ประวัติศาสตร์ชี้ว่า อเมริกาจะล่มสลายในเร็ววัน? | ไสว บุญมา

ประวัติศาสตร์ชี้ว่า อเมริกาจะล่มสลายในเร็ววัน? | ไสว บุญมา

สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาสาหัสมาหลายทศวรรษแล้ว แม้แต่ชาวอเมริกันเองยังตั้งคำถามว่าประเทศของเขากำลังเดินเข้าสู่ความล่มสลายหรือไม่

คำถามนี้มีอยู่ในหนังสือหลายเล่ม เช่น Are We Rome?: The Fall of an Empire and the Fate of America ซึ่งผมนำมาทำบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.bannareader.com  เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จำกัดอยู่ที่การเปรียบเทียบระหว่างอาณาจักรโรมันซึ่งล่มสลายไปกว่า 2 พันปีกับสหรัฐ  

หากจะมองให้กว้างกว่าคู่นี้ มีหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Geat Powers: Economic Change and Military Conflict from 1500 to 2000 ซึ่งผมนำมาทำบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

ผู้เขียนหนังสือเล่มแรกนำความคล้ายและความต่างระหว่างอาณาจักรโรมันกับสหรัฐมาเสนอ แต่ไม่ได้ฟันธงลงไปว่า สหรัฐกำลังล่มสลายไปตามอาณาจักรโรมัน  ตรงข้าม เขาดูจะเชื่อมั่นว่ามันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะเขามองว่าชาวอเมริกันมีสิ่งสำคัญที่ชาวโรมันไม่มี นั่นคือ ระบบของตนปรับปรุงได้ ชาวอเมริกันจึงปรับปรุงให้มันดีขึ้นตลอดเวลา  

มุมมองนี้มีเหตุการณ์ที่แย้งว่าไม่น่าจะถูกนัก เช่น ความพยายามทำรัฐประหารหลังแพ้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาของประธานาธิบดีไม่ใช่การปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐใช้ให้ดีขึ้น  ด้านเศรษฐกิจ การขยายตัวส่วนใหญ่ที่ไปตกอยู่ในมือของคนรวยมากขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าระบบตลาดเสรีที่สหรัฐใช้มิได้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น

    เศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสองฐานของการวิเคราะห์ในหนังสือเล่มหลัง  ดังที่ชื่อของหนังสือบ่งบอก ความรุ่งเรืองและตกต่ำของมหาอำนาจในช่วงเวลา 500 ปีมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและการทหารเป็นตัวแปรหลัก  หนังสือสรุปว่า ความเปลี่ยนแปลงให้แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สังคมก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ และความอ่อนแอทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยทำให้มหาอำนาจตกต่ำ 

บทสรุปนี้คงเป็นที่รับรู้กันจากคำพูดสั้น ๆ อันโด่งดังของจักรพรรดินโปเลียนและพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชที่ว่า “ทหารเดินด้วยท้อง”  หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างจำนวนมากรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินของสองนักรบนั้นด้วย  ในขณะเดียวกัน ความแข็งแกร่งทางทหารก็เป็นปัจจัยปกป้องให้เศรษฐกิจคงความแข็งแกร่งและความขัดแย้งทางทหารเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ

    หนังสือเล่มหลังพิมพ์ออกมาก่อนความแตกสลายของสหภาพโซเวียต 4 ปีและคาดว่าโลกจะมี 5 ขั้วที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นคือ สหรัฐ กลุ่มตลาดร่วมยุโรป ญี่ปุ่น จีนและสหภาพโซเวียต  ในบรรดา 5 ขั้วนี้ ขั้วที่จะอ่อนแอลงในเชิงเปรียบเทียบคือสหรัฐและสหภาพโซเวียต ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดแล้วในขณะนั้น  เป็นไปได้ที่การแข่งขันกันระหว่าง 5 ขั้วจะนำไปสู่สงครามช่วงชิงความเป็นใหญ่เช่นในอดีต  แต่ ณ ขณะนั้น สหรัฐยังแข็งแกร่งกว่าขั้วอื่น  อะไรจะเกิดขึ้นสหรัฐจึงมีบทบาทสูงกว่าด้วย

เหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนคาดการณ์หลายอย่างถูก  สหภาพโซเวียตแตกสลายเพราะฐานเศรษฐกิจ ที่อาศัยระบบคอมมิวนิสต์ ขาดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มันแข็งแกร่งขึ้นอย่างเพียงพอ  จีนเข้าใจปัญหาดีกว่า จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบตลาดเสรีเป็นฐานของการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

พร้อมกับปรับปรุงมันอยู่ตลอดเวลาจนก้าวกระโดดขึ้นเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารจนใกล้เคียงกับสหรัฐแล้ว  รัสเซียรับมรดกทางทหารอันเกรียงไกรมาจากสหภาพโซเวียต แต่ไม่สามารถใช้ระบบตลาดเสรีให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็วเช่นจีนจึงยังมีเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแกร่งนัก  

ขั้วตลาดร่วมยุโรปและญี่ปุ่นใช้ระบบการเมืองเดียวกับสหรัฐและร่วมมือกับสหรัฐเป็นขั้วเดียวกันโดยปริยาย  ผู้ท้าทายสหรัฐอย่างจริงจังจึงเป็นรัสเซียกับจีน ซึ่งใช้ระบบการเมืองแบบรวมศูนย์เหมือนกัน  ในสภาพที่โลกมี 3 ขั้วและสหรัฐมีปัญหาสาหัสนี้

ปริศนาน่าสนใจยิ่งได้แก่จีนกับรัสเซียจะรวมตัวเป็นขั้วเดียวกัน เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ และเร่งให้สหรัฐล่มสลายได้หรือไม่  

จากมุมมองของประวัติศาสตร์ น่าจะเป็นไปได้  แต่การช่วงชิงในประวัติศาสตร์ขาดตัวแปรสำคัญของยุคปัจจุบัน นั่นคือ อาวุธนิวเคลียร์ หากผู้ช่วงชิงความเป็นใหญ่ไม่รอให้สหรัฐล่มสลายไปเอง หากใช้อาวุธร้ายนี้ช่วยเร่ง ไม่เฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่จะล่มสลาย หากผู้ใช้และมนุษยชาติจะสูญหายไปทั้งหมด.