รัฐสภา รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.กำหนดเวลางานยุติธรรม

รัฐสภา รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.กำหนดเวลางานยุติธรรม

รัฐสภา 601 เสียง รับหลักการ ร่างกฎหมายกำหนดระยะเวลางานยุติธรรม หลังถกนาน5ชั่วโมง พร้อมมีข้อเสนอให้ เพิ่ม กกต. -สตง. เป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

           ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....ซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยมติ 601 เสียง ต่อไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาเกือบ 5 ชั่วโมง จากนั้นได้ตั้งกมธ.วิสามัญ จำนวน 35 คนพิจารณา

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินงานทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า มีสาระรวมทั้งสิ้น 12 มาตรา มีบทบัญญัติกำหนดให้ 9หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กรมพระธรรมนูญ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ศาล , องค์กรอัการ และ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา กำหนดระะพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ พร้อมกำหนดรายละเอียด

 

           อาทิ ให้มีการดำเนินการทางวินัย กับเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม หากทำงานล่าช้าเกินสมควรแก่เหตุและไม่มีเหตุสมควร พร้อมให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิธีอื่นที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลโดยสะดวก

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกรัฐสภาที่อภิปรายส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ได้เสนอแนะความเห็น ต่อการเพิ่มหน่วยงานที่ต้องถูกบังคับตามร่างกฎหมายดังกล่าว อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ กกต. ไม่ถูกบัญญัติไว้ในร่างกฎหมาย อาจเป็นการจงใจของฝ่ายผู้มีอำนาจที่ต้องการใช้กลไกกกต. ที่กำกับการเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้งไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองได้

 

        รวมถึงมีข้อเสนอให้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เช่น กราราชทัณฑ์ กำหนดระยะเวลา หรือ รายละเอียดเกี่ยวกับการเลื่อนชั้นนักโทษ ในคดีร้ายแรง หรือมีผลเสียหายกับประเทศ คดีทุจริต เช่น คดีจำนำข้าว  เพื่อป้องกันการเลื่อนชั้นนักโทษที่มีผลต่อการพิจารณาลดโทษที่ไม่เหมาะสม.

        ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เวลาต่อมา รัฐสภา ได้พิจารณา ร่าง  พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….  ซึ่ง ครม. เสนอ และเมื่อสมาชิกรัฐสภาอภิปรายแล้วเสร็จได้ลงมติ โดยที่ประชุมเสียงเอกฉันท์545 เสียงรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว และตั้งกมธ.วิสามัญ ขึ้นมาพิจารณาต่อไป.