AgriFoodTech นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน | ต้องหทัย กุวานนท์

AgriFoodTech นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน | ต้องหทัย กุวานนท์

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สถานการณ์โควิด และ ภาวะสงครามที่กำลังปะทุ ทำให้ความมั่นคงทางการเกษตรและอาหาร กลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า บางประเทศอย่างสิงคโปร์ที่ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากถึง 90% เพราะมีพื้นที่เกษตรกรรมน้อยกว่า 1% ได้เร่งดำเนินการรณรงค์ยุทธศาสตร์  “30 by 30” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 

เป้าหมายคือ สิงคโปร์ต้องสามารถผลิตอาหารภายในประเทศให้ได้ถึง 30% ของการบริโภคภายในปี 2030 เพื่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาว  

Temasek กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้ลงทุนในธุรกิจ AgriFood ไปแล้วกว่า ห้าพันล้านเหรียญในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และเป็นผู้ร่วมลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหารติดอันดับหนึ่งใน 3 ของโลก 

นี่เป็นเหตุผลที่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเกษตรและอาหารชั้นนำรวมถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเช่น Perfect day, &ever, Eat Just, Buhler และ Givaudan ต่างมุ่งหน้าเข้าสู่สิงคโปร์เพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารวมถึงวางแผนใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหารของโลก 

             AgriFoodTech คือนวัตกรรมเพื่อความอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารต้องเจอความท้าทายจาก สภาวะอากาศแปรปรวน ปัญหาคุณภาพดิน การขาดแคลนน้ำ คุณภาพผลิตผลทางการเกษตร และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

จึงเกิดป็นแรงกระตุ้นที่ต้องเอาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น AI, Robotics และ Automation, Sensors, และ Biotech มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ในปีที่ผ่านมาการลงทุนใน AgriFoodTech เพิ่มขึ้นถึง 85% ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่าห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับเงินลงทุนสูงสุดในปีที่ผ่านมาจะอยู่ในกลุ่ม AgBiotech

อย่างเช่น PivotBio สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่ดัดแปลงพันธุกรรมจุลินทรีย์เพื่อนำมาทดแทนการใช้ปุ๋ยสำหรับการเพาะปลูก และ Inari  สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบและปรับยีนของพืช เพื่อสร้างพืชที่ทนต่อสภาวะอากาศ พึ่งพาน้ำและปุ๋ยน้อยลง

AgriFoodTech นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน | ต้องหทัย กุวานนท์

 เหตุผลหลักที่สตาร์ทอัพกลุ่มนี้ สามารถระดมทุนได้สูงมากในตอนนี้ เป็นสัญญาณชัดเจนว่า เป้าหมายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในอนาคต คือการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการผลิตอาหารเพราะโลกกำลังเสี่ยงกับวิกฤตการขาดแคลนอาหาร

นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนคือ เทคโนโลยีทางด้านเกษตรที่ทำให้สามารถเพาะปลูกและผลิตอาหารภายใต้ข้อจำกัดทางธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้  

งานสัมมนาระดับโลกอย่าง World Agri-Tech Innovation Summit 2022 ที่เพิ่งจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโกซึ่งมีทั้งสตาร์ทอัพและองค์กรชั้นนำด้านเกษตรอาหารของโลกเข้าร่วม ก็ยังกำหนดธีมหลักของงานโดยโฟกัสที่เรื่องของเกษตรเพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร

 เช่น การเกษตรแบบควบคุมสิ่งแวดล้อม การเกษตรแบบปฏิรูป (Regenerative Agriculture) ที่รบกวนดินน้อยที่สุด เทคโนโลยีการแก้ไขจีโนมพืช และเทรนด์ที่กำลังมาแรงเรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

AgriFoodTech นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน | ต้องหทัย กุวานนท์

               การขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรเพื่อความยั่งยืน คือวาระสำคัญของโลก สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและเทคโนโลยีในประเทศต้องทบทวนดูก็คือ วันนี้เราอยู่ตรงไหนกับการเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรยุคใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ วางแผนการเพาะปลูก และ กระจายผลผลิต 

ถ้าคำตอบที่ได้คือเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง รากของปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่เกษตรกรแต่อยู่ที่ระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องรีบ“พัฒนา” เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างรัฐ เอกชนและเกษตรกรรายย่อย.            

Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
ผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจ บ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ