การบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ | พงศ์นคร โภชากรณ์

การบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทอล์คออฟเดอะทาวน์คงหนีไม่พ้นเรื่องของแพง จริง ๆ แล้ว ข้าวของแพงเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ 2 – 3 เดือนสุดท้ายของปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักสด เครื่องประกอบอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง

ราคาผักสด เครื่องประกอบอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 15.5% 6.2% และ 26.3% ในเดือนธันวาคม 2564 เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 ตามลำดับ แต่ที่เป็นประเด็นร้อนตั้งแต่ต้นปี คือ ราคาหมู ไก่ ไข่ไก่ ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น จนอาจจะส่งผลต่อเงินเฟ้อได้ 
    แต่หลายอย่างรัฐบาลดำเนินการแก้ไขไปแล้วโดยการบริหารจัดการที่ตัว “ผู้ขาย” สินค้าในตลาด แต่ผมคิดว่ามีอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถรับมือกับข้าวของแพงได้ โดยการช่วยที่ตัว “ผู้ซื้อ” เครื่องมือนั้นคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 

เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ใช้เป็นมาตรวัดว่าข้าวของแพงหรือไม่แพงนั้น คือ “เงินเฟ้อ” (Inflation) ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าในตลาด 430 รายการ ที่กระทรวงพาณิชย์ติดตาม

ถ้าของแพงขึ้นแปลว่าเงินเฟ้อสูงขึ้น ถ้าของไม่แพงหรือถูกลงแปลว่าเงินเฟ้อลดลง

เมื่อไรที่ราคาข้าวของแพงขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งประกอบด้วยคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย ขับรถรับจ้างสาธารณะ ลูกจ้างทั่วไป เกษตรกรรายย่อย ๆ ตลอดจนผู้สูงอายุและคนพิการ

เพราะการสูงขึ้นของราคาสินค้าจะกระทบต่อความต้องการซื้อ (Purchasing to pay) และกำลังซื้อ (Ability to pay) พร้อม ๆ กัน และเมื่อสถานการณ์นี้มาเกิดขึ้นในยุคโควิด-19 ยิ่งทำให้ความต้องการซื้อและกำลังซื้อลดลง ตามรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้การบริโภคของผู้มีรายได้น้อยลดลงมากกว่าเดิม กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม 

ต้องไม่ลืมว่า

1) การบริโภคภาคครัวเรือนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วนมากถึง 55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า GDP รัฐบาลจึงต้องพยุงการบริโภคเอาไว้ให้ได้

 2) ผู้มีรายได้น้อยเฉพาะที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวน 13.5 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีการใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 9.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 73% ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

รัฐบาลจึงต้องช่วยผู้มีรายได้น้อยก่อนกลุ่มอื่น โดยเส้นความยากจน (Poverty line) เป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากต้นทุนหรือมูลค่าในการได้มาซึ่งอาหาร (Food) และสินค้าบริการในหมวดที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) ที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตขั้นต่ำของปัจเจกบุคคลเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

คนที่มีการใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นนี้ถือว่าเป็นคนจน จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ในปี 2563 เส้นความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ในแต่ละจังหวัดก็มีระดับเส้นความยากจนไม่เท่ากัน 

การบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ | พงศ์นคร โภชากรณ์

แม้ข้อมูลเส้นความยากจนล่าสุดจะเก่าไปหน่อย แต่ก็พออนุมานได้ว่า ผลของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นบางช่วงในปี 2564 และ 2565 จะถูกคำนวณอยู่ในเส้นความยากจนของปี 2564 และ 2565 ทั้งในกลุ่มอาหารและไม่ใช่อาหารด้วยอยู่แล้ว

ฉะนั้น ผมจึงขอใช้เส้นความยากจนแทนเส้นที่สะท้อนค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด และใช้วงเงินของสวัสดิการต่าง ๆ ที่ใส่ไว้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประกบให้เห็นในเชิงเปรียบเทียบเป็นรายจังหวัด (ตามภาพ) 

วงเงินที่อยู่ในบัตรสวัสดิการประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 วงเงินเพื่อซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น ในร้านธงฟ้าราคาประหยัด ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้าน และร้านถุงเงินประชารัฐ

โดยมีวงเงินสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี อยู่ที่ 300 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้อยู่ที่ 200 บาทต่อคนต่อเดือน และยังมีวงเงินค่าก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

กลุ่มที่ 2 วงเงินค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่าน้ำประปา อยู่ที่ 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

กลุ่มที่ 3 วงเงินค่าโดยสารสาธารณะ โดยค่ารถไฟอยู่ที่ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่ารถ บขส. อยู่ที่ 500 บาทต่อคนต่อเดือน และค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า BTS MRT และ ARL สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

กลุ่มที่ 4 วงเงินเพิ่มเบี้ยคนพิการ ที่ 200 บาทต่อคนต่อเดือน

ฉะนั้น รวม ๆ แล้วผู้มีรายได้น้อย 1 คนจะได้รับความช่วยเหลือเฉลี่ยประมาณ 1,975 บาทต่อคนต่อเดือน และเมื่อนำไปเทียบกับเส้นค่าครองชีพหรือเส้นความยากจนที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน

จะพบข้อสรุปที่สำคัญมาก คือ ในภาพรวมของประเทศ บัตรสวัสดิการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้ 72% ของภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือมีช่องว่างเหลือประมาณ 787 บาทต่อคนต่อเดือน คำนวณจากพื้นที่ใต้เส้นสีแดงในภาพของทุกจังหวัดรวมกัน   

ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะดี ถ้ามีมาตรการเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 ข้อ ดังนี้ 
1) เพิ่มวงเงินเพื่อซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น ทั้งในวงเงินซื้อของและซื้อก๊าซหุงต้มเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสูงข้าวของแพงจะคลี่คลาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการเพิ่มกำลังซื้อโดยใส่วงเงินเข้าช่อง e-Money เพื่อเปิดช่องให้ผู้ถือบัตรกดออกมาเป็นเงินสดได้ แม้จะยืดหยุ่นดี แต่รัฐบาลจะไม่รู้ที่ไปของเงิน 

2) เพิ่มช่องทางการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการขยายฐานร้านค้าและผู้ขับรถรับจ้างผ่านแอพลิเคชันถุงเงินประชารัฐให้มากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดสด ถนนคนเดิน เพื่อเอื้อให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงร้านค้า มอเตอร์ไซค์ สองแถว รถตู้ แท็กซี่ ที่รับชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มากขึ้น

การบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ | พงศ์นคร โภชากรณ์

อีกทั้งยังเป็นผลดีกับร้านค้าด้วยที่จะมีรายได้มากขึ้น ซึ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามียอดการใช้จ่ายผ่านร้านถุงเงินประชารัฐเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นนี้จะช่วยให้การสร้างฐาน Digital platform ให้รัฐบาลดำเนินนโยบายได้อีกมากในอนาคต


3) เพิ่มสวัสดิการค่าโดยสารทางเรือสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น เรือโดยสารในคลองแสนแสบปีละประมาณ 20 ล้านคน เรือด่วนแม่น้ำเจ้าพระยาปีละประมาณ 14 ล้านคน และเรือยนต์ข้ามฝากปีละประมาณ 35 ล้านคน

ทั้ง 3 เรือจำนวนคนตกฮวบฮาบในช่วงโควิด-19 ผมเชื่อว่าในจำนวนนี้มีผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการอยู่เยอะ โดยในสวัสดิการนี้อาจจะตั้งให้ไปกินสัดส่วนในวงเงินค่าโดยสารสาธารณะที่มีอยู่เดิมก็ได้ เพื่อตอบโจทย์การเดินทางหลายรูปแบบในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยรับมือกับเศรษฐกิจยุคโควิด-19 และยุคข้าวของแพงได้อีกด้วย 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด