รัฐบาล “ประยุทธ์” เลือกสักทางเถอะ

รัฐบาล “ประยุทธ์” เลือกสักทางเถอะ

ไม่เฉพาะรัฐสภาที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่านั้น แต่รัฐบาลชุดนี้กำลังเผชิญ ครม.ที่ไม่เป็นมิตรด้วย เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (8 ก.พ.) รัฐมนตรีทั้ง 7 ท่านของพรรคภูมิใจไทย ตัดสินใจบอยคอตไม่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์ "สภาล่มซ้ำซาก" ถือเป็นวิบากกรรมสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะเดินต่ออย่างไรดี

เมื่อสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลได้ จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้รัฐสภามีเสถียรภาพกลับมาทำหน้าที่ตามปกติที่ควรจะเป็น และรัฐสภาที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลเช่นวันนี้ ยากที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะทำเรื่องยากหรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลจึงไปต่อยาก

แต่วิบากกรรมยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะตอนนี้ไม่เฉพาะรัฐสภาที่ไม่เป็นมิตรเท่านั้น  แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญ ครม. ที่ไม่เป็นมิตรเช่นกัน เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ รัฐมนตรีทั้ง 7 ท่านของพรรคภูมิใจไทย ตัดสินใจบอยคอต ไม่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แต่เป้าหมายเหมือนกันคือ ไม่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี

หลังมีการบรรจุวาระพิจารณา “ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” บทสรุปออกมาว่า ยังไม่มีการลงมติ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมจาก กทม. แล้วค่อยกลับมาพิจารณาใหม่

 

โครงการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือเป็นประเด็นตกค้างมาตั้งแต่ ปี 2562 ในรัฐบาล คสช. ที่ใช้มาตรา 44 ในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ กทม. ที่รับโครงการมาจาก รฟม.

แต่ผ่านมา 3 ปี ทุกอย่างยังถกเถียงในเรื่องคำถามเดิมๆ ที่คมนาคมถามมาตลอดในเหตุผลคัดค้านเพื่อไม่ให้โครงการนี้ผ่าน เช่น ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพราะในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ไม่มีการเสนอความเห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานควรมีการประกวดราคาหรือควรเจรจาต่อรองกับเอกชนรายเดิม

ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาถึงการใช้สินทรัพย์ว่า รัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

แถมยังมีประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ก็ได้ดำเนินการชี้แจงมาต่อเนื่องแล้ว แต่ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาจุดร่วมกันได้ และตัวแปรสำคัญถูกตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังบีทีเอสได้เข้าร่วมประมูลและดำเนินการฟ้องร้องมากมาย หลังมีการปรับเปลี่ยนทีโออาร์ สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

 

ถึงตอนนี้ แต่ละฝ่ายย่อมมีเหตุผลของตัวเองที่ต้องพิสูจน์หลักการ เหตุผล แต่หัวใจสำคัญคือรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่ของตัวเอง คำถาม การบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ถือเป็นการทำหน้าที่หรือไม่ จริงอยู่แต่ละท่านมีเหตุผลในการลาประชุม แต่เป็นความบังเอิญเกินไปที่จะลาพร้อมกัน 7 คนจากพรรคเดียวกัน โดยไม่ได้นัดหมาย

เราวิจารณ์ ส.ส. ที่อยู่ในสภาแต่ไม่แสดงตน เราวิจารณ์ ส.ส. ที่โดดการประชุม เพราะไม่ทำหน้าที่ตัวเอง รัฐมนตรีก็เช่นกัน เป็นตัวแทนประชาชนที่ต้องบริหารประเทศ หากวาระอะไรที่ไม่เห็นด้วย ก็ควรเข้าร่วมประชุม คัดค้านออกมา ให้มีการบันทึก แต่ไม่ใช่เลือกการบอยคอต

ดังนั้น หากปล่อยเป็นแบบนี้จะเกิดคำถามและปัญหาตามมาอีกมาก สะท้อนถึงภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล สะท้อนถึงมารยาทคณะรัฐมนตรี สะท้อนว่าหลังจากนี้เรื่องปฏิรูปประเทศ ประชาชนก็หวังพึ่งพาได้ยากเช่นกัน

ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ควรปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อประชาชน ปรับครม. ลาออก หรือยุบสภา การไม่ทำอะไรเลย นายกรัฐมนตรีอาจอยู่ในอำนาจต่อไปได้ แต่ประชาชนอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว