โมเดลแก้จน ฉบับ‘ปิดทองหลังพระ’

โมเดลแก้จน ฉบับ‘ปิดทองหลังพระ’

ในการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.และ คสช.เมื่อต้นปีที่ผ่าน มีเสียงจากที่ปรึกษา คสช.

            ว่ามาตรการแก้ปัญหาให้เกษตรกรและคนยากจนของรัฐบาลยังไม่เห็นผลชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ สัปดาห์ต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ไปทำแผนงานแก้ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน” มาเสนอเพื่อที่จะได้ส่งต่อให้รัฐบาลขับเคลื่อนต่อไป

            แม้ระดับนโยบายจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือการแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จไม่สามารถทำได้ด้วยการเขียนแผนบนกระดาษแล้วสั่งการจากระดับบนเท่านั้น เพราะปัญหาความยากจนเกี่ยวข้องกับปัจจัยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ ปัญหาหนี้สิน และบางพื้นที่ความยากจนนำไปสู่การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เรียกได้ว่าหากไม่เข้าใจปัญหาในแต่ละพื้นที่ก็ยากที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง

          สัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล ณ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี พัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ความยากจนที่ได้ผล

          “เผด็จ นุ้ยปรี” นายกฯ อบจ. อุทัยธานี เล่าว่า ต.แก่นมะกรูด มีชุมชน 4 หมู่บ้านชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง เดิม เกือบทุกบ้านยึดอาชีพปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดทำไร่ซากถางป่าเพิ่มพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ ต่อมานายทุนชักชวนชาวบ้านซื้อรถไถ ปุ๋ย และสารเคมี ชาวบ้านมีรายได้ต่ำและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 80 ล้านบาท หนี้สินที่เพิ่มขึ้นทำให้ชาวบ้านยิ่งบุกรุกพื้นที่ป่าขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปยิ่งเป็นอันตรายต่อชายป่าห้วยขาแข้งด้าน จ.อุทัยธานี ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากขึ้น

            จังหวัดอุทัยธานีจึงร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯวางแผนในการแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยตั้งคณะทำงาน 4 ด้านได้แก่ ด้านการกำหนดแนวเขตที่ดิน ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ และทีมปฏิบัติการระดับพื้นฐาน จากนั้นลงพื้นที่เดินสำรวจร่วมกับชาวบ้านเพื่อให้เห็นปัญหาและโอกาสในพื้นที่ร่วมกัน นำมาสู่ข้อสรุปว่า ต้องเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกไม้ผลและทำเกษตรผสมผสาน เนื่องจากการปลูกไม้ผลสร้างรายได้ดีกว่า ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องถางป่า แต่สามารถปลูกพืชในพื้นที่เดิมได้โดยอาศัยการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ให้เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกซึ่งก็ทำได้โดยการสร้างฝายเกษตรและฝายเพื่ออุปโภคบริโภคให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

            ทุกวันนี้เกษตรกรแก่นมะกรูดซึ่งผันตัวเองมาปลูกไม้ผลเมืองหนาวอย่างสตรอว์เบอรี่เริ่มรับรู้รายได้ เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยี่ยมชมและชิมสตรอว์เบอรี่ถึงแปลงปลูก เกษตรกรบางรายมีรายได้ถึง 105,000 - 120,000 บาทต่อการปลูกหนึ่งฤดูกาลผลิต สูงกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลายเท่าตัว ส่วนพืชผลอื่นๆ ก็นำมาขายในตลาดชุมชนได้

          “แก่นมะกรูด” จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มูลนิธิปิดทองหลังพระนำเอาหลักการ “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้คนในพื้นที่เข้าใจปัญหา ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมเห็นประโยชน์ และร่วมลงมือทำ แปลง “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดหนี้สิน และยังช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าได้อีกด้วย