ได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มศักยภาพในการส่งออกแล้ว | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มศักยภาพในการส่งออกแล้ว | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

นับตั้งแต่รัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าตลาด มีผลทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลงทุกปี

จากเดิมที่เคยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นเวลาติดต่อกันสามสิบกว่าปี   อันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าวทำให้ต้นทุนราคาข้าวสูงขึ้นและมีปัญหาคุณภาพข้าว   สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยยิ่งเลวร้ายลงจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ราคาข้าวไทยที่แพงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว ยิ่งแพงเพิ่มมากขึ้น 

ประกอบกับประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ผลผลิตต่อไร่สูง และมีพันธุ์ข้าวหลากหลายสนองความต้องการของตลาด จึงได้เปรียบข้าวไทยที่ต้นทุนถูกกว่าและมีข้าวหลายพันธุ์หลากหลายฯสนองความต้องการของผู้ซื้อได้

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเห็นว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ข้าวไทย ยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไป การส่งออกข้าวไทยคงมืดมนไม่มีทางฟื้นกลับมาส่งออกได้มากเช่นในอดีต ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาหลายประการ ประการสำคัญคือมีผลกระทบต่อชาวนาผู้ปลูกข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีผลกระทบต่อความเจริญเติบโตของการผลิต  การค้าข้าวไทยแน่นอน

โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาลดลง ทำอย่างไรจึงจะมีข้าวชนิดต่างฯ สนองความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ เพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมกับกรมการข้าว สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว    และกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำโครงการการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ขึ้น 

มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ได้ ค้นคว้าพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ประเภทต่างที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง   ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว    เมื่อสีแปรเป็นข้าวสารแล้วได้ข้าวสารในสัดส่วนที่สูงต่อปริมาณแกลบและรำ และเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพดีตามตามมาตรฐานข้าวไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต คือให้ผลิตข้าวตามที่ตลาดต้องการ

การประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ครั้งที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี 2564  กำหนด ประเภทข้าวที่จัดประกวด คือข้าวหอมไทย   ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวขาวพื้นนุ่ม  ได้ดำเนินการจนได้ผู้ชนะการประกวด และมีพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธุ์2565 ดังนี้

- รางวัลชนะเลิศประเภทข้าวหอมไทยได้แก่ข้าวพันธุ์ PTT1303 จากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี รางวัลชมเชยข้าวพันธุ์  BioH95- CNT จากศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท
- รางวัลชนะเลิศ ประเภทข้าวขาวพื้นนุ่มได้แก่ข้าวพันธุ์ RJ44 จากบริษัทรวมใจพัฒนาความรู้จำกัด รางวัลชมเชยได้แก่ข้าวพันธุ์ CNT15171 จากศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท
- รางวัลชนะเลิศประเภทข้าวขาวพื้นแข็งได้แก่ข้าวพันธุ์PLS16348 จากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก รางวัลชมเชยได้แก่ข้าวพันธุ์CNT07001 จากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก

การประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ครั้งที่1 นี้ทำให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นประเภทละ2 พันธุ์มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ
             
 การดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย 
              เป็นการดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชข้าวที่ชนะการประกวดและขอการรับรองเป็นพันธุ์พืชรับรอง ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ,ศ.2518             
              การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชข้าวที่ชนะการประกวด เป็นการดำเนินการที่ได้รับการบันทึกประวัติหลักฐานที่มาของพันธุ์ ลักษณะประจำพันธุ์ของข้าวนั้น
            การขอหนังสือรับรองพันธุ์ เพื่อแสดงว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการทดสอบ ตรวจสอบหรือวิเคราะห์คุณภาพหรือคุณสมบัติแล้ว

การกระจายจำหน่ายจ่ายแจกพันธุ์ข้าว
 ในระหว่างที่ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวและขอหนังสือรับรองพันธุ์   เจ้าของพันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวด  ก็สามารถนำพันธุ์ข้าวดังกล่าวไปผลิตเมล็ดพันธุ์และจำหน่ายจ่ายแจกพันธุ์ข้าวดังกล่าวให้ถึงเกษตรกรปลูกข้าวต่อไป คาดว่าจะมีการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่และมีผลผลิตสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ภายในหนึ่งปี

อีกขั้นตอนหนึ่งคือเป็นกรณีที่นักปรับปรุงพันธุ์ขอจดทะเบียนพืชพันธุ์ใหม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เมื่อจดทะเบียนแล้วจะได้รับการคุ้มครองทำนองเดียวกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นฯ ที่ผู้ทรงสิทธิในข้าวพันธุ์ใหม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ขายหรือจำหน่ายด้วยประการใดฯ นำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือมีไว้เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของข้าวพันธุ์ใหม่ ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร

การดำเนินการด้านการตลาด
 เมื่อข้าวพันธุ์ใหม่กระจายไปสู่ชาวนาและขยายการเพาะปลูกออกไปทุกพื้นที่การเพาะปลูกที่เหมาะสมจนได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพการส่งออกข้าวไทยได้ดีขึ้น คือ

จะทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง เนื่องจากเป็นข้าวที่ทนทานต่อโรคพืชและแมลงศัตรูข้าว ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น ประกอบกับผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นก็จะทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลช่วยให้ต้นทุนการส่งออกลดลงได้  

ทำให้ผู้ส่งออกสามารถเสนอขายข้าวในราคาที่จะ แข่งขันกับคู่แข่งได้    และทำให้มีพันธุ์ข้าวที่จะเสนอขายต่อผู้ซื้อในต่างประเทศ ได้หลากหลายมากขึ้นไม่แพ้คู่แข่ง โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่ม ที่เป็นต้องการของผู้บริโภคในหลายประเทศ

เป็นหน้าที่ของเซลแมนที่จะเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ   ลักษณะประจำพันธุ์ของ ข้าวพันธุ์ใหม่ ความแตกต่างจากข้าวไทยที่เคยขายมานานให้ผู้ซื้อในต่างประเทศได้รับทราบ  หากเป็นสถานการณ์ปกติไม่มีโรคระบาด สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคงร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ จัดคณะเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกค้า พร้อมกับเสนอสินค้าข้าวพันธุ์ใหม่ให้พิจารณา  ตามที่เคยปฏิบัติในอดีต  แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ทั่วโลก  น่าจะมีความไม่สะดวกในการจัดทีมไปเยี่ยมลูกค้า ในช่วงนี้จึงต้องอาศัยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการน่าจะเหมาะสมและได้ผลดี

แต่การจะเสนอสินค้าข้าวพันธุ์ใหม่ให้ผู้ซื้อได้พิจารณาที่จะบังเกิดผลตามมา  เซลแมนผู้เสนอขายก็ควรจะต้องมีข้อมูลและมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้าวพันธุ์ใหม่อย่างดี  และเมื่อมีการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ มีผลผลิตสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้  

ในโอกาสที่หัวหน้าหรือเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศเดินทางมาราชการในกรุงเทพพร้อมกันหลายคน  ถ้ามีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องข้าวพันธุ์ใหม่ ใช้เวลาเพียงครึ่งวันให้แก่หัวหน้าสำนักงานหรือเจ้าหน้าที่   มีหัวข้อข้อมูลพื้นฐาน ลักษณะประจำพันธุ์  คุณภาพ ของข้าวพันธุ์ใหม่  ความรู้พื้นฐานมาตรฐานข้าวไทย  มีการหุงข้าวพันธุ์ใหม่สาธิตให้ได้เห็น ได้ชมได้ดม ได้ชิมก็น่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย.