ประชานิยม “ทิ้งทวน” 5.3 หมื่นล้านบาท "3 โครงการ" ดูแล 44.6 ล้านคน

ประชานิยม “ทิ้งทวน” 5.3 หมื่นล้านบาท "3 โครงการ" ดูแล 44.6 ล้านคน

ครม.เทเงินกู้ 5.32 หมื่นล้าน อนุมัติ 3 โครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพ เคาะคนละครึ่งเฟส 4 จ่ายคนละ 1,200 บาท เลื่อนใช้เร็วขึ้นเป็น 1 ก.พ.นี้ พร้อมเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 600 บาท นายกฯ ยืนยันกำชับดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท ตรึงค่าไฟถึง มี.ค.นี้

ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐทำให้กระแสรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาในเร็วๆนี้ดังถี่ขึ้นมาเรื่อยๆ และเป็นที่จับตาของนักวิเคราะห์ว่า นับจากนี้เป็นต้นไป “มาตรการประชานิยม” หรือที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้คำว่าประชารัฐนั้น จะถูกขับเคลื่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ม.ค.2565 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพประชาชน 3 โครงการ วงเงิน 53,222 ล้านบาท รวมผู้ได้สิทธิ 44.68 ล้านคน โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ประกอบด้วย

1.โครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 วงเงินรวม 34,800 ล้านบาท มีผู้ได้รับสิทธิ์ 29 ล้านคน โดยได้เงินสำหรับจับจ่ายคนละ 1,200 บาท ระยะเวลาจับจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-31 เม.ย.2565 ใช้รูปแบบเดิมที่ภาครัฐร่วมชำระค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไปในอัตรา 50% ไม่เกินวันละ 150 บาทต่อคน

สำหรับโครงการนี้มีผู้ร่วมอยู่แล้ว 28 ล้านคน ต้องยืนยันตัวตนและเริ่มใช้สิทธิตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ และเปิดสิทธิเพิ่ม 1 ล้านสิทธิให้ผู้ยังไม่เคยเข้าร่วม โดยเปิดลงทะเบียนวันที่ 10 ก.พ. นี้ จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ โดยเริ่มใช้สิทธิได้วันที่ 17 ก.พ.นี้ 

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 รวม 9,422 ล้านบาท ครอบคลุม 15.7 ล้านคน แบ่งเป็น

  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 8,070 ล้านบาท ครอบคลุม ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.45 ล้านคน
  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ วงเงิน 1,351 ล้านบาท จำนวน 2.25 ล้านคน 

ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิ์จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3 เดือน (ก.พ.-เม.ย.) รวม 600 บาทต่อคน คนละไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่มีสิทธิ์

เลื่อนคนละครึ่งเร็วขึ้น

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นควรให้ปรับช่วงเวลาโครงการคนละครึ่งให้เร็วขึ้นจากเดิมเริ่ม 21 ก.พ.นี้ เป็นวันที่ 1 ก.พ.นี้ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์บรรเทาค่าครองชีพในภาวะปัจจุบันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเหมาสมเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ประชาชน

รวมทั้ง ได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการให้สอดคล้องกับการปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่าครองชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบได้ อาทิ ร้านค้าที่รับสแกนสิทธิ์แลกเปลี่ยนเป็นเงินสด

เศรษฐกิจดีขึ้นเยียวยาน้อยลง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการคนละครึ่งเฟส 4 กำหนดวงเงินเพียงคนละ 1,200 บาท เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังจากมีกิจกรรมเศรษฐกิจหลังประกาศเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.2564 รวมทั้งเริ่มมีพนักงานกลับเข้าสู่การจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ขณะที่โครงการคนละครึ่งเฟส 3 มีคนใช้จ่ายไม่ถึง 150 บาทต่อวันจำนวนหนึ่ง และมีผู้ไม่ใช้จ่ายเลย 1.6 ล้านคน

ส่วนที่นำโครงการคนละครึ่งเฟส 4 มาใช้เร็วขึ้นจากเดิมเดือน มี.ค.นี้ เพราะช่วงนี้มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกังวลว่าจะกระทบการใช้จ่าย และมีปัจจัยราคาสินค้าแพงมาเพิ่ม

 

เม็ดเงินลงระบบ 7.9 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจจากการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยให้จีดีพีทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.21% ต่อปี จากกรณีฐาน อีกทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดซัพพลายเชน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องในช่วงโควิด-19

“จีดีพีในปีนี้จะอยู่ในช่วง 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4% และถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะทำให้ถึง 4% บวก แต่ถ้าชะงักก็จะ 4% ลบ” นายอาคม กล่าว

 

ยังไม่ลดภาษีพยุงราคาน้ำมัน

ส่วนข้อเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงมานั้น นายอาคม กล่าวว่า มาตรการภาษีจะเป็นมาตรการสุดท้าย โดยกระทรวงการคลังจะดูราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำดิบดูไบว่า ปรับขึ้นไปถึงจุดที่ไม่สามารถรับได้ ซึ่งในอดีตที่รัฐบาลประกาศลดภาษีน้ำมันลงมาก็อยู่ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นไปที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์

ทั้งนี้ ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น สหรัฐจะได้รับผลกระทบและเชื่อจะนำสต็อกออกมาขาย ในขณะที่ประเทศตะวันออกกลางมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาทางเทคนิคจึงทำไม่ได้ตามแผน แต่เมื่อพ้นฤดูหนาวแล้ว แนวโน้มราคาน้ำมันจะลดลง

รวมทั้งระหว่างนี้รัฐบาลจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมัน เป็นตัวรักษาระดับราคาน้ำมันภายในประเทศ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติให้กองทุน กู้เงินอีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อมาพยุงราคาน้ำมันภายในประเทศ จากปัจจุบันที่กองทุนมีเงินอยู่แล้ว 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงถือว่า กองทุนยังมีสภาพคล่อง

 

นายกฯ ยันดูแลราคาสินค้า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2565 จำนวน 5 รายการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยแบ่งเป็นรายการสินค้าควบคุมเดิมในปี 2564 จำนวน 4 รายการ คือ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก

และเพิ่มเติมรายการสินค้าควบคุมใหม่ 1 รายการ คือ ไก่ เนื้อไก่ เนื่องจากปัจจุบันราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกำกับดูแล ติดตามไก่ เนื้อไก่ ที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการบริโภคของประชาชน ให้มีปริมาณเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลประชาชน แต่บางมาตรการต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเนื้อสุกรแพงที่มีหลายมาตรการ เช่น การงดส่งออกสุกรมีชีวิต 3 เดือน การช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทนส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด และ ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคด้วย

 

กำชับดีเซลไม่เกิน 30 บาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุม ครม.ช่วงต้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการในหลายเรื่อง โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงค่าไฟให้ตรึงไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 เพื่อต้องการให้ประชาชนมีต้นทุนในการใช้ชีวิตให้ต่ำที่สุด

ขณะที่ช่วงหนึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้นในขณะนี้ จนทำให้ในตลาดเกิดขาดแคลนน้ำมันปาล์ม ว่า เรื่องนี้หากจำเป็นจะต้องของบประมาณมาแก้ไขปัญหา กระทรวงพาณิชย์จึงจำเป็นต้องมาขอออนุมัติงบประมาณอีกครั้ง

รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (25 ม.ค.) ปตท.และบางจากปรับราคาน้ำมันขึ้นอีกครั้งในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ขึ้นลิตรละ 40 ส.ต. ส่วน E20 และ E85 ขึ้นลิตรละ 60 ส.ต.ในขณะที่กลุ่มดีเซลทุกชนิดราคาคงเดิมทำให้ราคายังคงอยู่ที่ 29.94 บาท