พัฒนาดิจิดัล เอาชนะความเหลื่อมล้ำ

พัฒนาดิจิดัล เอาชนะความเหลื่อมล้ำ

สวัสดีครับ ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ได้ประทุขึ้นในช่วงต้นปี จากความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและสังคมต่อรัสเซียจากนานาประเทศ

      ประกอบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงดำเนินอยู่ ได้เป็นแรงกดดันที่ทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ ในโลกของเราหยุดชะงักลง แม้ก่อนหน้านี้จะมีนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญได้ออกโรงคาดการณ์ว่า ปี 2565 นี้ จะเป็นปีแห่งการพลิกฟื้น

       ทว่าเพลิงแห่งความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบและโรคระบาดที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลถึงการพัฒนาด้านเศษฐกิจและสังคม โดยหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ คือประเด็นด้านความไม่เท่าเทียม

     ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปฏิวัติทางดิจิทัลกำลังพลิกโฉมเศรษฐกิจ โดยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีมหาศาล อย่างไรก็ดี โอกาสก็ย่อมมาพร้อมกับความท้าทายเช่นกัน จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการตลาดและโลกของธุรกิจ กลับทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และระดับความมั่งคั่งได้ขยายช่องว่างที่มีอยู่แล้วให้กว้างกว่าเดิม

      แม้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว แต่การกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับประเทศมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในยุคแห่งสังคม 5G และวิถีชีวิตแบบ Next Normal  ในบริบทของประเทศไทยในปี 2564 International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจชั้นนำของโลก ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38

       ในการจัดอันดับด้านความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งนับเป็นอันดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดอันดับด้านนี้ตั้งแต่ปี 2560 โดยการจัดอันดับดังกล่าวได้นำประเด็นด้านความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ และความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

 แม้ว่าจะได้อันดับเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนและแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นเพื่อลดปัญหาด้านสังคม ตลอดจนภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เราจะเห็นการใช้ข้อมูลลวง (Fake News) เพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลด้านโซเชียลมีเดียที่ไม่เพียงพัฒนารุดหน้าตอบสนองวิถีชีวิตและความต้องการของผู้คนทั่วโลกในด้านข่าวสาร

แต่ยังพัฒนาด้านที่เกี่ยวกับข้อมูลลวงให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีกด้วย อาทิ เทคโนโลยี Deepfake ที่สร้างคลิปวิดีโอปลอมจาก AI  เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่เรายังเห็นภัยคุกคามด้านข่าวลวงที่สร้างความสับสนให้สังคมอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) หรือความแตกต่างและช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถเข้าถึงกับผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี เราทราบดีว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวมถึงยังมีกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นจึงยังมีโจทย์สำคัญให้ทุกฝ่ายกลับไปขบคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ประชากรทั้งสองกลุ่มนี้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงรวมทั้งใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล

      ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กำหนด "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" โดยมีเป้าหมายในภาพรวม ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการผ่านสื่อดิจิทัล เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล และสุดท้ายคือปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงานของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล จึงเป็นที่น่าจับตาว่าการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯฉบับนี้จะสามารถตอบโจทย์ข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด

      อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงความท้าทายและโอกาสที่รออยู่เบื้องหน้า เป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเร่งหาวิธีการและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ อันจะนำพาให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “ดิจิทัลไทยแลนด์” พร้อมช่วยเราบรรเทาปัญหาทั้งกับดักรายได้ปานกลางและความไม่เท่าเทียมในหลากมิติที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายสิบปีได้ครับ