เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

คดีเด็กหญิงอายุ 14 ปี สมคบกับแฟนชายอายุ 16 ปีใช้มีดฆ่าแม่ตนเองและสารภาพอย่างไม่สะทกสะท้าน สะเทือนใจคนไทยมาก แต่ที่จริงแล้วคดีลักษณะนี้เกิดมาแล้วหลายคดี

คงจำคดีในปี 2557 ที่ลูกชายคนเล็กของพันเอกนอกราชการจ้างวานคนยิงพ่อแม่และพี่ชายนายร้อยตำรวจตายอย่างโหดเพื่อหวังมรดกที่ดิน  และเมื่อเดือนที่แล้วมีคดีหลานสาวอายุ 18 ปีที่ยายเลี้ยงมาแต่เกิดคบเพื่อนชายที่เพิ่งรู้จักกัน ร่วมกันฆ่ายายหมกถังเพื่อชิงเงินถูกหวยหนึ่งแสนบาท   

ส่วนคดีฆ่าปู่ย่าตายายเพราะทะเลาะเบาะแว้งเนื่องจากขอเงินซื้อยาเสพติดแล้วไม่ได้เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ   ทั้งหมดเป็นคดีที่รายงานเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ   น่าเชื่อว่าคดีฆ่าพ่อแม่และผู้มีพระคุณเกิดขึ้นอีกไม่น้อยเพียงแต่ไม่มีรายงานเท่านั้น   ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย”

ไม่น่าจะมีใครตอบได้อย่างถูกต้อง   หากไม่มีการศึกษาวิจัยโดยเก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้ก่อคดี   ผู้สมคบ  สมาชิกในครอบครัว   เพื่อนบ้าน  สมาชิกชุมชน   ฯลฯ   และวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญ และจะมีหนทางแก้ไขอย่างไรในทางปฏิบัติ   

อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา    ผู้เขียนขอเสนอความเป็นไปได้ของสาเหตุเพื่อเป็น “อาหารสมอง” ดังนี้

    (1) คดีดังไปทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปี 2003 ที่คานาดา  รู้จักกันในชื่อของคดี “Bathtub Girls”  กล่าวคือลูกสาว 2 คนอายุ 16 และ 15 ปี ที่ไร้พ่อและอยู่ด้วยกันกับแม่   สมคบกันฆ่าแม่ โดยมอมเหล้าและจับกดน้ำในอ่างจนเสียชีวิต     สารภาพว่าโกรธเกลียดแม่ที่ติดเหล้า   มีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่ไม่ใช่พ่อ   
 

ไม่ดูแลเขาทั้งสองอย่างดีพอ    เงินทองที่ได้มาก็หมดไปกับเหล้า   และทั้งสองอยากได้เงินประกันชีวิตแม่   คดีนี้มีการวิเคราะห์ว่าเด็กผู้พี่ซึ่งเป็นเด็กมีไอคิวสูงมากวางแผนอย่างรอบคอบและยาวนาน     โน้มน้าวให้น้องเห็นว่าแม่สมควรตาย   เพราะการได้รับการเลี้ยงดูที่ดีเป็นสิทธิของเขาเมื่อได้รับไม่ดีเขาก็มีสิทธิที่จะโต้ตอบ

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเด็กรุ่นใหม่ของสังคมเราบางคนมองแบบเดียวกันว่า การเลี้ยงดูให้ดีเป็นหน้าที่  มิใช่เรื่องของการกระทำด้วยความเมตตากรุณาและความรักที่สมควรชื่นชมและตอบแทนพระคุณ   

 การได้รับเป็นสิทธิของเขา และคนอื่นมีหน้าที่ต้องให้   ความสัมพันธ์จึงเป็นในรูปของ “ผู้ให้บริการ” กับ “ผู้รับบริการ”    เมื่อไม่จำเป็นต้องมีเยื่อใยของความสัมพันธ์ต่อกัน    การฆ่าพ่อแม่และผู้มีพระคุณจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

    (2)  โลกปัจจุบันน่ากลัวมากสำหรับเด็กที่ขาดทักษะชีวิตและขาดหลักธรรมของชีวิต   ปู่ย่าตายายซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูแทนพ่อแม่ที่ทิ้งไปหรือไปมีครอบครัวใหม่  หรือไปทำงานในเมือง  ไม่เข้าใจการมีทักษะชีวิตชุดใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากตอนที่ท่านเติบโตอย่างสิ้นเชิง     

เด็กซึ่งสมองยังไม่เติบโตเต็มที่โดยเฉพาะส่วนของสมองที่เกี่ยวกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (25 ปีคือวัยที่สมองทั้งหมดเติบโตสมบูรณ์)   มีการสื่อสารกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ไม่ดี   เมื่อคบเพื่อนไม่ดี   มีสิ่งแวดล้อมที่บ้านและชุมชนไม่เอื้อ    รู้ไม่ทันโลกจึงหลุดลอยโดยถูกชักจูงให้ทำสิ่งชั่วร้ายได้ไม่ยากนัก

    โรงเรียนในหลายกรณีไม่อาจเป็นที่พึ่งของเด็กได้  การไม่มีเวลาและขาดการทุ่มเทให้เด็กอย่างเต็มที่ของครู   การสื่อสารไม่ดีระหว่างครูและเด็ก   การมองของเด็กว่าครูเป็น “ผู้ให้บริการ”   ตัวอย่างที่ไม่ดีในด้านศีลธรรมของครูบางคน  ฯลฯ  ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

    ทักษะชีวิตที่สำคัญได้แก่การคิดเป็น การรู้จักเลือกคบเพื่อน     การมี EQ (วุฒิภาวะทางอารมณ์) ซึ่งได้แก่   (1) การรู้จักตนเอง   (2) การมีความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนเอง  (3) การมีวินัย  (4) ความสามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น  (5) ความสามารถในการจัดการอารมณ์ของผู้อื่น

    คำสารภาพของเด็กหญิงในการฆ่าแม่และยายว่า “ทนไม่ได้  สะสมอารมณ์ที่เก็บกดมานานจึงระเบิดออกมา  ถูกด่าว่า   ถูกกีดกันไม่ให้ทำโน่นทำนี่“ สะท้อนให้เห็นความคิดของเขาว่าไม่พอใจ               “การให้บริการ” โดยความรู้สึกในส่วนที่ตระหนักถึงบุญคุณนั้นไม่สามารถไปหักกลบลบความรู้สึก “เก็บกด” เหล่านั้นได้    

แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่รู้สึกเก็บกดเหมือนกันเพียงแต่การระลึกถึงพระคุณนั้นมีมากกว่า เพราะไม่ได้คิดว่าเป็น “ผู้ให้บริการ”   จึงไม่มีการ “ระเบิด” ที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการประกอบอาชญากรรม

    (3) โซเซียลมีเดียมีบทบาทสำคัญอย่างมาก  โดยเฉพาะเด็กผู้รู้ไม่เท่าทันสื่อสมัยใหม่             ไม่ตระหนักว่ามีความหลอกลวงสอดแทรกอยู่ในทุกอณู  การคุ้นเคยความรุนแรงในครอบครัวและจากการเล่นเกมส์ตลอดจนอิทธิพลจากสื่อในการรับรู้ความรุนแรงในสังคมทำให้เกิดเลียนแบบ   

ใครมีความสามารถในการปรับตัวไม่ได้ดีไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นได้  ลองนึกดูสิครับว่ามีกรณีของการฆ่าตัวตายด้วยการรมควันโดยใช้เตาอั้งโล่ตั้งไว้ในรถที่ปิดกระจก    ฆ่ายัดกระเป๋า   ฆ่าหมกถัง    ฆ่าหั่นศพเป็นชิ้น ๆ ลง              โถชักโครก  เลียนแบบกันกี่ราย

    (4)  เหล้า-การพนัน-ยาเสพติด ร่วมกันสร้างวงจรสนับสนุนความเลวร้ายในสังคมของเรา  สำหรับหลายคนการเริ่มต้นการพนันเล็กน้อยเพื่อการสนุกสนาน    นำไปสู่การพนันออนไลน์  การพนันในบ่อน  การพนันฟุตบอล การกล้าเสี่ยงในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง (หลอกลวงทั้งเพ) ฯลฯ   

การขาดเงินสดจนต้องหยิบยืมจากการเงินนอกระบบ  เมื่อไม่มีจ่ายก็ถูกทำร้าย    หรือทุกข์ใจจนฆ่าตัวตาย    วัยรุ่นจำนวนมากกินเหล้า ติดยา ซึ่งเหล้านั้นอยู่ในวัฒนธรรมของเรามายาวนาน     เมื่อมีการโฆษณาสื่อสารสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพก็ทำให้มันแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น   

สำหรับคนนิยมเหล้าขนาดหนัก สิ่งที่มักควบคู่ไปด้วยก็คือการสูบบุหรี่ ซึ่งสำหรับบางคนแล้วเป็นขั้นต้นของการเสพยาเสพติดชนิดอ่อนและแรงขึ้นในเวลาต่อไป  ส่วนเด็กติดยาเพราะความอยากลอง  บวกเพื่อนชักนำและการได้ผลประโยชน์ของผู้ใหญ่

    สำหรับเด็กวัยรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นว่านี้โดยเห็นผู้ใหญ่กระทำกันในชีวิตจริงและในโซเซียลมีเดียอยู่ทุกวัน   การเลียนแบบจึงเป็นไปโดยธรรมชาติท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่เห็นเงินเป็น  พระเจ้า  สำหรับเด็กที่ขาดความรัก    ความอ่อนโยน  และความห่วงอาทรจากครอบครัว 

อีกทั้งขาดการสอนเรื่องการมีเป้าหมายในชีวิต    การมีความบากบั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  แถมห่างจากหลักศีลหลักธรรมประจำใจโดยอยู่ไกลวัดไกลศาสนา  การกระทำผิดกฎหมายผิดศีลธรรมที่นำไปสู่ความตกต่ำของชีวิตตั้งแต่ยังอยู่ในวัยรุ่น จึงเกิดขึ้นมากมายในสังคมของเรา

    (5) ความรุนแรงในครอบครัวและคดีทำร้ายร่างกาย ล้วนมีรากมาจากการไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้   ความใจร้อนอดทนรออะไรไม่ได้ดังที่เรียกว่า “ความสุขสมอย่างทันด่วน”  (instant gratification) เกิดกับทุกคนที่คุ้นเคยกับโซเซียลมีเดียซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกใจและทันใจ   ไม่มีการรอคอยที่น่าเบื่อหน่าย   

ความรู้สึกที่ถูกถอดมานี้ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันจนมีความรู้สึกอดกลั้น  อดทนต่ำ และเมื่อไปผสมกับเหล้าและยาเข้าด้วยแล้วจึงไปกันใหญ่  คดีอาญาเกือบทั้งหมดล้วนมาจากอารมณ์ที่มีฟิวส์สั้นเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะในยามนี้ที่มีทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และความหวาดหวั่นเป็นแบ็คกราวน

              การมีค่านิยมในเรื่องคุณธรรมอย่างเหนียวแน่นแต่ยังเด็ก เป็นเกราะกำบังที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยเติบโตขึ้นที่ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายมากมาย  สิ่งแวดล้อมของครอบครัว โรงเรียน และสังคมรอบข้างมีอิทธิพลอย่างมากต่อการก่อตัวของจริยธรรมในใจ  อย่างไรก็ดีพ่อแม่มีความรับผิดชอบอย่างสำคัญโดยไม่อาจผลักภาระให้ผู้อื่นได้.