ของขวัญปีใหม่...ที่แสนงุนงง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ของขวัญปีใหม่...ที่แสนงุนงง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“สลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา” ในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายรัฐบาลประสบ และพยายามทำทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า แนวทางในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาดูจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก 
    เพราะการขายสลากฯ เกินราคายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน แนวทางหนึ่งที่มักจะถูกนำมาใช้เพื่อหวังจะแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา คือ การพิมพ์สลากฯ เพิ่ม 
 

การพิมพ์สลากฯ เพิ่มนี้ อ้างตามหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่ว่า “เมื่ออุปทานของสินค้าหรือบริการชนิดใดเพิ่มขึ้นในตลาด ย่อมนำไปสู่การลดลงของราคาของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น” 
    ซึ่งความเข้าใจนี้ ถือว่าผิดพลาดอย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะสลากฯ มิได้เป็นสินค้าปกติทั่วไป ที่จะถูกอธิบายการขึ้นลงของราคาด้วยหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์นี้ 
    กล่าวคือ สลากฯ ใบหนึ่งจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่า (มีประโยชน์ต่อผู้ครอบครอง) ก็ต่อเมื่อถูกรางวัล แต่หากไม่ถูกรางวัล สลากฯ ใบนั้นก็เป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่าใด ๆ เลย 
    ดังนั้น ทุกครั้งที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใช้แนวทางในการพิมพ์สลากฯ เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา จึงไม่เคยประสบผลสำเร็จสักครั้ง ในทางกลับกัน กลับกลายเป็นการสนับสนุนให้เกิด “การรวมชุดสลากฯ” เสียอีก

ของขวัญปีใหม่...ที่แสนงุนงง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
    การรวมชุดสลากฯ คือ การนำสลากฯ ที่มีหมายเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลัก หรือ 2 หลักสุดท้ายมารวมกันเป็นชุด (โดยจะขายให้กับผู้ซื้อสลากฯ เป็นชุด ๆ ซึ่งเมื่อนำราคาแต่ละชุดมาคำนวณแล้วจะพบว่า ราคาของสลากฯ แต่ละใบจะถูกขายเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้บนสลากฯ) 

กล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญของปัญหาสลากฯ เกินราคาคือ การรวมชุดสลากฯ ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา ก็ต้องมีมาตรการอย่างใดที่จะทำให้ไม่เกิดการรวมชุดสลากฯ นั่นเอง

ข่าวสารที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อช่วงปลายปี 2564 คือ สำนักงานสลากฯ ได้เปิดเผยแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา 
นัยว่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2565 ให้กับประชาชนคนไทยที่นิยมซื้อสลากฯ โดยสำนักงานสลากฯ ได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาไว้ 3 แนวทาง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้
    1. ขยายจุดจำหน่ายโครงการ “สลาก 80” ทั่วประเทศ อธิบายอย่างง่ายคือ จะมีการเพิ่มจุดจำหน่ายสลากฯ ที่ราคา 80 บาท อีกอำเภอละ 1-2 จุดจำหน่ายทั่วประเทศ 
ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานสลากฯ กำหนด กล่าวได้ว่า ปัจจุบันมีจุดจำหน่ายสลากฯ ที่ราคา 80 บาทกระจายทั่วประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นการขยายจุดจำหน่ายโครงการสลาก 80 เพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาการรวมชุดสลากฯ มากนัก
    2. เพิ่มจำนวนผู้ค้าสลากฯ รายย่อยอีก 200,000 ราย ด้วยการเปิดรับสมัครลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ทั้งนี้เป็นเพราะสำนักงานสลากฯ เชื่อว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องการขายสลากฯ เพิ่มขึ้นอีกราว 200,000 ราย
    คาดหวังที่จะให้ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยเหล่านี้ นำสลากฯ ที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดไปขายให้กับผู้ซื้อโดยตรง โดยไม่นำไปขายต่อให้กับผู้ค้าสลากฯ รายที่ใหญ่กว่า เพื่อนำไปรวมชุด 

ของขวัญปีใหม่...ที่แสนงุนงง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
    แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริง ทั้งต้นทุนที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยต้องแบกรับต่องวด รวมถึงกำไรที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยจะได้รับภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องขายสลากฯ ที่ได้รับจัดสรรต่องวดให้หมด นั้นไม่จูงใจเท่ากับการที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยขายสลากฯ ที่ได้รับการจัดสรรต่องวดให้กับผู้ค้าสลากฯ รายที่ใหญ่กว่า 
    จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูล พบว่า ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะขายสลากฯ ที่ได้รับการจัดสรรต่องวดให้กับผู้ค้าสลากฯ รายที่ใหญ่กว่าก่อน จากนั้นจึงค่อยนำสลากฯ ที่เหลือไปขายให้กับผู้ซื้อสลากฯ ทั่วไป จึงกล่าวได้ว่า การเพิ่มจำนวนผู้ค้าสลากฯ รายย่อย มิได้แก้ปัญหาการรวมชุดสลากฯ แต่อย่างใด
    3. การจำหน่ายสลากฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) จากการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากฯ พบว่า การขายสลากฯ ในรูปแบบนี้ คือ การขายใบสลากฯ ในรูปแบบปกติผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น มิใช่เป็นการที่ผู้ซื้อสลากฯ สามารถเลือกหมายเลขบนสลากฯ เองได้
     แนวทางนี้ทางสำนักงานสลากฯ เชื่อว่า จะสามารถตรวจสอบผู้ค้าสลากฯ รายย่อยได้ว่า ได้ขายสลากฯ ที่ได้รับการจัดสรรให้กับผู้ซื้อสลากฯ ทั่วไปโดยตรง หรือขายให้กับผู้ค้าสลากฯ รายที่ใหญ่กว่า โดยตรวจสอบจากปริมาณการขายสลากฯ ในแต่ละครั้งของผู้ค้าสลากฯ รายย่อยแต่ละราย
     กล่าวได้ว่า การแก้ปัญหาในแนวทางนี้ดูจะมุ่งตรวจจับผู้ค้าสลากฯ รายย่อยเป็นสำคัญ ทั้งที่ผู้ที่มีความสามารถในการรวมชุดสลากฯ ได้ คือผู้ค้าสลากฯ รายใหญ่ แต่เสมือนกลับกลายเป็นผู้ค้าสลากฯ รายย่อยต้องแบกรับภาระจากการแก้ปัญหาด้วย 
    แนวทางนี้แทน และที่สำคัญการที่ผู้ซื้อสลากฯ ไม่สามารถเลือกหมายเลขบนสลากฯ ตามที่ตนต้องการได้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการรวมชุดสลากฯ 
เพราะตัวแปรสำคัญที่ทำให้สลากฯ ที่ถูกนำมารวมชุดหมดความสำคัญ หรือมีความสำคัญลดน้อยลงอย่างมีนัยยะก็คือ การที่ผู้ซื้อสลากฯ สามารถเลือกหมายเลขบนสลากฯ ตามที่ตนต้องการได้
    จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 แนวทางที่สำนักงานสลากฯ ประกาศออกมานั้น ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า จะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาการรวมชุดสลากฯ ได้ ซึ่งก็หมายความว่าทั้ง 3 แนวทางดังกล่าวนี้ ยังไม่น่าจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคาได้เช่นกัน 
    สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาถึงปัญหาการขายสลากฯ เกินราคา และแนวทางแก้ไขอย่างแท้จริง

องค์ประกอบของคณะทำงานควรประกอบไปด้วยบุคลากรที่เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา (ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อย) และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างแท้จริง (ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จำนวนไม่มาก) 

เพราะมิฉะนั้นแล้ว ประชาชนผู้ซื้อสลากฯ ก็จะได้รับแต่แนวทางและมาตรการที่งุนงง และวกวนเช่นนี้อยู่ร่ำไป!
คอลัมน์ : สมการความคิด
ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต