"ขอนแก่น" โมเดลแก้จน | ประกาย ธีระวัฒนากุล

"ขอนแก่น" โมเดลแก้จน | ประกาย ธีระวัฒนากุล

ใครกันอยากเกิดมาจน..ไม่มีหรอก ใครกันรู้ว่าจะรวยขึ้นจะหายจนได้อย่างไร แล้วยังจะเลือกที่จะจนอยู่อีก..ไม่มีหรอก แล้วคำพูดที่ว่าคนจนนั้น ขี้เกียจ ก็เหมารวมเกินไป บางคนนั้นขยัน ดิ้นรนจนสุดกำลัง หากแต่เพราะชีวิตไม่ได้มี ต้นทุนชีวิต สูง ไม่ได้มีโอกาสมากพอต่างหาก

ความจนนั้นเป็นทุกข์แสนสาหัส  ความจนนั้นน่ากลัวมาก ใครกันเล่าอยากเลือกที่จะจน เด็กน้อยที่ลืมตาดูโลกเกิดมาเหมือนๆกันในเวลาเดียวกันแต่คนละหนคนละแห่งนั้น   ยิ่งโตขึ้นกลับทำให้เส้นทางชีวิตคนแตกต่างกันไปด้วยโอกาสที่ต่างกัน 

ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการศึกษา โอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โอกาสในการทำงาน โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน   ยิ่งโตขึ้น ยิ่งผ่านวันเวลา ไม่ใช่แค่แตกต่างกันเท่านั้น ใช้คำว่า ยิ่งถ่างไกลห่างออกจากกัน 

สาเหตุที่ทำให้หลายคนยังติดกับดักวังวนแห่งความจนส่วนหนึ่งก็เพราะ "หนี้"  ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ  เมื่อมาดูเรื่องหนี้แล้ว ก็อาจพูดได้ว่า มีทั้งคนที่เป็นหนี้แบบรู้ตัว และเป็นหนี้ไม่รู้ตัว บางคนมีเหตุจำเป็น บางคนต้องกู้ยืมมาทำการเกษตรมาลงทุน บางคนไม่เข้าใจเรื่องดอกเบี้ย รู้ตัวอีกทีก็เป็นหนี้ก้อนโตจนไม่แน่ใจว่าทำงานทั้งชีวิตจะใช้หมดได้อย่างไร    

ซ้ำร้ายบางครั้ง ยังส่งต่อความจนไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีก การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้คนตัวเล็กก็ไปต่อไม่ได้ นี่เองที่ทำให้การสร้างโอกาส การมีความรู้  การเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับการแก้จน

ตัวอย่างหนึ่งในการแก้จนแบบน่าสนใจได้แก่ โครงการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น” ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เน้นให้มีการขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเข้มข้น   โดยคําว่า “เสี่ยว” คือคําว่า เพื่อนรักในการดูแลซึ่งกันและกัน

ดังนั้น การแก้จนของคนขอนแก่นจึงมีพื้นฐานจากวัฒนธรรมประเพณีผูกเสี่ยว โดยให้ข้าราการลงไปดูแลครัวเรือนยากจน เป็นเหมือนเพื่อน เป็นเจ้าบ้าน เช่นเดียวกับครัวเรือนยากจน  โดยจับคู่ “1 ข้าราชการ 2 ครัวเรือน”

แนวทางการแก้จน ประกอบด้วย 
•สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น จากการขายผลผลิต และ การจ้างงาน
•ลดรายจ่าย โดยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงมาใช้ในชีวิต 
•จัดให้มีสวัสดิการ ช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุและ ผู้ด้อยโอกาส

กลไกการทํางานก็น่าสนใจ เพราะมีตั้งแต่คณะทํางานระดับจังหวัด มีชุดปฏิบัติการและกําหนดแนวทางการขับเคล่ือนงานระดับอําเภอ เครือข่ายกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน มี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรให้การสนับสนุน ระดับหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) นําทีม อาสาสมัคร 

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมประสานภาคีภาครัฐ เอกชน  เชื่อมประสานความร่วมมือ กับ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจํา จังหวัดขอนแก่น ภายใต้ “จีน-ไทย คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น”  
 
โครงการ คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น  ได้ดำเนินการโดยมีการแก้จนด้วย 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่  
1.ชี้เป้าชีวิต การชี้เป้าให้ถูกนั้นสำคัญ  ข้อมูลชัด ชีเป้าถูก โครงการนี้จึงได้ศึกษาข้อมูลครัวเรือนเป็นรายครัวเรือนยากจน  ประชาคมหมู่บ้าน ตรวจสอบทบทวนครัวเรือนยากจน  

\"ขอนแก่น\" โมเดลแก้จน | ประกาย ธีระวัฒนากุล

2.เข็มทิศชีวิต “จับคู่ผูกเสี่ยว” จับเข่าวางแผนแก้จนครัวเรือน โดยให้ทุกส่วนราชการ กำหนดให้ข้าราชการแต่คนรับผิดชอบครัวเรือนยากจน 2 คน ให้ข้าราชการคู่เสี่ยว ค้นหาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การจ้างงาน โดยการเพิ่มตำแหน่งงานให้แก่สมาชิกในครัวเรือนยากจน 

พร้อมท้ังบันทึกในแบบ Family Folder รวมไปถึง จัดทำ MOU กับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการจ้างงาน และการรับซื้อหรือสนับสนุนการตลาด ตลอดจนประสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ราชมงคล เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา ตำบลละ 1 คน เพื่อมา ช่วยการให้หลักคิดการพัฒนาครัวเรือนยากจนแก่คู่เสี่ยว

3.บริหารจัดการชีวิต “คู่เสี่ยว ลงมือแก้จน” พิจาราณาผลผลิตของครัวเรือนยากจน โดยยึดหลัก การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการตลาด  ข้าราชการคู่เสี่ยว ต้องแก้ไขปัญหาตรงถึงมูลเหตุปัญหา ตรงความต้องการของครัวเรือน และการปรับ Mind Set สอนให้รู้จัก พึ่งพาตนเอง ทั้งนี้ ข้าราชการคู่เสี่ยว จะช่วยหางาน  ฝึกอบรมอาชีพให้ เช่น 10 อาชีพแก้จนร้อยคนขอนแก่น  

นอกจากนี้ ข้าราชการคู่เสี่ยวช่วยหาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้ โดยประสานกับสถาบันการเงินและกองทุนในชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้ให้ครัวเรือนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้าน ถนน ประปา ไฟฟ้า โรงเรียน โรงพยาบาล การซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย การศึกษา เป็นต้น

การแก้จนเป็นปัญหาใหญ่ เรื้อรัง และไม่ง่าย ที่สำคัญบริบท สภาพปัญหาแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ แต่ละครอบครัวนั้นต่างกัน  โมเดลการแก้จนแบบสูตรสำเร็จจึงไม่มี  หากแต่ต้องทุ่มเท ในการค้นหาให้พบรากของปัญหาที่แท้จริง  และใช้พลังกายพลังใจในการแก้ปัญหานั้นให้ตรงจุด  ทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หลุดพ้นจากความจนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน 

โมเดลแก้จนที่ทำได้จริง เริ่มมีแล้ว  ก้าวต่อไปคือต้องร่วมกันค้นหาโมเดลแก้จนหลายๆ โมเดล และขยายผลความสำเร็จออกไป  

แก้จน สร้างโอกาส คือเส้นทางที่ต้องร่วมกันเดินต่อ และถ้าจะมีการส่งต่อ จากรุ่นสู่รู่น ก็ขอให้เป็นการส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นถัดไป ...อย่าได้ส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่นอีกเลย.

คอลัมน์ : คิดอนาคต
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation