กระถางธูป 3 ขา เครื่องมือค้ำยันองค์กร | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

กระถางธูป 3 ขา เครื่องมือค้ำยันองค์กร | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

โดยหลักการแล้ว องค์กรที่จะอยู่รอดปลอดภัยในวันนี้ จะต้องมี “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” (Key Success Factor : KSF) อย่างน้อย 4 ประการ อันได้แก่ (1) ต้นทุน (Cost) (2) คุณภาพ (Quality) (3) การบริการ (Service) และ (4) ความรวดเร็ว (Speed)

ปัจจัยแห่งความสำเร็จดังกล่าว เมื่อรวมกันแล้วจะหมายถึง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ   มีสินค้าที่มีคุณภาพ   มีการบริการที่ประทับใจ  และมีความรวดเร็วในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเป็น VUCA World (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) และยุคของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เช่นทุกวันนี้ เงื่อนไขและปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กรใหญ่ๆ  จึงเพิ่มมากขึ้นอีกหลายประการ

 

 

อาทิ  นวัตกรรม (Innovation)   เทคโนโลยี (Technology)   ผลิตภาพ (Productivity)   ความปลอดภัย (Safety)   ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR)   อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)   การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)   ธรรมาภิบาล (Good Governance : GG)  เป็นต้น

โลกในยุคของ New Normal ต่อจากนี้ไป  จึงขึ้นอยู่กับ “คุณภาพของคน” ในองค์กร เพราะ “คนที่มีคุณภาพ” (Quality Personnel) เท่านั้นที่สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ อันนำไปสู่ความอยู่รอดในปัจจุบันและเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

แต่น่าเสียดายที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่ได้ “พัฒนาคน” อย่างเป็นระบบเท่าที่ควร  และ SMEs จำนวนมากก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ผู้นำทุกคนต่างพร่ำบอกเสมอว่า “คนคือปัจจัยสำคัญที่สุดขององค์กร”

พนักงานคนไหนที่รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง  ก็จะมีหลักประกันสู่คววามสำเร็จในอนาคต  เพราะปัจจุบันเป็นยุคสมัยของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ LLL (Life Long Learning) จาก “แหล่งความรู้” ที่มีอยู่มากมาย

ทุกวันนี้  เราจะเห็น “ผู้รู้” มากมายที่พูดกันถึงเรื่องของ “Industry 4.0” และ “Digital Transformation”  โดยยังไม่ได้พิจารณาถึง “ความพร้อมของคน” ในด้านต่างๆ  ซึ่งจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อม  ฝึกอบรมและพัฒนาต่อไปอย่างเป็นระบบ  เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

วิถีแห่งความอยู่รอดในวันนี้  จึงต้องอาศัย “เทคนิค” หรือ “เครื่องมือทางการบริหาร” (Management Tools) หลายอย่าง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (In Search of Excellence)  เช่น  Kaizen   TPM   TPS   TQM   Reengineering   KM   BCM   BSC   OKRs  เป็นต้น

การใช้เทคนิควิธีการและเครื่องมือทางการบริหารอย่างไม่รู้จริง  ทำอย่างไม่มีเป้าหมายและไม่มีทิศทางที่ชัดเจน  จึงเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนที่สูญเปล่า และส่วนใหญ่มักจะเลิกทำในไม่ช้าด้วย

ดังนั้น ผู้นำจะต้อง “เลือก” ใช้เทคนิควิธีการที่มีเป้าหมายชัดเจน และเหมาะสมกับ “วัฒนธรรมองค์กร” คือ  จะต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องมือใดในการพัฒนาคนและยกระดับองค์กรสู่ความเป็นเลิศ  เครื่องมือแต่ละอย่างต้องใช้งบประมาณและบุคลากรมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

หากเราทำเพราะเชื่อคำบอกเล่าหรือทำตามกระแสนิยม  ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับองค์กรของเรา  การลองผิดลองถูกหรือทำแล้วเลิกกลางคัน  ต้นทุนค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากจนบริหารจัดการสู้คู่แข่งไม่ได้

แต่ถ้าเราจะต้องเลือกใช้เพียง 3 เครื่องมือทางการบริหารเพื่อที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด (High Performance)  และเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดภาระค่าจ้างแรงงานในการดำเนินการนั้นๆ  เราจะเลือก 3 เครื่องมืออะไรบ้าง (ด้วยส่วนผสมใดและด้วยเหตุผลใด) เช่น เลือกเทคนิกที่เกี่ยวกับ  (1) ต้นทุน  คุณภาพ  นวัตกรรม หรือ (2) คุณภาพ  ผลิตภาพ  BSC  หรือเลือก 3 เครื่องมืออื่นๆ เป็นต้น

ดังนั้น บนเงื่อนไขเบื้องต้นแห่งความอยู่รอดที่ว่า “ลงทุนต่ำสุด-ได้ผลสูงสุด”  จึงทำให้ผมคิดถึง “กระถางธูป 3 ขา” และหยิบยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการต้องเลือกใช้ 3 เครื่องมือทางการบริหารเพื่อพัฒนาองค์กร
เพราะ “กระถางธูป” ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าในสถานที่ศักดิ์สิทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปราสาทราชวัง ศาลเจ้า วัดวาอาราม จะต้องมี 3 ขา จึงจะสมดุลตั้งอยู่ได้เพื่อให้ผู้คนปักธูปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (สมประโยชน์ของกระถางธูป)

จำนวน 3 ขา  จะเป็นจำนวนน้อยที่สุด ที่จะทำให้กระถางธูปตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ได้  เพราะถ้ามีเพียง 2 ขา กระถางธูปก็จะตั้งไม่ได้ ส่วน 4 ขา 5 ขา หรือ 6 ขา ก็จะเกินความจำเป็น ยิ่งมีขามากก็ยิ่งเกินความจำเป็น และมีราคาแพงกว่าโดยใช่เหตุ

การใช้เทคนิคหรือเครื่องมือทางการบริหารในแต่ละเรื่อง จะต้องใช้ทั้งเงินทุนและกำลังคน  ซึ่งเป็น “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” ทั้งสิ้น  ดังนั้น ยิ่งใช้หลายเทคนิคร่วมกัน  ก็จะยิ่งสิ้นเปลือง และอาจเกิดความขัดแย้งสับสนจนเป็นปัญหาในองค์กรต่อไปได้ด้วย

การศึกษาถึงจุดแข็งจุดอ่อน หรือ ข้อดีข้อเสียของแต่ละเทคนิคหรือเครื่องมือ  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (เพราะหลายๆ เทคนิคคล้ายกันมากทั้งแนวความคิด วิธีการ และผลลัพธ์ที่ได้)

การเลือกใช้เครื่องมือทางการบริหารแต่เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม  จึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่า

ในทางพุทธศาสนาแล้ว  เรามักจะคุ้นเคยกับคำสอนที่ว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” เป็นธรรมดา  แต่ในทางธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว  เราจะต้องยึดมั่นในหลักการที่ว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยั่งยืน”

สำหรับผมแล้ว “I-P-S” คือ “กระถางธูป 3 ขา” ที่เป็นเครื่องมือในการค้ำยันองค์กรให้ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยั่งยืน” ต่อไป ครับผม !