สงครามยูเครน: จุดจบของโลกาภิวัตน์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

สงครามยูเครน: จุดจบของโลกาภิวัตน์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

สำหรับผู้ติดตามพัฒนาการของสงครามทางทหาร ระหว่างรัสเซียกับยูเครน คงทราบดีถึงพัฒนาการที่เป็นคู่ขนาน อันได้แก่ สงครามเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก

แม้ว่าชาติตะวันตกจะไม่เข้าแทรกแซงทางการทหารในยูเครนเนื่องจากกังวลว่าหากเข้าช่วยเหลือทางการทหารในยูเครนอย่างชัดเจนแล้ว จะทำให้สงครามยกระดับกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์และสู่สงครามโลกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม อีกเหตุผลหนึ่งที่ชาติตะวันตกไม่กล้าเปิดสงครามทางการทหารโดยตรงกับรัสเซียนั้น เป็นเพราะชาติตะวันตกรู้ดีว่าเสียงส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศนั้นไม่เห็นด้วยกับการที่จะส่งทหารของตนเข้าไปรบในดินแดนต่างประเทศ 
 

เมื่อเข้าไปแล้วยากที่จะถอนกำลังออกมาโดยง่าย และแน่นอนว่าการทำสงครามย่อมมีความสูญเสีย ซึ่งจะเป็นลบต่อคะแนนเสียงของพรรครัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ 

เมื่อชาติตะวันตกไม่กล้าที่จะรบทางการทหารโดยตรง จึงหันมาใช้สงครามเศรษฐกิจในรูปแบบที่ตนถนัดแทน โดยสามารถแบ่งรูปแบบการตอบโต้ของชาติพันธมิตรใน 4 รูปแบบ ดังนี้ 

(1) ตัดช่องทาง SWIFT รวมถึงตัดโอกาสที่สถาบันการเงินรัสเซียจะเข้าถึงการทำธุรกรรมรูปดอลลาร์ทุกรูปแบบ ซึ่งจะทำให้การที่ต่างชาติเข้าทำธุรกรรมกับรัสเซียทำได้ยาก และเป็นการกดดันทางอ้อมกับธุรกิจชาติอื่น ๆ ที่ทำกับรัสเซียด้วย (เพราะธุรกิจเหล่านั้นก็จะขอสินเชื่อการค้า หรือ Trade finance ยากขึ้น เพราะทางการประเทศอื่น ๆ ก็จะกังวลในความเสี่ยง) 


(2) คว่ำบาตรการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินชั้นนำของรัสเซีย รวมถึงธนาคารกลางรัสเซีย ทำให้ไม่สามารถใช้ทุนสำรองที่มีอยู่ได้

(3) คว่ำบาตรการค้าระหว่างประเทศกับรัสเซีย โดยล่าสุดทางสหรัฐได้มีการคว่ำบาตรการค้าในสินค้าหลักได้แก่เชื้อเพลิง (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ)  ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และ

(4) คว่ำบาตรทางการเงินกับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และผู้บริหารระดับสูง รวมถึงชนชั้นสูงของรัสเซีย เพื่อให้ชนชั้นสูง มากดดันปูตินอีกทีหนึ่ง

การคว่ำบาตรต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อราคาโภคภัณฑ์ โดยทางรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 และน้ำมันอันดับ 2 อลูมิเนียมและทองแดงอันดับ 10 ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีที่สำคัญ โดยมีสัดส่วนรวมกับรัสเซียถึงกว่า 30% ของการส่งออกโลก

สงครามระหว่างสองประเทศทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาน้ำมันแตะระดับ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อลูมิเนียมและนิกเกิลขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม้ในระยะสั้น ผู้เขียนจะมองว่า ผลกระทบด้านการคว่ำบาตรต่อเศรษฐกิจโลกจะไม่รุนแรงมาก เท่าที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะสำนักวิจัยตะวันตก เช่น JP Morgan หรือ Goldman Sachs ที่มองว่าราคาน้ำมันในปีนี้จะพุ่งขึ้นถึง 130-180 หรือบางสำนักมองว่าถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

เนื่องจากเชื่อว่าตลาดน้ำมันเริ่มสมดุลในครึ่งปีหลัง เนื่องจากหากสงครามสงบลง รวมถึงกำลังการผลิตจากชาติอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ขาดหายไปถึงกว่า 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แต่หากสถานการณ์ไม่ได้เป็นดังคาด โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านการผลิตที่ทำให้ปริมาณการผลิตไม่กลับไปอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันในครึ่งปีหลัง

สงครามยูเครน: จุดจบของโลกาภิวัตน์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ก็จะเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะคงอยู่ในระดับสูง ผลักดันเงินเฟ้อให้สูงต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางต้องทำนโยบายการเงินตึงตัว และกดดันสภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ผู้เขียนกังวลกับการที่สหรัฐและชาติตะวันตกใช้สงครามเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการกดดันรัสเซีย  ไม่ว่าจะผ่านทางการคว่ำบาตรทางการค้าและการเงิน

รวมถึงความพยายามล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐในการตัดสถานะ Most Favored Nation (MFN) หรือชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง อันเป็นสถานะที่องค์กรการค้าโลก (WTO) ให้กับสมาชิกต่าง ๆ เพื่อลดระดับภาษีศุลกากรลง

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 7 ชาติ (หรือกลุ่ม G-7) ที่เตรียมเสนอให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ตัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัสเซีย

ส่วนด้านรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการขู่ว่าจะยึดบริษัทของชาติตะวันตกที่ทำการคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น แมคโดนัลด์ โค้ก P&G และ IBM มาเป็นของรัฐ

ภาพดังกล่าวเป็นการสะท้อนว่า ระบบเศรษฐกิจโลกในรูปแบบโลกาภิวัฒน์ในรูปแบบที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองนั้น กำลังเสื่อมถอยลง

โดย 3 องค์กรระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยสหรัฐและชาติพันธมิตรตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในประเด็น WTO ที่ตั้้งแต่จัดตั้งเมื่อปี 1995 เป็นต้นมา ไม่เคยมีข้อเสนอในการถอนสมาชิกภาพของประเทศใดลงเลย 

แท้จริงแล้ว อิทธิพลของ WTO ในการผลักดันโลกการค้าเสรี ไร้ซึ่งกำแพงภาษีและสิ่งกีดขวางทางการค้าต่าง ๆ เริ่มลดลงในระยะหลังตั้งแต่ยุคก่อนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ที่เป็นผู้ต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ด้วยซ้ำ

เห็นได้จากปริมาณการค้าโลกที่เคยสูงสุดเมื่อปี 2008 ที่ประมาณ 31% ของ GDP โลก มาเหลือเพียง 26% ในปัจจุบัน ขณะที่ปริมาณการค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา 

เมื่อกติกาการค้า การลงทุน การเงิน และเศรษฐกิจโลกที่ถูกตั้งขึ้นโดยชาติตะวันตกเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง และถูกทำลายลงจากชาติผู้ให้กำเนิดเสียเอง

ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นตัดรัสเซียจากสถานะ MFN คว่ำบาตรการค้ากับรัสเซีย คว่ำบาตรการเข้าถึงระบบ SWIFT รวมถึงการคว่ำบาตรด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงิน เริ่มแตกเป็น 2 ขั้วมากขึ้น 

ฟากหนึ่งสหรัฐกับชาติตะวันตก จะยังคงใช้ระบบเศรษฐกิจ การเงิน และเทคโนโลยีเดิมต่อไป ขณะที่อีกฟากหนึ่ง เช่น จีน รัสเซีย รวมถึงชาติอาหรับที่ทางสหรัฐเคยคว่ำบาตรเศรษฐกิจ จะเริ่มหันมาร่วมมือกันผ่านระบบใหม่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสำคัญของดอลลาร์

สงครามยูเครน: จุดจบของโลกาภิวัตน์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ระบบการโอนเงินแบบ SWIFT และการค้าการลงทุนแบบเสรีนิยมตะวันตกจะเริ่มหมดความสำคัญลง ขณะที่เงินหยวน ระบบการโอนเงิน Cross-Border Interbank Payment System (หรือ CIPS) ของจีน

รวมถึงอิทธิพลของการค้าการลงทุนกับจีนผ่านโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) จะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น และอาจมาทดแทนระบบเดิมในอีกไม่ช้านัก ซึ่งจะทำให้กฎ กติกาแบบเดิมที่เคยยึดถือหมดไป และทำให้ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไปมีมากขึ้น

ในบทความฉบับที่แล้ว ผู้เขียนกล่าวว่าสงครามยูเครนจะเป็นจุดเปลี่ยนของระเบียบโลก แต่ในฉบับนี้ ผู้เขียนมองว่าภาพเหล่านี้อาจมาเร็วกว่าที่เคยมองไว้มาก

โลกาภิวัตน์เดิมกำลังหมดไป มหาอำนาจใหม่กำลังมา นักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายของไทย เตรียมตัวแล้วหรือยัง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่