กฎหมายสำคัญไม่ผ่าน ต้องยุบสภาหรือลาออกหรือไม่ | ชำนาญ จันทร์เรือง

กฎหมายสำคัญไม่ผ่าน ต้องยุบสภาหรือลาออกหรือไม่ | ชำนาญ จันทร์เรือง

ผมลองตั้งคำถามว่า ถ้ากฎหมายสำคัญที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ผ่านสภา แล้วรัฐบาลไม่ยุบสภาหรือลาออกซะอย่างจะได้หรือไม่

เพราะตามธรรมเนียมหรือประเพณีของการปกครองระบบรัฐสภาที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลก ถ้าสภาคว่ำร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย หรือพระราชกำหนดต่างๆ ฯลฯ นายกรัฐมนตรีมีทางเลือก 2 ทาง คือลาออก หรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา

คำตอบที่ผมได้รับก็คือไม่ได้ ต้องยุบสภาหรือลาออกเท่านั้น ผมก็ถามต่อว่ามีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับไหน คำตอบก็คือไม่มี มีแต่ธรรมเนียมหรือประเพณีการปกครอง 

ซึ่งเมื่อมาดูสถานภาพของรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้มีที่มาตามธรรมเนียมหรือประเพณีฯ เพราะใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.มายกมือให้คนนอกเป็นนายกฯ และพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้มาจัดตั้งเป็นรัฐบาลแต่อย่างใด

๐ ปกติแล้วในระบบรัฐสภาจะมีการยุบสภาหรือลาออกในกรณีใดบ้าง

การยุบสภา

1.กรณีที่กฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่าน จึงยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสิน

2.กรณีที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าคะแนนนิยมของตนเองเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะสามารถมี ส.ส.ฝ่ายตนหรือพรรคตนเข้าสภามามากกว่าเดิม เพื่อที่จะได้ผ่านกฎหมายหรือนโยบายได้ง่ายขึ้น (อังกฤษใช้บ่อย)

3.กรณีรัฐบาลที่จัดตั้งมีลักษณะเป็นรัฐบาลผสม นายกฯ ไม่อาจควบคุมการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลได้ เช่น การยุบสภาสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2519

4.กรณีที่สภาฯ อยู่ใกล้ครบวาระ 4 ปี (หรือ 5 ปีในบางประเทศ) ก็ยุบก่อน เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งกรณียุบสภาจะมีกำหนด 45-60 วัน (รัฐธรรมนูญ มาตรา 103) และผู้สมัครสามารถสังกัดพรรคใหม่ได้ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน แทนที่จะต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน (รัฐธรรมนูญ มาตรา 102) และต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน หากสภาอยู่จนครบวาระ

นอกจากนั้นในต่างประเทศอาจเป็นกรณีไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลยุบสภาเพราะเหตุสภาล่มด้วยเหตุองค์ประชุมไม่ครบแต่อย่างใด

การลาออก

1.ใช้ในกรณีที่กฎหมายสำคัญไม่ผ่านสภา เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออกเนื่องจากการที่สภาฯ ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบการทำสนธิสัญญาจำกัดยางกับต่างประเทศ เมื่อปี 2477, จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกเนื่องจาก ส.ส.ไม่อนุมัติร่าง พ.ร.ก.นครบาลเพชรบูรณ์ เมืองหลวงแห่งใหม่ เมื่อปี 2487 เป็นต้น

2.ใช้ในการแสดงความรับผิดชอบในกรณีเกิดความผิดพลาดในนโยบายสำคัญๆ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติในบ้านเมืองได้ เช่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันเมื่อปี 2523, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นต้น

3.เพราะถูกกดดัน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออกด้วยผลอันมาจากการอภิปรายทั่วไป แม้ว่าจะไม่ได้มีการลงมติกรณีการทุจริตในการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ เมื่อปี 2480 (มีหลายคนแอบหวังว่าการเปิดอภิปรายทั่วไปใน 17-18 ก.พ.2565 จะส่งผลเช่นนั้นด้วย), 

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะได้รับการลงคะแนนไว้วางใจจากเสียงส่วนมากในสภา แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกหลังมีกระแสกดดันอย่างรุนแรงในสังคม เมื่อปี 2490, นายควง อภัยวงศ์ ลาออกเนื่องจากถูกทหารบังคับให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อปี 2491 เป็นต้น

4.เพื่อปรับคณะรัฐมนตรี พูดง่ายๆ ก็คือ แทนที่จะปรับเล็กๆ น้อยๆ ก็ลาออกเพื่อปรับสูตรรัฐบาลผสมใหม่เสียเลย เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2485, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2533 เป็นต้น

นอกจากนั้นก็เป็นเหตุผลอื่นในการลาออก เช่น เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพเพื่อรอตัวจริง ในกรณีนายทวี บุณยเกตุ เป็นเพียง 17 วัน เพื่อรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อปี 2488 หรือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกเนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลลาออกเพราะเหตุสภาล่มด้วยเหตุองค์ประชุมไม่ครบแต่อย่างใด

ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรหากรัฐบาลปัจจุบันไม่ยุบสภาหรือลาออกถ้ากฎหมายสำคัญไม่ผ่านสภาฯ

แม้ว่าจะเป็นเพียงธรรมเนียมหรือประเพณีการปกครองที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่รัฐบาลอาจจะยื้อได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปทันที จะไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญอะไรได้อีก การบริหารราชการแผ่นดินจะประสบวิกฤติอย่างหนัก

มีบางคนบอกว่าก็ออกเป็นพระราชกำหนดสิ กลับมาเข้าสภาไม่ผ่านก็ไม่ผ่านแต่มีผลใช้บังคับไปแล้ว ซึ่งมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะเศรษฐกิจจะล่มสลาย ตลาดหุ้นก็จะพัง ต่างประเทศไม่ให้การรับรองความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ฯลฯ

๐ทางเลือกที่เหลือน้อย

จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดรอยร้าวในพรรคหลักของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล จนพรรคภูมิใจไทยที่มี ส.ส.อยู่ในมือถึง 59 คน (ยังไม่รวมที่ฝากเลี้ยงอีก) ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม ครม. และยังมี “หอกข้างแคร่” คือ กลุ่มคุณธรรมนัสที่มีคุณประวิตรหนุนหลังอยู่อีก ฯลฯ ทางเลือกคุณประยุทธ์จึงเหลืออยู่น้อยนิด แม้ว่าจะอยากอยู่ต่อสักเพียงใดก็ตาม

หากเลือกด้วยการลาออกโดยหวังว่าจะใช้เสียง ส.ว.ช่วยเหมือนเดิมก็น่าจะยากแล้ว เพราะ ส.ว.ก็เหลือเวลาเพียงเล็กน้อยเช่นกัน จะปลดก็ทำไม่ได้ ที่สำคัญคือคนที่เสนอชื่อ ส.ว.ชุดนี้ก็ไม่มีแต่คุณประยุทธ์เพียงคนเดียว ยังมีคุณประวิตรและคนอื่นอีก

แม้ว่าคุณประยุทธ์จะเป็นคนเซ็นก็ตาม แต่ก็เซ็นในฐานะ คสช.ซึ่งไม่มีแล้ว คุณประยุทธ์จึงอยู่ในสภาพ “ขาลอย” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เหลือของพรรคต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันก็ไปกันเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงคุณอนุทินเท่านั้น มีหรือที่คุณประยุทธ์จะยอม

ครั้นจะเปลี่ยนขั้วมาหยิบเอาฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาลโดยให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อีกไม่ถึงปี ก็คงไม่มีพรรคไหนคิดสั้นขนาดนั้น

ฉะนั้น ในสภาวการณ์ “จนตรอกทางการเมือง” เช่นนี้ จึงเหลือเพียงการยุบสภาเท่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าคงไม่ช้านัก เพราะหากขืนปล่อยให้มีการยื่นเปิดอภิปรายแบบมีการลงมติขึ้นมา อาจเจอกับภาวะ “การดับสยอง”กลางสภาได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสอง ยังบัญญัติไว้อีกว่าหากเมื่อยื่นแล้วยุบสภาหนีไม่ได้อีกด้วยนะครับ.