หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย จากที่รกร้างไร้คุณค่า สู่แผ่นดินทำกินอุดมสมบูรณ์

หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย จากที่รกร้างไร้คุณค่า สู่แผ่นดินทำกินอุดมสมบูรณ์

โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย เป็นโครงการฯ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ไร้ที่ทำกินให้มีที่ทำกิน 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ ด้วยการนำพื้นที่บริเวณ ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่สาธารณะประเภททุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และรกร้างมารังวัดจัดสรรเป็นแปลง ๆ ละ 15 ไร่ รวม 153 แปลง และให้สมาชิกชาวไร่ผัก และผู้ไร้ที่ทำกินที่อพยพมาจากพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ อาทิ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น เข้ามาอยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2515 ในลักษณะคล้ายกับราษฎรที่อยู่ในโครงการหุบกะพงฯ จังหวัดเพชรบุรี โดยจัดตั้งโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ขึ้น จากนั้นจึงส่งเสริมสนับสนุนการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี และบริหารจัดการด้านการตลาดแบบครบวงจร โดยใช้หลักการและวิธีการสหกรณ์มาดำเนินการให้เกษตรกรได้เรียนรู้

หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย จากที่รกร้างไร้คุณค่า สู่แผ่นดินทำกินอุดมสมบูรณ์

และเมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ การนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เปิดเผยว่า "พื้นที่หมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วยเกิดขึ้นหลังโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ซึ่งพบว่ายังมีราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินอีกมาก  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ พร้อมจัดสรรที่ดินที่เหมาะสมให้แก่สมาชิกประมาณ 15 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่ออยู่อาศัยและทำกิน พร้อมจัดทำระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ดอนขุนห้วยขึ้นมาเพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่ง ทุกครอบครัวจะไม่มีการถือกรรมสิทธิ์ แต่สามารถทำกินจนชั่วลูกชั่วหลานแบบสืบทอดกันได้ ปัจจุบันกลุ่มสมาชิกมีน้ำเพียงพอ โดยใช้ระบบน้ำส่งเข้าแปลงเพาะปลูกต่าง ๆ อย่างทั่วถึง สามารถทำเกษตรกรรมได้อย่างต่อเนื่อง” องคมนตรี กล่าว

หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย จากที่รกร้างไร้คุณค่า สู่แผ่นดินทำกินอุดมสมบูรณ์

ทางด้านนางครสวรรค์ โภคา ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพระราชดำริ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยว่า สหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด ปัจจุบันกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ เพื่อยกระดับความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน  นับตั้งแต่การบริหารจัดการ การส่งเสริมอาชีพ และการตลาด  โดยเน้นให้สหกรณ์มีการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย สามารถปิดบัญชีในรอบปีได้ ส่วนในเรื่องอาชีพมีการทำแผนพัฒนาสหกรณ์ตามบันได 7 ขั้น เส้นทางสู่เส้นชัย ภายใต้แนวทางการรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพให้แก่สมาชิกฯ ปลูกผัก และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานหัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้าน นำผลกำไรมาต่อยอดขยายกิจการ โดยทางสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ามาแนะนำส่งเสริมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาให้สมาชิกมีรายได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญสหกรณ์แห่งนี้ต้องไม่มีการทุจริต มีการดำเนินงานโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกฯ อย่างสูงสุด โดยมีศูนย์สาธิตสหกรณ์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพี่เลี้ยงและแม่แบบ” นางครสวรรค์ โภคา กล่าว

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น อาทิ การทำเกษตร การแปรรูปผลผลิต งานศิลปาชีพ รวมถึงการรวมกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ โดยมีศูนย์สาธิตสหกรณ์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี ให้คำแนะนำด้านสหกรณ์แก่สมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีระบบในการจำหน่ายผลผลิตอย่างครบวงจร และมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างพอเพียงตามพระราชประสงค์

โดยนางสาวลาวัณย์ ลืมสกุล ประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า ดอนขุนห้วย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้จะปลูกสับปะรดและผัก แต่รายได้ไม่เพียงพอ จึงหันมาทำอาชีพเสริมด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นำใยไหมมาทอผ้า ผลผลิตจะขายแบบทั่วไป มีรายได้เฉลี่ย 8,000 ถึง 20,000 บาทต่อปี โดยกรมหม่อนไหมได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำทั้งการปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหมและการทอผ้า

หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย จากที่รกร้างไร้คุณค่า สู่แผ่นดินทำกินอุดมสมบูรณ์

“ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันดีขึ้นกว่าแต่ก่อน มีหลักการในการรวมกลุ่มกันอยู่อย่างพอเพียง เก็บเล็กผสมน้อยเผื่อไว้ใช้ในยามจำเป็น มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแล เช่น กรมหม่อนไหม และกรมพัฒนาสังคม ก็ขอขอบคุณพระองค์ท่านที่ทำให้เรามีอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในวันนี้” นางสาวลาวัณย์ ลืมสกุล กล่าว