สุมหัวคิด เดินสู่เป้าหมาย D&I ฉบับ 'เจนเนอราลี่'

สุมหัวคิด เดินสู่เป้าหมาย D&I ฉบับ 'เจนเนอราลี่'

ทำไม? เจนเนอราลี่ จึงให้ความสำคัญและมุ่งขับเคลื่อนในเรื่องของ Diversity & Inclusion หรือที่เรียกย่อๆว่า D&I

"บัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์  ให้เหตุผลว่าก็เพราะมองเห็นแต่ข้อดี

"เพราะมันทำให้การเข้าถึงลูกค้าทำได้ดีขึ้น  การมีแบ็คกราวน์ที่แตกต่างกันทำให้เกิดประสิทธิภาพในแง่โปรเซสของงานด้วย  เปรียบว่าครอบครัวเราที่เดิมอาจทำนาอย่างเดียวแต่พอวันหนึ่งต้องทำสวนด้วย เราก็อาจไปไม่เป็นแต่ถ้าคนในครอบครัวเรามีคนที่ทำสวนได้ เขาก็จะให้คำปรึกษา ช่วยให้แรงงานที่เคยทำนาไปทำสวนได้" 

ในแง่ประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเองในฐานะผู้บริหาร ทุกครั้งที่มีการประชุมบอร์ดบริหารเขาก็มักจะได้รับข้อคิดเห็นดี ๆจากผู้บริหารคนอื่นที่มาจากแบ็คกราวน์ที่แตกต่างกันไป แม้ความคิดเห็นเหล่านั้นอาจไม่ได้ส่งผลหรือทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไป แต่มันช่วยสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นว่าเป็นการตัดสินใจที่ได้มาจากการมองทุกอย่างครอบคลุมแล้ว  ซึ่งลดความเสี่ยงในสิ่งที่อาจมองข้ามหรือความไม่รู้ 

"ต้องบอกว่าก่อนเกิดโควิด-19  ตัวผมเองก็ไม่ค่อยเชื่อในเรื่องของเวิร์คฟอร์มโฮมเท่าไหร่  ขณะที่บริษัทของเรามีแผนที่จะให้พนักงานเราทำงานที่บ้านภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ ก็เกิดโควิดขึ้นเสียก่อนแต่บริษัทเราทำทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว ในวันที่ 15 มีนาคมเราสามารถประกาศให้พนักงานเวิร์คฟอร์มโฮมได้ทันทีถึง 90%  มีคนมาทำงานที่ออฟฟิศแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งจะทำแบบนี้ไม่ได้ถ้าไม่มี D&I"

ปัจจุบันทีมผู้บริหารเจนเนอราลี่ ประเทศไทยมีภาพของ D&I ที่ค่อนข้างชัด เนื่องจากเป็นคนถึง 7 เชื้อชาติ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง เกาหลี ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ อังกฤษ และอิตาลี   เมื่อเจอวิกฤติโควิดก็ได้มีการระดมความคิดกัน  ผู้บริหารจากอังกฤษเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้ ผู้บริหารที่มาจากอิตาลีผ่านประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง  ขณะที่ผู้บริหารที่มาจากฮ่องกงเคยผ่านโรคระบาดซาร์ส เคยใช้วิธีแบบนี้  ฯลฯ  ดังนั้นจากที่เคยคิดว่าการเวิร์คฟอร์มโฮมอาจต้องใช้เวลาเตรียมพร้อม 6-7 เดือน กลับใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่ามาจากมุมมอง และประสบการณ์ที่หลากหลายนั่นเอง 

เมื่อถามถึงเป้าหมาย  D&I  ของเจนเนอราลี่ ประเทศไทย  บัณฑิตบอกว่าในปีนี้ที่มุ่งเน้นในเรื่องความสมดุลของเพศชาย เพศหญิง  เจนเนอเรชั่น  และการสร้างวัฒนธรรมที่ให้พนักงานทุกคนรู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ มีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน  ทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถพูดหรือท้วงติงมาที่ซีอีโอได้ทุกเวลาหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

"เป้าหมายนี้กำหนดมาจากโกลบอลเลย ว่ามาตรฐานแต่ละเรื่องต้องเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็ทำได้ตามเป้า ก็เพราะเราได้ทำหลายเรื่องล่วงหน้าไปแล้ว ถามว่าอะไรคือปัจจัยสำเร็จ ผมคิดว่าคงเป็นแพชชั่นของทีมผู้บริหาร  เราได้บอกให้พนักงานรู้ว่าเรื่องนี้มันสำคัญอย่างไร และทำตัวเป็นตัวอย่างให้เห็น เวลาสำเร็จก็ให้รางวัลเพื่อย้ำว่ามันสำคัญ แต่ถ้ามีอะไรที่ไม่ใช่ผมก็จะพูดตรงๆเหมือนกัน"

แต่ประเด็นที่น่าสนใจและทำเฉพาะเจนเนอราลี่ ประเทศไทยเท่านั้นก็คือ การให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมโดยการให้พนักงานแต่ละแผนกยกมือขันอาสาเข้ามาทำงานในทีมที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อน D&I ร่วมกับแผนก HR  บัณฑิตให้เหตุผลว่า ถ้าให้ HR ทำเพียงลำพังเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องของ HR เท่านั้น  เขาจึงให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมและมีโอกาสเลือกเองว่าต้องการจะโปรโมทเรื่องใด  เช่น พนักงานกลุ่ม LGBT ก็สามารถเข้ามาร่วมทีมเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับเรื่อง LGBT หรือพนักงานที่ที่เห็นคุณค่าเรื่องผู้หญิงก็อาสามาทำเรื่องผู้หญิง เป็นต้น 

 "ที่ผ่านมาตัวผมเองก็เคยเป็นพนักงานธรรมดา ๆคนหนึ่ง และโชคดีที่ผู้บริหารให้โอกาสผมได้ทำงาน มีโอกาสได้โชว์ว่า ผมทำได้  ก็เลยอยากมีโมเมนท์แบบนี้ให้กับคนอื่นบ้าง ให้ได้รู้สึกว่าฉันเป็นเจ้าของเรื่องนี้ และฉันก็ทำได้ทั้งยังสามารถส่งมอบมันอย่างสุดยอด ผมอยากสร้างโมเมนท์แบบนี้เยอะๆ ให้พนักงานที่มีแพชชั่นที่แม้งานที่ทำจะหนักอยู่แล้วแต่ก็ต้องการทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อสังคมด้วย  ถือเป็นการปลูกฝังเรื่องโอนเนอร์ชิฟให้กับพวกเขา  ซึ่งตัวผมจะไปนั่งประชุมกับพวกเขาด้วยตัวเอง และจะเล่าถึงตัวอย่างดีๆ ที่ประสบความสำเร็จให้ฟังว่าเขาทำได้อย่างไร ถึงแม้จะมีเงินทุนไม่มากแต่สามารถสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด " 

ในหมายเหตุว่า บัณฑิตได้รับการแต่งตั้งเป็นแชมเปี้ยน  D&I ของกลุ่มบริษัทในภูมิภาคเอเชีย  ซึ่งมาจากแพชชั่นและมีจิตอาสาล้วนๆ โดยไม่มีผลต่อการประเมินผลงานใดๆ  ขณะที่ตำแหน่งดังกล่าวจะต้องเป็นระดับซีเนียร์เมเนจเมนท์และต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้กลุ่มบริษัทเจนเนอราลี่ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย

"พอขึ้นเป็นผู้บริหารผมต้องทำงานกับคนที่หลากหลาย จึงเห็นความสำคัญว่าต้องขับเคลื่อน   D&I ภายในองค์กร  เพราะถ้าคนมองเห็นเหมือนกันหมด  อาจจะคิดดีแต่ก็จะดีไปในทางเดียวกัน และปัญหาอย่างอื่นก็จะตามมาเพราะเรามองไม่เห็น การฟังว่าคนอื่นพูด ทำให้การตัดสินใจยิ่งกระชับ ทั้งป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากขึ้น ถามว่า D&I จะทำให้การบริหารยากขึ้นหรือไม่ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารถ้าไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัดสินใจ หรือเป็นการตัดสินใจโดยที่ไม่ฟังคนอื่น องค์กรก็จะเข้าสู่โหมดการไม่พูด ซึ่งอาจบริหารง่าย แต่ก็จะไม่มีความสำเร็จ"

เขาบอกว่าในวันนี้ เจนเนอราลี่ มุ่งก้าวสู่ระดับท้อบ 10 ในธุรกิจประกันของประเทศไทย แต่นั่นหมายถึงการต้องก้าวข้ามบริษัทที่ใหญ่กว่าเป็นหลายเท่าตัว ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งพลังและความสามารถของพนักงานทุกคนภายในองค์กร

" เราอยากโตแบบยั่งยืน ที่ผ่านมาเราก็ทำได้ดี  จริง ๆในปีนี้เราวางแผนจะโต 30% และก็น่าจะจบได้ตามแผน  ในช่วงสิ้นปีอย่างนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายก็ยิ่งสำคัญเพราะเศรษฐกิจของประเทศก็ยังดิ่ง  การจับจ่ายของคนลดลง เราเปิดประเทศยังไม่ได้ ทั้งมีเรื่องการประท้วง ในระยะยาวเห็นชัดว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจจริงๆ"