สินทรัพย์ดิจิทัลกับข่าวลือ | พิเศษ เสตเสถียร

สินทรัพย์ดิจิทัลกับข่าวลือ | พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล

รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลของต่างประเทศ เหตุที่จะมีการคุ้มครองเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. บอกว่า ที่ผ่านมาเจอโฆษณาให้มาลงทุนคริปโตในที่สาธารณะทั้งออฟไลน์ ออนไลน์จำนวนมาก

 แต่ไม่เห็นการแสดงคำเตือนเรื่องความเสี่ยงและความผันผวน และเนื้อหาโฆษณาก็มีแต่ด้านบวก อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้ลงทุน และมีการโฆษณาพูดถึงจำนวนผู้ใช้งานโดยนับจำนวนบัญชีที่ยังไม่ซื้อขาย อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการจริง

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องร้อนแรงของนักลงทุนอยู่ตอนนี้ ก็เป็นของธรรมดาสำหรับการลงทุนใหม่ๆ ก็จะมีผู้สนใจและอยากได้เงินจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ว่านั้น  เรื่องนี้เคยเกิดกับสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ มาแล้วหลายสินทรัพย์ แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ในระยะเริ่มแรกก็มีลักษณะทำนองนี้ 

ในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการให้ข่าว โดยในมาตรา 40  บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ลักษณะหรือสาระสำคัญของโทเคนดิจิทัล หรือราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล”

สินทรัพย์ดิจิทัลกับข่าวลือ | พิเศษ เสตเสถียร

1. ผู้ที่ถูกห้ามตามมาตรานี้คือ “บุคคลใด” ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทั่วไป หรือหรือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก็เข้าข่ายของมาตรานี้หมด 

2. ลักษณะของความผิดคือ “บอกกล่าว” ซึ่งอาจจะบอกกันเช่นบอกกับญาติพี่น้อง หรือกับเพื่อนฝูง หรือ “เผยแพร่” คือ ทำสิ่งที่จะบอกนั้นให้แพร่หลายออกไป เช่น ไปพูดในงานสัมมนา หรือเขียนข้อความลงบนอินเทอร์เน็ต ฯลฯ หรือ “ให้คำรับรอง” คือ การยืนยันข้อความที่บอกว่าเป็นความจริง

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่เกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือราคาซื้อขายของโทเคนนั้น  

3. โดยข้อความนั้นเป็น “เท็จ” คือ ไม่จริงหรือเป็น “ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ” เกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขาย ฯลฯ 

4. การที่บุคคลใดจะบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวมานั้น  จะต้องกระทำโดยการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย 

อันนี้ภาษากฎหมายเรียกว่า “เจตนาพิเศษ” กล่าวคือ ในการกระทำความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญานั้น จะต้องกระทำโดยมีเจตนา พูดง่าย ๆ ว่า กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ ว่ากำลังจะทำอะไร ในความผิดทางอาญาทุกอันถือเป็นหลักทั่วไปว่า ต้องมีเจตนากระทำด้วยเสมอ 

ในความผิดบางอันนอกจากจะมีเจตนาตามกฎหมายแล้ว ยังต้องมี “เจตนาพิเศษ” เพื่อประกอบกันด้วย อย่างในกรณีนี้ก็มีเจตนาพิเศษคือ น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คือผู้กระทำต้องรู้ด้วยว่า การบอกกล่าวข้อความที่เป็นเท็จนั้นน่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อขายกัน เช่น บอกว่า มีข่าวดีว่ารัฐบาลยูเครนจะประกาศรับรองเงินคริปโท เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ความผิดตามมาตรา 42 นี้มีผลใช้บังคับกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามพระราชกำหนดนี้เท่านั้น ซึ่งหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ก.ล.ต. ขอรับฟังความคิดเห็นอยู่นี้ก็คงจะมีเป็นไปทำนองเดียวกัน 

ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้ซื้อขายอยู่ไหนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่อยู่ภายในบังคับของกฎหมายนี้ก็ต้องระมัดระวังกันเองนะครับ ถ้าเจ็บตัวแล้วก็คงไปหาว่าหน่วยงานของรัฐไม่คุ้มครองคงจะไม่ได้