เด็กเกิดน้อยลงกับอนาคตของครอบครัวไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

เด็กเกิดน้อยลงกับอนาคตของครอบครัวไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ข่าวที่เป็นที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ อัตราเกิดของประชากรทั่วโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ ในเอเชียแปซิฟิค จำนวนเด็กเกิดต่อประชากร 1,000 คนลดลงร้อยละ 5 ในปี 2563 ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาโควิด 19

ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่อัตราเกิดลดลงมานานแล้วแต่ปี 2564 เป็นปีแรกที่มีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดเป็นครั้งแรกและมีการตายมากกว่าการเกิดถึง 19,000 คนเศษในขณะที่ปีก่อนหน้านั้นยังมีคนเกิดมากกว่าคนตายถึงประมาณ 86,000 คน การตายที่สูงกว่าการเกิดนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจาก โควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้สูงอายุให้เสียชีวิตเร็วขึ้น 

แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดเพราะจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจาก โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีประมาณ 20,000 คนเศษ ในปี 2564 เรามีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี ในขณะที่ในปี 2555 เคยมีเด็กเกิดปีละ 818,975 คนและมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ 
 

เหตุผลที่การเกิดลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ครอบครัวมีบุตรน้อยลง ในทางวิชาการก็คือการที่ภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน ทำให้ประชากรไทยจะมีแนวโน้มลดลงจากในปี 2561 ในปัจจุบันครอบครัวไทยที่เป็นครอบครัวที่ไร้บุตรหลานมีมากถึง 21 ล้านครัวเรือน (เกื้อ วงศ์บุญสินและคณะ 2565) 

นักวิชาการมักจะอ้างสาเหตุของภาวะเจริญพันธุ์ต่ำ มาจากการที่สตรีมีการศึกษามากขึ้น แต่งงานช้าลงหรือไม่แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วก็เลือกที่จะไม่มีบุตร แต่ต้นทุนการเลี้ยงและการให้การศึกษาลูกไม่ใช่เหตุผลใหญ่เพียงเหตุผลเดียว

ในโลกปัจจุบันที่ทางเลือกสำหรับผู้หญิงมีมากขึ้น ทั้งในด้านการทำงาน การท่องเที่ยว มีการใช้ชีวิตแบบวิถีหลังอุตสาหกรรม (Postindustrial) ที่ยืดหยุ่น ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการมีบุตรของผู้หญิงสูงกว่าในอดีตมาก และเพราะสังคมไทยยังคิดว่าการเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้นทุนเสียโอกาสของการมีลูกของผู้หญิงจึงสูงกว่าผู้ชาย

นโยบายในต่างประเทศพบว่า การใช้แรงจูงใจที่ให้ผู้หญิงมีการศึกษามีบุตรมากขึ้นไม่ใคร่จะได้ผล ทั้งนี้เพราะนโยบายละเลยตัวละครสำคัญในครอบครัวคือ ผู้ชาย ทำให้การแก้ไขปัญหาให้ครัวเรือนให้มีบุตรมากขึ้น เป็นไปได้ยาก

สังคมที่การเกิดลดลงทำให้แรงงานหนุ่มสาวมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาก็คือผลิตภาพการผลิตลดลงเพราะแรงงานสูงอายุ และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีก็จะมีแนวโน้มลดลงไปด้วย

เด็กเกิดน้อยลงกับอนาคตของครอบครัวไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

บริษัทวิจัยต่างชาติ PwC เคยคำนวณไว้ว่าด้วยโครงสร้างประชากรไทยที่เสียเปรียบนี้จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงในที่สุดแล้ว แม้แต่ประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากกว่าเรามากก็จะมีจีดีพีสูงกว่าไทยภายในปี พ.ศ. 2593   

ในระดับครัวเรือน ครอบครัวสูงวัยที่มีบุตรหลานลดลงหรือไร้บุตรหลาน อาจเกิดปัญหาการเงิน มีเงินออมไม่พอสำหรับการครองชีพหลังยุติการทำงานแล้ว ขาดผู้ดูแลในยามแก่เฒ่า ในบางประเทศก็พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงวัย 

การศึกษาของแผนงานคนไทย 4.0 โดย ผศ.ดร.สุพรรณิกา ลือชารัศมี และ ผศ. ดร.อนัสปรีย์ ไชยวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า  หญิงไทยในปัจจุบันมีทางเลือก 3 ทางเลือกในการที่จะดำรงชีวิตในยามแก่เฒ่า

ทางเลือกที่ 1 คือแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย สร้างครอบครัวและลงทุนในการมีบุตร ซึ่งทำให้มีทรัพย์สินในช่วงวัยหนุ่มสาวน้อยแต่ในที่สุดแล้วในบั้นปลายแห่งชีวิตก็จะมีบุตรหลานมาดูแล 

ทางเลือกที่ 2 ก็คือผู้หญิงเลือกที่จะรับการศึกษาสูงไม่แต่งงานอยู่เป็นโสดหรือแต่งงาน แต่ไม่มีบุตร สะสมทรัพย์สินไว้เพื่อใช้ในยามชรา 

ทางเลือกที่ 3 คือ ด้วยแบบผสม 

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2554 - 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า สตรีที่เลือกทำงานและอยู่เป็นโสดจะมีทรัพย์สินในช่วงเวลาทำงานมากกว่าสตรีที่แต่งงานและลงทุนในการมีบุตร

แต่ในเมื่ออายุมากขึ้น (61–70 ปี) ก็พบว่า สตรีที่มีบุตรเมื่อถึงเวลาในตอนท้ายของชีวิตมีทรัพย์สินในครัวเรือนไม่ลด เพราะมีบุตรหลานมาช่วยประคับประคอง แต่ถ้าสถานการณ์ในอนาคตเมื่อจำนวนบุตรหลานลดลงอาจไม่สามารถที่จะดูแลบุพการีได้ ทางเลือกที่ 2 สำหรับผู้หญิงไทยนี้ก็จะค่อยๆ แคบลง

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของแผนงานคนไทย 4.0 อีกเรื่องหนึ่งเรื่องการเตรียมตัวตายของคนไทยของ รศ. ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยไม่ค่อยมีการเตรียมตัวก่อนตายในด้านการวางแผนทรัพย์สินไว้ล่วงหน้าเท่าใดนัก และยังคาดคะเนอายุที่ตัวเองจะเสียชีวิตต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยไป 7-8 ปี 

ซึ่งก็หมายความว่า คนไทยมีการเตรียมตัวไม่เพียงพอสำหรับดูแลตนเองเวลาสูงวัย เมื่อแนวโน้มการมีบุตรหลานลดลงในอนาคต โอกาสที่ครัวเรือนไทยส่วนหนึ่งที่บุตรหลานไม่มีกำลังเลี้ยงดูหรือไร้บุตรหลานจะตกอยู่ในความยากจนเมื่ออายุมากก็จะมากขึ้น เพราะเงินออมที่สะสมไว้ ไม่เพียงพอสำหรับอายุที่ยืนยาวไปกว่าที่คิด 

ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งของ รศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลลังก์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาความตายประเภทต่างๆ และการจัดการก่อนและหลังความตาย มีข้อค้นพบว่า การตายในอนาคตจะกลายเป็นภาระต่อสาธารณะมากขึ้น เนื่องจากการตายของคนไทยแบบโดดเดี่ยวไร้ญาติจะมากขึ้น

เด็กเกิดน้อยลงกับอนาคตของครอบครัวไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ดังนั้น สังคมไทยจึงควรตระหนักถึงปัญหากำลังจะที่เกิดขึ้น ในระดับชุมชนควรมีการสร้างเครือข่ายดูแลซึ่งกันและกันในสังคมเช่น การใช้ระบบธนาคารเวลา เมื่อยามยังมีกำลังวังชาก็ไปดูแลผู้สูงอายุในเครือข่ายเดียวกันแล้วฝากเวลานี้ไว้ในธนาคารเวลา

มื่อถึงเวลาที่ตนเองต้องการผู้ดูแลในยามแก่เฒ่าหรือในยามเจ็บป่วยก็สามารถเบิกเวลานี้จากธนาคารให้บุคคลในเครือข่ายมาคืนเวลาที่เคยฝากเวลาไว้ ซึ่งอาจจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ที่เกษียณวัยต้นที่ยังมาสุขภาพดีอยู่จะลงทุนเพื่อยามที่ต้องการความช่วยเหลือในอนาคต

ในระดับนโยบาย ควรมีการส่งเสริมให้มีการออมและการสร้างผลิตภัณฑ์การเงินในรูปแบบต่างๆสำหรับใช้ในวัยเกษียณ นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องพิจารณานโยบายแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง รวมถึงนโยบายที่จะรองรับลูกหลานคนงานต่างชาติที่เกิด โต และเรียนหนังสือในประเทศไทย ซึ่งแรงงานส่วนนี้ยังได้ค่าจ้างต่ำ กลายเป็นกลุ่มคนที่เข้าไปเติมชนชั้นยากจนในประเทศไทยให้อยู่ต่ออย่างถาวร.