คนไทยมีลูกน้อยลง โอกาสดีที่ต้องมองให้ขาด | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

คนไทยมีลูกน้อยลง โอกาสดีที่ต้องมองให้ขาด | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ถ้าเป็น 20-30 ปีก่อน การที่คนไทยมีลูกน้อยลงเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน เพราะช่วงเวลานั้นเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า ประเทศไหนต้นทุนค่าแรงต่ำ คนมีคุณภาพสมน้ำสมเนื้อกับค่าแรง ก็มีโอกาสดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติมาผลิตสินค้าออกไปสู่สนามการค้านานาชาติ

แต่การกอดกรอบคิดนั้นมามองเศรษฐกิจในยุคที่คำว่า “ดิสรัปชัน” และ “นิวนอร์มอล” ถูกใช้กันจนเฟ้อทั่วบ้านทั่วเมืองแบบนี้มันออกจะย้อนแย้งกันชอบกล การมีลูกน้อยลงเป็นเรื่องปกติเมื่อประเทศมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น 

หากดูแผนที่ที่แสดงอัตราการเจริญพันธุ์ โดยวัดจากการเอาจำนวนเด็กเกิดมีชีพหารด้วยจำนวนสตรีวัยเจริญพันธุ์ (สตรีอายุ 15-45 หรือ 49 ปี) ในรูปนี้ประเทศที่มีสีเข้มกว่า หมายถึงประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์สูงกว่า 

จะเห็นว่าสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวระดับปานกลางถึงสูง อัตราการเจริญพันธุ์จะต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หากนี่คือแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งโลก เราจะมาฝืนทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้วยการย้อนกลับไปส่งเสริมให้คนมีลูกอาจไม่ใช่การคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ลองคิดดูว่า ถ้าประเทศไทยต้องการประชากรทดแทน 10 ล้านคน แล้วสามารถเสกให้มีเด็กเกิดได้ 10 ล้านคนในปีนี้ กว่าเด็กจะโตถึงวัยทำงานได้ก็ต้องรออีก 15 ปี เรียนจบ ม.3 ก่อนถึงจะทำงานได้ ถึงตอนนั้นเศรษฐกิจของเราย่อมมีความซับซ้อนจนกระทั่งความรู้ระดับ ม.3 คงไม่พอให้เด็กเหล่านี้มีงานทำ มีชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ อาจจะต้องเรียนเพิ่มอีก 5-6 ปีถึงจะพอ 

นั่นหมายความว่า ถึงจะเสกให้เด็กเกิดได้ตามเป้าในวันนี้ ก็ต้องรออีกไม่น้อยกว่า 20 ปีกว่าเด็กเหล่านี้จะมาช่วยชาติได้ ในโลกของ “ดิสรัปชัน” และ “นิวนอร์มอล” เรามีเวลามากขนาดนั้นเลยหรือ?

สาเหตุที่ตอนนี้เราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาช่วยเราทำมาหากิน ก็เพราะเรายังกอดวิธีการผลิต วิธีการทำธุรกิจ แบบเดิมที่เน้นการผลิตเยอะ ต้นทุนค่าแรงต่ำ ที่เคยเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลดีเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว 

คนไทยมีลูกน้อยลง โอกาสดีที่ต้องมองให้ขาด | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

เมื่อสองมือโอบกอดอดีต แล้วจะเหลือมือข้างไหนไปไขว่คว้าอนาคต?

ในขณะที่โลกเศรษฐกิจหลังโควิดมองว่าแรงงานเป็นภาระ การหลับหูหลับตามเพิ่มคนยิ่งไม่กลายเป็นภาระหรือ?

ถ้ามีเวลารอได้ 20 ปี ทำไม่อดทนสัก 5 ปี แล้ว “ดิสรัป” ประเทศให้ไปสู่เพดานบินทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเหมือนที่ชอบพูดกันว่าจะพาประเทศไทยไปสู่ New S-Curve?

หากเป็นเจ้าของกิจการ เวลาขาดคน เขามีทางเลือกหลายทาง ทางแรก คือ หาคนมาเติม ทางที่สอง คือ ฝึกคนที่มีอยู่ให้เก่งขึ้น ทางที่สาม คือ ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ไม่รับคนเพิ่มแต่เติมเทคโนโลยีเข้ามาแทน  

ลองนึกดูว่า ทางเลือกไหนจะช่วยให้ธุรกิจร่วง? ทางเลือกไหนจะช่วยให้ธุรกิจได้ไปต่อ? แล้วถ้าเป็นประเทศล่ะ เลือกทางไหนถ่วงเราไว้ไม่ให้ไปข้างหน้า?

เราต้องมองให้ขาดว่า การที่คนไทยมีลูกน้อยลงเป็นโอกาสดี เราไม่ได้ต้องการคนเพิ่ม ที่เราต้องการจริง ๆ คือ ทำให้คนที่มีอยู่เก่งกว่าเดิม การทำให้คน 1 คนเก่งเท่ากับคน 2 คน สามารถทำได้เร็วกว่าการรอให้คนอีกคนโตพอจะทำงานได้ 

คนไทยมีลูกน้อยลง โอกาสดีที่ต้องมองให้ขาด | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

นอกจากนี้แล้ว หากเราทำให้คน 1 คนเก่งได้เท่ากับคน 2 คน ต่อให้เศรษฐกิจไทยมีขนาดเท่าเดิม รายได้ของเขาจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมแน่นอน คนน้อยลง แต่รวยขึ้น เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบ แถมจะมีคนอยู่ในฐานภาษีมากขึ้น มันจะเป็นปัญหาตรงไหน?

คำว่าพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ที่พูดกันมาหลายปีนั่นแหละ คือ ทางออกที่สามารถทำได้เร็วที่สุด แทนที่จะมากังวลเรื่องคนไทยมีลูกน้อยลง เอาเวลามีหาวิธีเพิ่มความสามารถของคนไทยทั้งหมดให้เก่งขึ้นดีกว่า 

เราไม่ได้ต้องการคนเพิ่ม เราต้องการระบบนิเวศในการเรียนที่ทรงพลังพอจะยกกระดับคุณภาพคนไทยได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิดที่หมุนเร็วขึ้น เป็นระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถยกระดับทักษะของเองได้ตลอดชีวิต 

ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นวันนี้ การจะรอทางออกที่ต้องใช้เวลากว่า 20 ปีถึงจะเห็นผลคงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะถ้าต้องรอนานขนาดนั้น เศรษฐกิจไทยคงกู่ไม่กลับแล้ว.
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์