Country Strategist | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

Country Strategist | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

สภาวะเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้เสมือนหนึ่งคนไข้อาการหนักในห้อง ICU อันเป็นผลมาจาก covid และเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของบ้านเรา และนับวันอาการไข้มันหนักหน่วงแสนสาหัสขึ้นทุกวัน จนผู้คนบางกลุ่มแทบจะดำรงชีวิตไม่ได้

เพราะ covid อยู่กับสังคมไทยมา 3 ปี บวกการระบาดหลายระลอกซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหาร ประเด็นคือผู้บริหารของรัฐ “คนใหม่” ต้องหาภูมิคุ้มกันให้กับบ้านเมือง ทำให้คนในประเทศกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

ผมขอวิจารณ์ว่าที่ผ่านมาฝ่ายบริหารช่วยเหลือประชาชนด้วยการทำ consumer promotion ไม่ว่าจะเป็นการลดแลก แจกแถม ผมยอมรับว่า short term solution เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อช่วยประชาชนสามารถก้าวข้ามยุคที่ covid อาละวาดหนัก แต่ไม่ใช่ทำต่อเนื่องอย่างไม่หยุด เพราะ short term solution คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการบริหารทรัพยากรของประเทศโดยไม่ generate productive outcome 

ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่บอกได้ว่าประเทศเราต้องมีแผนแม่บทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเต็มรูปแบบสร้าง organic growth & new revenue stream เป็นแผนที่เร็ว ฉับพลัน แก้ตรงจุดที่หัวใจของปัญหา เป็นพิมพ์เขียวที่สามารถเชื่อมโยงทุก parameter เข้าหากัน เราต้องแก้ปัญหาด้วย strategic solution ไม่ใช่ tactical solution ที่ทำวนไปเวียนมาอย่างในทุกวันนี้ 

strategic solution ทำให้เรามีแผนที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะทำอย่างไร และทิศทางของเศรษฐกิจในอนาคตจะเดินไปทิศไหน พร้อมสร้าง competitive advantage ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

 ในทางกลับกัน tactical solution เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สิ้นเปลืองทรัพยากร ที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็น quick fix แก้ปัญหาวันต่อวัน แต่ทิ้งขยะกองใหญ่ซ่อนระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอไว้ใต้พรม เป็นซานตาคลอสใจถึง สร้างนโยบายประชานิยม มันไม่เห็นยากตรงไหน เพราะเงินไม่ใช่ของตัวข้าพเจ้า

การทำ quick fix ไม่ผิดครับ ถ้ารู้จักทำสะพานเชื่อมไปหา strategic solution ได้ strategic solution คือการสร้างเกมของตนเองให้ประเทศไทยได้เปรียบคู่แข่งหลายช่วงตัว เป็นเกมที่สร้างขึ้นมาโดยยืนอยู่บนความเก่งเฉพาะตัวที่คนไทยมี และคนบ้านเมืองอื่นไม่มี 
 

ผมมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมี Chief Strategist ที่มีความสามารถเขียนแผน quick fix ให้ประชาชนอยู่รอดในยามลำบาก พร้อมกับออกแบบยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เป็น Chief Strategist ที่เป็นนักยุทธศาสตร์ นักคิด มีความสามารถในการทำ implementation สิ่งที่ตัวเองคิดได้จริง 

ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะผมเห็น strategist เป็นจำนวนมากที่คิดเก่ง แต่ขาดความสามารถในการทำ implementation ประเด็นคือสิ่งที่ strategist พวกนี้คิดคือพิมพ์เขียวที่เขียนให้ห้องแอร์ เป็นเศษกระดาษที่ไร้คุณค่า เพราะนำไปใช้งานไม่ได้

อยากเข้าใจถึงความสำคัญของ Chief Strategist ผมคาดเดาว่าประเทศสิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 50 กว่าปีมายืนอยู่ที่ top of the world ได้ เพราะประเทศนี้ต้องมี strategist ช่วยผู้นำของประเทศวางแผนยุทธศาสตร์ผลักดันประเทศเล็ก ๆ ที่ครั้งหนึ่งเป็น “ประเทศหลังเขา” และไม่มีทรัพยากรของตัวเอง แล้วก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลกได้

 การบริหารประเทศจึงเปรียบเสมือนการทำสงคราม เวลาทำสงครามต้องมีทั้ง “แม่ทัพ” และ “เสนาธิการ” ถ้าขาดเสนาธิการ รบกี่ครั้งก็แพ้ทุกครั้งครับ

Contrarian strategist คือทางเลือกทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้มีความแข็งแกร่งและยกระดับให้เราเป็นผู้เล่นระดับโลก contrarain strategist คือการสร้างยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของการ “คิดสวนทาง” เป็นวิธีคิดว่าถ้าคนอื่นไปซ้าย ฉันจะไปขวา ชาวบ้านชอบสีขาว ฉันรักสีดำ 

คนที่จะเป็น contrarian strategist ที่เข้มแข็งไม่ใช่คิดสวนทางแบบฝันกลางวัน แต่ตั้งอยู่บนเสาเข็มของความมีตรรกะ มีเหตุและผลสนับสนุน พูดง่าย ๆ คนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องเอาสมองสองข้างทำงานร่วมกัน นำด้วยความคิดสร้างสรรค์แล้ว verify ด้วย logic 

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพลังของ contrarian strategist ผมขอเล่าเรื่องของนโปเลียน โบนาปาร์ตซึ่งเป็นกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส ผู้สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับดินแดนน้ำหอม ทำให้ฝรั่งเศสสามารถครอบครองพื้นที่ครึ่งหนึ่งของทวีปยุโรป อะไรคือปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ

 นโปเลียนคือหัวใจของความยิ่งใหญ่ นโปเลียนมีคุณลักษณะสามประการที่หาได้ยากในคนคนเดียวกัน หนึ่งเขาเป็นนักวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ชั้นเซียนที่ฝ่ายตรงกันข้ามคาดคิดไม่ถึง สองเป็นผู้นำทางความคิดที่สามารถกระตุ้นให้คนอื่นคล้อยตาม ประการสุดท้ายเขาเป็นนักสื่อสารตัวยง

นโปเลียนออกรบเป็นแม่ทัพครั้งแรกเมื่ออายุ 27 ปีในสงครามที่ Lodi หลังจากนั้นก็รบชนะมาตลอดนับครั้งไม่ถ้วน อายุได้ 36 เขาได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ของฝรั่งเศส มาดูกันว่านโปเลียนวางแผนอย่างไรจึงแพ้ไม่เป็น ด้วยความเป็นนักยุทธศาสตร์ นักคิด นโปเลียนวางแผนรบไม่เหมือนใคร 

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าการรบเมื่อสองร้อยปีก่อนคือการเอากองทัพปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ใครมีจำนวนมากกว่าก็จะได้เปรียบ นโปเลียนฉีกตำราพิชัยสงคราม โดยออกแบบยุทธศาสตร์ในการรบที่เน้นเรื่อง speed & strategy แผนของเขาล้ำยุคเกินกว่าจะคาดคิดว่าเมื่อสองร้อยปีที่แล้วจะมีคนคิดแผนยุทธการอย่างนี้ได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์ของนโปเลียนมีอยู่สองประการ ข้อที่หนึ่งนโปเลียนจัดทัพไม่เหมือนชาวบ้าน เขาจัดทัพแบบ modular architecture army เป็นการจัดกองทัพแบ่งเป็นทัพย่อย โดยที่ทัพของตัวนโปเลียนอยู่ตรงกลาง แล้วมีทัพหน้า ทัพซ้ายและขวา กับทัพสนับสนุน 

นโปเลียนเรียกกองทัพของเขาว่า corps unit กองทัพเหล่านี้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง สามารถรบกับข้าศึกได้ด้วยตัวเอง ข้อได้เปรียบของ corps unit คือมีคล่องตัวสูงมากในการเดินทัพ 

ลองนึกภาพอย่างนี้การเดินทัพของทหารหลายหมื่นคน กับการเดินทัพเป็นจำนวนพันคนอย่างไหนเร็วกว่ากัน ผู้อ่านมีคำตอบในใจ ไม่ต้องให้ผมเฉลย การจัดทัพย่อยของนโปเลียนทำให้เขาสามารถเดินทัพได้ 148 กม. ภายใน 48 ชั่วโมง ทำให้กองทัพของเขาไปถึงที่แนวรบก่อนฝ่ายตรงกันข้าม มีเวลาพักและมีความพร้อมมากกว่าเมื่อออกรบ การจัดทัพที่แยกกันเดิน แล้วไปรวมที่แนวรบ ทำให้นโปเลียนมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนแผนรบด้วยวิธี mix & match ไปตามสถานการณ์ที่สมรภูมิรบ

ยุทธศาสตร์ข้อที่สองคือการสื่อสาร นโปเลียนใช้การสื่อสารเป็นกระดูกสันหลังในการวางแผนรบ นโปเลียนสั่งแม่ทัพย่อยของแต่ละกองทัพว่าต้องรายงานสถานการณ์ที่แนวรบให้นโปเลียนรับรู้ตลอดเวลา การที่ป้อนข้อมูลตรงไปที่ผู้ตัดสินใจ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการวางแผนยุทธการ 

เป็นเรื่องเหลือเชื่อเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว นโปเลียนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารแบบ on-line มาสร้างความเป็นต่อในการรบ นอกจากนั้นตัวนโปเลียนยังเป็นคนที่มีพรสวรรค์สามารถอ่านเกมการรบได้ขาด เขาอ่านใจและเดาแผนการรบของข้าศึกได้ขาด และยังแหลมคมในการวางแผนที่เหนือชั้นกว่าคู่ต่อสู้ 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกประการหนึ่งคือเวลานโปเลียนวางแผนรบเสร็จแล้ว เขาจะนำแผนยุทธการไปเล่าให้แม่ทัพนายกองของตนเองฟัง เพื่อขอความเห็น ถ้ามีช่องโหว่ นโปเลียนยินดีรับคำวิจารณ์มาปรับแผนรบ ในทางตรงกันข้ามถ้าแผนมีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง การนำมาเล่าให้แม่ทัพนายกองทำให้คนเหล่านั้น buy in แผนรบไปในตัว สรุปเรื่องยาวเป็นเรื่องสั้น

 แผนการรบของนโปเลียนเน้นที่ความเร็ว ความยืดหยุ่น การปรับตัว และสร้างความประหลาดใจกับข้าศึก ถ้าจะพูดในบริบทยุคใหม่ แผนรบของนโปเลียนคือเน้นที่ time based competition นโปเลียนเอาชนะข้าศึกได้โดยใช้มิติของเวลาเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความได้เปรียบ พูดสรุปสั้น ๆ speed & strategy คือหัวใจในการทำศึกของนโปเลียน

ขอปิดท้ายว่า country strategist ที่จะแก้ปัญหาของประเทศต้องเข้าใจความจริงอันโหดร้ายว่า “คิดปกติคือผลลัพธ์ที่ราบเรียบ คิดผิดปกติสร้างสิ่งที่เกินคาดฝัน”.