ทิศทาง "เศรษฐกิจ" ไทยและภูมิภาคโดยรอบ

ทิศทาง "เศรษฐกิจ"  ไทยและภูมิภาคโดยรอบ

หากกล่าวถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยและภูมิภาครอบข้าง ในปี 2565 และที่ผ่านมา คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่าทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยล้วนประสบพบเจอกับวิกฤติหลากหลายด้าน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents Club of Thailand-FCCT) ได้จัดการอภิปรายเชิงวิชาการเรื่องเศรษฐกิจไทย และภูมิภาคโดยรอบ ในหัวข้อ Thai Economy : Stirred but not shaken เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปและภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคอื่น ๆ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว

ผู้ร่วมอภิปรายในเสวนาครั้งนี้ได้แก่ Gwen Robinson บรรณาธิการใหญ่ของ Nikkei Asia และอดีตประธาน FCCT ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ TDRI Dr. Birgit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และบุรินทร์ อดุลวัฒนะ นักยุทธศาสตร์การลงทุนระดับโลกและกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย

Dr. Birgit Hansl เริ่มอภิปรายว่า ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว โดยเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคนั้นแตกต่างกันออกไป และตัวเลข GDP หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงต่ำกว่าเมื่อช่วงก่อนโควิด-19

สำหรับแน้วโน้มทิศทางเศรษฐกิจของปีนี้ คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาจได้รับผลกระทบจากประเด็นปัญหาระดับโลกทั้ง 3 ประเด็นผ่านการค้าและช่องทางการเงิน ประเด็นทั้ง 3 เหล่านี้ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลให้เกิดการขึ้นราคาของอาหารและน้ำมัน ความผันผวนทางการเงิน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง ประเด็นที่ 2 ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอันเป็นผลมากจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นสูง และสุดท้ายได้แก่ ผลกระทบจากนโยบายการเงินแบบตึงตัว (financial tightening) ของสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับยูเครนหรือรัสเซียโดยตรงผ่านการค้าหรือการเงิน ประเทศเหล่านี้ก็ยังได้รับผลกระทบจากสงครามผ่านราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มขึ้นสูงตามที่เราทุกคนประสบอยู่ ณ ขณะนี้ นอกจากนี้ อาจเกิดการชะลอตัวในการเจริญเติบโตโดยรวม (overall growth) ดังนั้นกลุ่มประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออก เช่น กัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามจะได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาลในหลายประเทศถูกจำกัดด้วยหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10% ของ GDP อันเนื่องมากจากสถานการณ์โควิด-19 และสำหรับประเทศไทย มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ขี้นเป็น 70% ตามนโยบายของรัฐบาล

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร อภิปรายต่อว่า มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโต 3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6% และคาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ Dr. Birgit Hansl กล่าวว่า ตัวเลข GDP ของปีนี้ยังคงต่ำกว่าตัวเลขเมื่อช่วงก่อนโควิด-19

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มที่จะคลี่คลายลง การลงทุนภาคเอกชนทั้งจากนักลงทุนในและต่างประเทศจึงเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ และในด้านการส่งออกซึ่งมีมูลค่า 55% ของเศรษฐกิจไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตขึ้นประมาณ 5%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปีนี้จะมีความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะเงินเฟ้อที่ก่อให้เกิดการขึ้นราคาของอาหารและน้ำมันอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ มีการคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อจะลดลงในปีหน้า แต่ระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มว่าจะคงสูงเช่นเดิม โดยที่ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในไทยจะยังไม่เพิ่มขึ้นในปีนี้

การอภิปรายจบลงด้วยวาระการถามและตอบ มีผู้สอบถามเกี่ยวกับเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ย (interest rate) ซึ่งคำตอบคือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะไม่สามารถลดภาวะเงินเฟ้อในไทยได้ ในทางกลับกันหากมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ธุรกิจขนาดเล็กและกลางในไทยจะได้รับผลกระทบจากหนี้