"ฆาตกรเด็ก" จุดจบ หรือแค่จุดเริ่มต้นของ "ปัญหาครอบครัว" ปมใหญ่ของสังคมไทย

"ฆาตกรเด็ก" จุดจบ หรือแค่จุดเริ่มต้นของ "ปัญหาครอบครัว" ปมใหญ่ของสังคมไทย

จากคำสารภาพของลูกสาววัย 14 ที่วางแผนให้แฟนหนุ่มวัย 16 ใช้อาวุธมีดแทงแม่จนเสียชีวิต คือปมปัญหาหนึ่งซึ่งนับเป็น "ความรุนแรงในครอบครัว"​ ที่พ่อแม่คือกุญแจสำคัญที่ป้องกันการเกิด "ฆาตกรเด็ก" รวมถึง "อาชญากรเด็ก" ในอนาคต

จากกรณีลูกสาววัย 14 วางแผนให้แฟนหนุ่มวัย 16 ใช้อาวุธมีดแทงแม่จนเสียชีวิต ส่วนพี่ชายบาดเจ็บ อ้างถูกกีดกันความรัก โดยจากคำสารภาพได้คำตอบว่า ตนเป็นคนวางแผนให้แฟนมาฆ่าแม่ของตนเอง ส่วนสาเหตุที่ทำไปเธอบอกว่ามาจากความโกรธแค้น มารดาที่ดุด่าเธอตั้งแต่เล็กจนโต บางครั้งเธอต้องการกำลังใจ แต่กลับได้คำซ้ำเติม จนกลายเป็นคนเก็บกดและเกิดความแค้นสะสมจึงตัดสินใจลงมือในครั้งนี้

ปัญหา "อาชญากรเด็ก" และ “ฆาตกรเด็ก” หากมองลึกถึงปมปัญหาจากการกระทำลงไปมักจะมีมูลเหตุไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่งมาจาก “ครอบครัว

  • ความรุนแรงในครอบครัว จุดเริ่มต้นของฆาตกรเด็ก

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมากระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าเหตุฆาตกรรมในครอบครัว ในลักษณะลูกฆ่าพ่อ ลูกฆ่าแม่ หรือในลักษณะของฆาตกรรมในคนที่มีสายเลือดเดียวกันนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ คือเรื่องของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ต้น

นิยามของ ความรุนแรงในครอบครัว คือการทำร้ายร่างกายหรือสุขภาพของคนในครอบครัว หรือบังคับ ข่มเหงให้กระทำความผิด ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพแวดล้อมไม่ดี ติดการพนัน ทะเลาะวิวาท ติดสุรา ยาเสพติด และมีความเครียดทางเศรษฐกิจ บุคคลที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหรือบุตรบุญธรรม ปู่ย่า ตายาย ญาติ และคนในครอบครัวเช่น หลาน ลูกสะใภ้ ลูกเขย

ปัญหาการ ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก  จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุของการถูกใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ  และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 – 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัวในรอบเดือน

โดยเด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในแต่ละวัน หรือประมาณ 2 คนในหนึ่งชั่วโมง

สถิติ 16 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2563) มีการใช้ความรุนแรงกับเด็กและมาเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้รพ.ตร. จำนวนกว่า 1,307 ราย อีกทั้งพบว่าความรุนแรงต่อเด็กยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมจำนวนเด็กที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือ

  •  "วัยรุ่น" ยิ่งเลือดร้อน ยิ่งต้องรับฟัง

มีผลการศึกษาถึงจิตวิทยาของการฆ่าพ่อแม่ในอเมริกาตั้งแต่ปี 1977-1986 พบว่าการฆาตกรรมในสายเลือด อย่างลูกฆ่าพ่อหรือฆ่าแม่นั้นผู้กระทำจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการ และความเป็นตัวเองสูง กรมสุขภาพจิตแนะนำว่าในช่วงนี้ สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก และหมั่นสอบถามถึงสภาพจิตใจ

ใส่ใจรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังสื่อสารโดยไม่ด่วนตัดสิน อาจเริ่มต้นจากคำถามง่าย เช่น “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้มีความสุขกับอะไรบ้าง” “วันนี้เพื่อนและครูเป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้ไม่ชอบอะไรที่สุด”

และเมื่อสงสัยว่าลูกถูกกระทำความรุนแรง สามารถใช้การสนทนาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น  “ถ้ามีใครทำให้ลูกเจ็บหรือเสียใจ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะ เราจะได้ช่วยกัน” ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเล่าหรือตอบได้ อาจใช้ศิลปะหรือการเล่นผ่านบทบาทสมมติเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสื่อสารได้  

 

สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ให้ลูกสามารถสื่อสาร หรือเล่าเรื่องราวต่างๆได้โดยไม่ถูกบ่นหรือตำหนิ หลีกเลี่ยงการใช้การลงโทษที่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพและทางอารมณ์ เน้นการใช้แรงเสริมทางบวกเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ดีแทน 

 

ทั้งนี้หากเด็กและเยาวชนในการดูแลมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์พัฒนาการ ได้ที่สถานพยาบาลต่างๆ

นอกจากนั้น ผู้ปกครองควรดูแลสุขภาพจิตตนเองอย่างใกล้ชิด จัดการอารมณ์ตนเองอย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์และไม่ใช้ความรุนแรง ลดการตำหนิหรือโทษตนเองหากเด็กต้องพบเจอกับความรุนแรง มุ่งเน้นการมองไปข้างหน้าเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่างๆให้ดีขึ้น โดยหากรู้สึกเครียดหรือไม่สามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้ สามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง