก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกำลังใจว่าหากเราดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เราจะยังมีความหวังได้ว่าในอนาคตอาจมี disruptive technology ที่จะฟื้นฟูร่างกายที่เสื่อมโทรมให้กลับมาแข็งแรงได้ 

เมื่อปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพครบ 8 ปี | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
    ที่ผมกล่าวถึงนี้ไม่ใช่การคาดหวังเกินความจริงเพราะความรู้ในระดับเซลล์ของมนุษย์กำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ใครจะเชื่อบ้างว่าวัคซีน mRNA ที่ใช้ปราบ COVID-19 นั้นคือเทคโนโลยีที่กระตุ้นให้เซลล์ของเราผลิตโปรตีนของไวรัสให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้จักและสามารถทำลายโคโรน่าไวรัสได้ 
    กล่าวคือ mRNA technology เป็นจุดเริ่มต้นของ personalized medicine หรือการสั่งการให้ร่างกายผลิตโปรตีนอะไรก็ได้เพื่อรักษาตัวเองและยังมีเทคโนโลยีอีกหลายประเภทที่น่าจะเป็น game changer ในการทำให้มนุษย์สามารถแก่ตัวลงได้อย่างมีคุณภาพและมีชีวิตที่ดีจนวันสุดท้ายครับ.