ทักษะแรงงานโลกใหม่ พัฒนาก่อนไทยตกขบวน

ทักษะแรงงานโลกใหม่  พัฒนาก่อนไทยตกขบวน

“ทีดีอาร์ไอ” แนะสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตรโมเดลใหม่สร้างความรับผิดชอบ ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการตลาด ชี้รัฐควรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เร่งขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างครอบคลุม ลดการตกหล่นในยุคดิจิทัล

“โลกใหม่” คือ นิยามความเปลี่ยนแปลงเมกะเทรนด์โลกที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจและความต้องการทักษะแรงงานเปลี่ยนจากเดิมสิ้นเชิง ดังนั้นหากไม่ปรับตัวให้ทันจะทำให้คนจำนวนหนึ่งตกงานและธุรกิจเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอเรื่อง “งานและทักษะสำหรับโลกใหม่” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 โดยระบุว่าโลกใหม่หลังโควิด-19 มี 3 แนวทางเศรษฐกิจหลัก ซึ่งอันที่จริงเกิดขึ้นก่อนมีโควิด-19 แต่การระบาดเข้ามาเร่งให้เติบโตเร็วขึ้น ดังนี้ 

เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เมื่อคนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเป็นผลมาจากล็อกดาวน์ช่วงการระบาด อาทิ การทำงานจากที่บ้าน และการทำธุรกรรมออนไลน์ ทำให้หลายธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด เช่น e-commerce 

งานรายได้สูงกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญเอไอ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรข้อมูล นักพัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลและจัดการข้อมูลธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยไม่มากที่ประกอบอาชีพนี้ได้ เพราะคุณสมบัติพื้นฐานต้องจบปริญญาตรีขึ้นไปเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีความรู้ไอทีขั้นสูงสื่อสารภาษาอังกฤษได้ มีทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและความสามารถในการใช้เหตุผล

เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) เมื่อคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพกายและใจมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใส่ใจ เช่น สปา ฟิตเนส จะซบเซาช่วงการระบาดแต่จะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้ดีหลังจากนี้ 

ส่วนงานในเศรษฐกิจใส่ใจที่รายได้สูง ได้แก่ นักสุขภาพจิต ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด นักรังสีวิทยา ผู้ฝึกซ้อมนักกีฬา นักสรีรวิทยาการออกกำลังกาย พนักงานดูแลและบริการสันทนาการ ผู้ช่วยด้านการดูแลส่วนตัวโดยงานหลายอย่างเป็นงานที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย และน่าจะทำได้ไม่ยากเพียงแต่ต้องฝึกทักษะเพิ่ม

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เกิดขึ้นควบคู่การระบาดเมื่อคนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานทางเลือก

งานในเศรษฐกิจสีเขียวที่ต้องการมากและรายได้ดี ได้แก่ นักเทคนิคด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ นักเทคนิคด้านพลังงานหมุนเวียน นักการตลาดสีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่น จึงต้องการคนที่มีความรู้รอบด้าน อาทิ กฎหมาย ไอที สิ่งแวดล้อม ภาษา

ทักษะแรงงานโลกใหม่  พัฒนาก่อนไทยตกขบวน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจส่งผลต่อหลายงานในโลกใหม่ที่ต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างที่เห็นชัด คือ งานช่างซ่อมรถยนต์หากอนาคตเปลี่ยนไปใช้อีวีจะทำให้ทักษะการซ่อมชิ้นส่วนเปลี่ยนเป็นการดูแลแบตเตอรี่แทน

สำหรับงานในโลกใหม่จะสร้างทั้งงานที่มีรายได้สูงและงานรายได้ต่ำจำนวนมาก และขณะเดียวกันงานโลกใหม่มีงานทักษะไม่สูงที่ให้ผลตอบแทนต่ำในแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจ เช่น ไรเดอร์ พนักงานนวดเพื่อสุขภาพ ซาเล้งและคัดแยกขยะ โดยทุกประเทศเองต่างต้องการให้แรงงานของตนมีรายได้สูง แต่งานที่ให้ผลตอบแทนดีต้องมีทักษะหลากหลายและซับซ้อนที่คนจำนวนมากยังทำไม่ได้

ผลสำรวจพบว่ากว่า 50% ของพนักงานทั้งหมดจะต้อง Reskill ภายในปี 2025 อาทิ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม ทักษะการจัดการตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง การรับมือภาวะกดดันและมีความยืดหยุ่น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะ Soft skill ด้านการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การมีความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นมืออาชีพและปรับตัวได้ดี

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่ฉุดการพัฒนาทักษะแรงงาน คือ ทัศนคติและความเชื่อคนไทยที่คิดว่าทักษะที่มีใช้ได้ตลอดชีวิต และการคิดว่าสติปัญญาและความสามารถเปลี่ยนไม่ได้ จากผลสำรวจประชากรในอาเซียน พบว่าทัศนคติของคนไทยวัยหนุ่มสาว 30% เชื่อว่าทักษะที่มีใช้ได้ตลอดชีวิต ขณะที่หนุ่มสาวชาวสิงคโปร์และเวียดนามมีเพียง 10% ที่คิดแบบนี้ ซึ่งความเป็นจริงทักษะที่โลกใหม่ต้องการจะเปลี่ยนเร็วตลอดเวลา นอกจากนี้ เด็กไทย 60% ยังคิดว่าสติปัญญาเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ทักษะแรงงานโลกใหม่  พัฒนาก่อนไทยตกขบวน นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาไทยมี "ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน" ทำให้ผู้จบปริญญาตรีหางานมีรายได้สูงไม่ได้ โดยเฉลี่ยบัณฑิตจบใหม่มีเงินเดือน 15,000 บาท จึงมีไม่น้อยไปรับจ้างชั่วคราว เช่น ไรเดอร์ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการทำงานหนักและไม่มีสวัสดิการ

โจทย์สำคัญของไทย คือ การพัฒนาทักษะคนไทยที่โลกใหม่ต้องการ โดยให้ผลตอบแทนสูงและมีเงื่อนไขการทำงานดีขึ้น ซึ่งเสนอโมเดลใหม่ต่างประเทศ ดังนี้ โมเดลของ Generation ผลิตหลักสูตรระยะสั้น แต่สร้างงานรายได้ดี ด้วยการออกแบบและปรับปรุงหลักสูตรร่วมกับนายจ้างจึงสร้างแรงงานมีทักษะที่ใช้ได้จริง 

โมเดลมหาวิทยาลัย Purdue ทำสัญญาแบ่งรายได้กับผู้เรียน โดยให้เข้ามาเรียนก่อนแล้วให้จ่ายคืนเป็นส่วนแบ่งรายได้หลังเรียนจบเป็น 10 ปี ซึ่งมีมหาวิทยาลัยบางใช้ระดับปริญญา โมเดล Lambda School เป็นโมเดลที่น่าสนใจ คือ หากผู้เรียนไม่ได้งานไม่ต้องจ่ายค่าเรียน จึงมีความรับผิดชอบต่อผู้เรียนสูงมาก และหากได้งานดีจะมีสัญญาแบ่งรายได้ 17% ช่วง 2 ปีแรก จ่ายสูงสุดไม่เกิน 30,000 ดอลลาร์

นอกจากนี้ มีโมเดลน่าสนใจของสิงคโปร์และอังกฤษที่ภาครัฐส่งเสริมเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยให้ความสำคัญกับการช่วยให้ประชาชนสร้างทักษะใหม่หลังโควิด-19 ด้วยการให้ทุนฝึกอบรมโดยตรงแทนการให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้อุดหนุน ทำให้ผู้เรียนมีอำนาจตัดสินใจเลือกเรียนทักษะที่ช่วยให้ตัวเองมีงานทำและรายได้ดี

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่รัฐในการสร้างความรับผิดชอบและขยายโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการพัฒนาทักษะโลกใหม่ ดังนี้ 

1.แจกคูปองฝึกทักษะ ให้คนอายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 6,000 บาท ทุก 3 ปี โดยเลือกฝึกทักษะที่ต้องการจากสถาบันที่ผ่านการรับรอง ซึ่งอนาคตอาจพัฒนาคูปองในรูปแบบ NFT เพื่อป้องกันไม่ให้ขายสิทธิ

2.สร้างความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม โดยจะต้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการมีงานทำและรายได้ของผู้เรียนรายสถาบันและสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเข้าเรียน 

3.ลดข้อจำกัดในการผลิตวิชาชีพที่มีความต้องการสูง เช่น ผู้ช่วยพยาบาล และพยาบาล 

4.ภาครัฐควรเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อไม่ให้ตกหล่น