ทำความรู้จัก 4 วัน ที่เป็น "วันแห่งความรัก" ของจีน

ทำความรู้จัก 4 วัน ที่เป็น "วันแห่งความรัก" ของจีน

อยากมีแฟนเป็นคนจีนต้องรู้! สารภาพรักให้ตรงวัน เมื่อ "วันแห่งความรัก" ของจีน ไม่ได้มีแค่ "วาเลนไทน์" เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมีหลายวันด้วยกัน จะมีวันไหนบ้างนั้นติดตามได้จากบทความนี้

ปัจจุบันคนจีนยุคใหม่ ให้ความสำคัญอย่างมากกับวัน “วาเลนไทน์” หรือ “วันแห่งความรัก” ตามแบบสากล โดยเฉพาะในศาสนาคริสต์  ซึ่งหนึ่งในของขวัญยอดฮิตของคนจีนที่มอบให้แก่กันในวันวาเลนไทน์ก็หนีไม่พ้น “ดอกกุหลาบ” 

โดยจากประสบการณ์ของอ้ายจงซึ่งเคยใช้ชีวิตในจีน ขอยืนยันว่า กุหลาบราคาพุ่งหลายเท่าจากราคาในช่วงปกติ ไม่ต่างจากสถานการณ์ช่วง วาเลนไทน์ ในบ้านเราเลย ซึ่งถึงแม้จะราคาแพงแต่ก็ถือว่าขายดี โดยเฉพาะช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด

ยกตัวอย่างในปี 2019 มีรายงานออกมาจาก People’s Daily สื่อทางการจีนระบุว่า ยอดขายดอกไม้ในจีนช่วงก่อนจะถึงและในวันวาเลนไทน์ รวมระยะเวลาราว 4 วัน ทะลุ 10 ล้านดอก โดยราคาเฉลี่ยดอกกุหลาบ อยู่ที่ราว 40 บาทไทย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะให้แต่ดอกกุหลาบนะ คนจีนจำนวนไม่น้อยนิยมให้ดอกไม้ และต้นไม้ชนิดอื่นๆ ที่สื่อถึงความหมายมงคล และสื่อถึงมิตรภาพ เพราะความรักไม่ใช่มีแค่เรื่องของรักแบบคู่ครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัย 30-40 ปี ขึ้นไป จะนิยมเช่นนี้ 

เมื่อวิเคราะห์จากพฤติกรรมค้นหาบนโลกออนไลน์จีน Baidu พบว่า ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมา ปริมาณการค้นหาคำว่า 情人节 (วันวาเลนไทน์) เพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่องจนถึงวันวาเลนไทน์ โดยเพิ่มจากราว 5,000 ครั้งต่อวัน พุ่งสูงถึงมากกว่าวันละ 85,000 ครั้ง ในช่วงวันวาเลนไทน์

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาตามวัฒนธรรมและความเชื่อของคนจีนเอง ทั้งสมัยโบราณและสมัยใหม่ คนจีนไม่ได้ยึดถือ วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เป็น วันแห่งความรัก เพียงวันเดียว หากทว่า ยังมีอีกหลายวันที่นับเป็นวันแห่งความรักของพวกเขาเช่นกัน

วันแห่งความรัก ของจีน เรียงลำดับวัน ตามลำดับในปฏิทิน มี 4 วัน ดังนี้

1. วันเทศกาลโคมไฟ 元宵节 (หยวนเซียวเจี๋ย)

เทศกาลโคมไฟ หรือหยวนเซียวเจี๋ย ตรงกับวันที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกหลังผ่านพ้นปีใหม่จีน หรือตรุษจีน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ของจีน ในปีนี้ 2565 ตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หลังวาเลนไทน์ 1 วัน 

ในเทศกาลนี้ คนจีนจะนิยมออกจากบ้านไปชมโคมไฟที่ประดับประดาอย่างสวยงาม เพื่อเฉลิมฉลองส่งท้ายตรุษจีน และกินบัวลอยกันในครอบครัว โดยคนจีนมีความเชื่อว่า บัวลอยเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นหนึ่ง คือสื่อถึงการรวมกันของคนในครอบครัวนั่นเอง

สาเหตุที่สามารถพิจารณาให้วันเทศกาลโคมไฟเป็น วันแห่งความรัก ของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ ก็มาจากเหตุที่ในสังคมจีนสมัยก่อน ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน แต่ถ้าถึงเทศกาลโคมไฟ จะเป็นโอกาสพิเศษที่หาได้ไม่มากนักที่ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน ดังนั้น โอกาสนี้ อาจเป็นโอกาสอันดีที่หญิงสาวจะได้เจอกับชายหนุ่ม บรรดาแม่สื่อทั้งหลายจึงทำหน้าที่กันอย่างหนักเพื่อให้หนุ่มสาวสมหวัง

โดยนักคติชนวิทยาจีน กล่าวว่า เทศกาลโคมไฟจะถือว่าเป็นวันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวันแห่งคู่รักก็ว่าได้ เพราะเป็นวันที่หญิงสาวจะมีโอกาสพบปะกับเพศตรงข้ามอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จนคนจีนบางพื้นที่ถือว่า วันเทศกาลโคมไฟ เป็นวันแห่งความรัก เช่น ในฮ่องกง เป็นต้น

2. 20 พฤษภาคม วัน 520

วันที่ 20 เดือน 5 หรือ 520 หากเขียนวันที่แบบจีน ซึ่งตัวเลข 520 ออกเสียงว่า อู่เอ้อหลิง ชาวจีนบอกว่า เสียงคล้ายกับ 我爱你 หว่ออ้ายหนี่ ที่แปลว่า ฉันรักคุณ ตัวเลข 520 จึงกลายเป็นภาษาอินเทอร์เน็ตฮิตของคนจีนในการบอกรัก

วันนี้ของทุกปี จึงกลายเป็นวันแห่งการบอกรัก 520表白日 (表白日 แปลว่า วันแห่งการสารภาพความรู้สึก) ดังนั้น 520表白日 คือวันแห่งการบอกรักของชาวจีน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

จริงๆ แล้ววันที่ 21 พฤษภาคม หรือ 521 (อ่านว่าอู่เอ้ออี) ก็ถือเป็นเลขแทนความหมาย 我爱你 ฉันรักคุณ ได้เหมือนกัน แต่คนจีนนิยม 520 มากกว่า จึงทำให้หลายปีมานี้ คนจีนมีค่านิยมในการจดทะเบียนสมรส และแต่งงานในวัน 520 มากขึ้น จนถึงขั้นที่ว่า บางพื้นที่ประกาศไม่รับจดทะเบียนหย่าในวันนี้เลยทีเดียว ให้แค่จดทะเบียนสมรสให้สมกับวันแห่งความรักสมัยใหม่ของชาวจีนยุคใหม่

3. เทศกาลชีซี 七夕节 (ชีซี่เจี๋ย) 

วันนี้ถือเป็นวันแห่งความรักของจีนอย่างแท้จริงตามความเชื่อและวัฒนธรรมจีน ตรงกับคืน 7 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน โดยเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้าอันลือลั่น ซึ่งถ้าในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกเทศกาลชีซี ว่า ทานาบาตะ 

หนึ่งในเหตุการณ์สั่นสะเสือนสังคมออนไลน์จีนที่เป็นหลักฐานบ่งชี้ความสำคัญในฐานะวันแห่งความรักของคนจีนคือ ในเทศกาลชีซี นอกจากจะบอกรักกันแล้ว ยังมีการรณรงค์แคมเปญลดการนอกใจ อย่างเช่นในปี 2012 ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ มีการรณรงค์แชร์ข้อความภาษาจีน “不要出轨情人节 让爱回家” แปลเป็นไทยได้ว่า ไม่ต้องการวันแห่งความรักที่เป็นวันแห่งการนอกใจ โปรดคืนความรักกลับสู่ครอบครัวตัวจริง

พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลบน Baidu เครื่องมือค้นหาบนโลกออนไลน์ที่คนจีนนิยมใช้ ยังบ่งชี้ถึงประเด็นคนจีนให้ความสำคัญเทศกาลชีซีเป็นวันแห่งความรักได้อย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ ปริมาณการค้นหาคำว่า วันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก จะพุ่งสูงที่สุดในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ แต่ในวันเทศกาลชีซีของทุกปี ปริมาณการค้นหาคำนี้ก็พุ่งขึ้นเช่นกัน ในระดับหลักหมื่นต่อวัน มากที่สุดรองลงมาจากการค้นหา ณ วันวาเลนไทน์ ทำให้สามารถอนุมานได้ว่า คนจีนเมื่อนึกถึงวันเทศกาลชีซี ก็จะนึกถึงวันแห่งความรัก

4. วันคนโสด 11 เดือน 11 (11 พฤศจิกายน)

วันที่ 11 พฤศจิกายน หรือ 11.11 ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของจีนยุคใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว โดยยึดถือเป็น วันคนโสด 光棍节 (กวงกุ้นเจี๋ย) จากสาเหตุที่ 11 เดือน 11 ประกอบไปด้วย เลข 1 ถึง 4 ตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโดดเดี่ยว คนจีนจึงจินตนาการให้ เลข 1 แต่ละตัว เป็น ชายและหญิง ที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่เป็นคู่กันนั่นเอง

11.11 ไม่ได้มีกิจกรรมคลายโสดแต่เพียงเทศกาลช้อปแหลกที่โด่งดังและถูกนำมาปฏิบัติในโลกช้อปปิ้งเมืองไทย แต่คนจีนจำนวนมากทีเดียวได้ถือโอกาสให้วันนี้เป็นวันแห่งการบอกรัก จะได้ไม่โสด ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมนัดบอด (ออกเดท) และยังเป็นอีกหนึ่งวันที่คนจีนนิยมจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรส แต่งงานเพื่อบอกลาความโสดอีกด้วย

สำหรับตัวอ้ายจงเอง ไม่ว่าวันไหนๆ ก็เป็นวันแห่งความรัก ขอแค่เรามอบความรักความปรารถนาดีให้แก่กัน เราก็จะสัมผัสถึงความรักได้ ดั่งประโยคแสนหวานยอดฮิต “มองไม่เห็นด้วยตา แต่รับรู้ได้ด้วยใจ” 

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่