ภูมิศาสตร์การเมือง สหรัฐ-จีน หลังโควิด

ภูมิศาสตร์การเมือง สหรัฐ-จีน หลังโควิด

อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนบทความ “ความเสี่ยงเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลังโควิด” มีแฟนคอลัมน์ถามว่า ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) จะเป็นอย่างไรหลังโควิด อยากฟังความเห็น ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก

วันนี้จึงเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความเห็นของผมให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

    ถ้าดูบทวิเคราะห์ที่มีจากนักลงทุนสถาบันขณะนี้ ความห่วงใยเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลระยะยาวต่อการลงทุนคงไม่พ้นสามเรื่อง

1.การปฏิวัติด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ที่บริษัทธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ตามทันการเพิ่มของผลิตภาพการผลิตและการแข่งขัน

2.ภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชน ต้องร่วมมือแก้ไขและเปลี่ยนพฤติกรรม

3.ประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองที่เป็นผลจากการเปลี่ยนของระเบียบและความสมดุลของอำนาจในเศรษฐกิจโลก ทำให้ความสัมพันธ์หลักๆ ในโลกหลังโควิดจะเปลี่ยนไป สร้างความไม่แน่นอนและดิสรัปชั่นต่อการทำธุรกิจและการลงทุน

    ในส่วนของภูมิศาสตร์การเมืองโลกมีสามแนวโน้มสำคัญที่จะมีผลต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนจากความสมดุลของอำนาจในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป สอง กระแสกลับด้านของโลกาภิวัตน์หรือ Degloblolization ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนโควิดและได้เร่งตัวขึ้นจากผลที่โควิดมีต่อห่วงโซ่การผลิต สาม ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากผลของโควิดทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะเป็นความเสี่ยงใหม่ทั้งต่อการเติบโตและต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก 

    อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนเรื่องกระแสกลับด้านของโลกาภิวัตน์ วันนี้ขอพูดถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน 

    ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากการติดต่อและทำอะไรด้วยกัน หรือ Engagement เป็นการแข่งขันหรือ Competition ที่สหรัฐกับจีนกำลังแข่งขันกันในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทหาร เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การค้าและเศรษฐกิจ 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008/09 ที่กระทบและชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐจนมีการวิเคราะห์ว่า จีนอาจแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก แต่ที่สำคัญคือท่าทีของจีนที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากในอดีตที่ค่อนข้างเก็บตัว ระมัดระวังไม่แสดงออกเรื่องความร่ำรวย เปลี่ยนเป็นท่าทีที่ตอบรับแนวการวิเคราะห์ดังกล่าว พร้อมระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของตนในปี 2015 ว่าจีนจะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในปี 2025 
    
    ตั้งแต่นั้นมาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนก็มีมากขึ้นตลอด เริ่มจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในปี 2018 หลังประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งได้หนึ่งปี ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และแม้การเมืองในสหรัฐจะเปลี่ยนเป็นประธานาธิบดีไบเดน แต่นโยบายสหรัฐต่อจีนก็ไม่เปลี่ยน แสดงถึงความต้องการของการเมืองและกลุ่มธุรกิจสหรัฐที่ต้องการหยุดการเติบโตและอิทธิพลของจีน ทำให้ความตึงเครียดได้ขยายผลไปสู่ประเด็นต่างๆ มากมายพร้อมท่าทีแข็งกร้าวของทั้งสองฝ่ายต่อกัน 

    ในเรื่องนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ไม่ใช่สงครามเย็นเหมือนที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการผลักดันลัทธิการเมืองของตนแบบที่สหรัฐกับสหภาพโซเวียตเดิมเคยทำสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ความขัดแย้งที่เป็นผลจากการแข่งขันเพื่อชิงและรักษาสถานะความเป็นประเทศมหาอำนาจ กล่าวคือ 

1.ความขัดแย้งไม่ได้มาจากการแข่งขันด้านลัทธิการเมือง แต่เป็นการแข่งขันระหว่างเศรษฐกิจสองระบบที่ใช้กลไกตลาดเหมือนกันในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ แต่ต่างกันที่บทบาทภาครัฐในการกำกับดูแลเศรษฐกิจและควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จีนจะเข้มข้นกว่ามาก เป็นการแข่งขันเพื่อแสดงให้เห็นถึงระบบการเมืองที่ “เหนือ” กว่าในการบริหารจัดการเพื่อประชาชนและแก้ไขปัญหาของประเทศ

    2.แม้สหรัฐจะพยายามสร้างภาพความขัดแย้งให้เป็นแบบสงครามเย็น คือ สงครามระหว่างแนวร่วมประเทศประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม แต่จีนแสดงตนชัดเจนว่ากำลังแข่งกับสหรัฐ เพื่อชิงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ ที่มาของอำนาจทางการเมืองและความเป็นมหาอำนาจที่แท้จริง ขณะเดียวกันจีนก็แสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมให้ใครมาบ่อนทำลายอำนาจและระบบการเมืองของจีน โดยเฉพาะการเผยแผ่ค่านิยมประชาธิปไตยในจีน และพร้อมดำเนินการทุกทางเพื่อรักษาอำนาจและระบบการเมืองของจีนไว้

    3.สงครามเย็นในอดีตคือการแบ่งประเทศในโลกเป็นสองขั้วตามลัทธิทางการเมือง แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก แต่ละประเทศเป็นอิสระ มีสิทธิและเสรีภาพ และไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ทำให้การเมืองโลกต่อไปจะเป็นการเมืองที่มีหลายขั้วที่อยู่ร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  

    ภายใต้บริบทนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจึงสะท้อนความพยายามของประเทศมหาอำนาจเดิม คือ สหรัฐที่จะทำทุกอย่างเพื่อหยุดอิทธิพลของจีนทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะที่จีนซึ่งเป็นอำนาจใหม่ต้องการเติบโตต่อไปเพื่อเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และพร้อมปกป้องไม่ให้ใครเข้ามาทำลายหรือบั่นทอนโอกาสและความตั้งใจของตน 

    ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สถานการณ์เช่นนี้สร้างผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในแง่เศรษฐกิจและความเสี่ยงที่จะเกิดปะทะกันทางทหาร ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนหวังคือสถานการณ์สู้รบระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะความสูญเสียจะเป็นผลลบต่อทั้งสองประเทศ ทำให้ความขัดแย้งอย่างที่มีขณะนี้จะลากยาว ยืดเยื้อและขยายประเด็น สร้างความไม่แน่นอนและกระทบเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง 

ภูมิศาสตร์การเมือง สหรัฐ-จีน หลังโควิด

    สำหรับภูมิภาคเอเชีย คงมีสามเวทีที่จะเป็นพื้นที่ประลองกำลังของสองประเทศนี้ในช่วง 24 เดือนหน้า หนึ่ง ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งจะยืดเยื้อ แม้จะสามารถหาทางออกได้โดยการเจรจาเรื่องสิทธิเดินเรือตามกฎหมายสากล พร้อมกับยอมรับอิทธิพลของจีนในพื้นที่ สอง เกาะไต้หวัน ที่สถานการณ์จะยืดเยื้อและตึงเครียดตลอด เพราะเป็นพื้นที่ที่จีนพร้อมแสดงความแข็งกร้าวที่จะปกป้องสิทธิและตอบโต้สหรัฐ ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะทางทหาร สาม กลุ่มการค้าเสรี CPTTP และ RCEP ที่ทั้งจีนและสหรัฐจะใช้เป็นเวทีขยายและป้องกันการขยายอิทธิพลของอีกฝ่าย

    ที่น่าติดตามคือ การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนจะทำให้บทบาทของรัฐบาลจีนและสหรัฐในระบบเศรษฐกิจของตนเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งในเรื่องการแทรกแซงเศรษฐกิจ การช่วยเหลือสนับสนุนและการใช้บริษัทธุรกิจเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เกิดชัยชนะในการแข่งขัน ทำให้ในทั้งสองประเทศ กลไกตลาดจะมีความสำคัญน้อยลงในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ ทำให้ความแตกต่างในบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐก็จะมีน้อยลง.