เรื่องเล่าดีๆ มีพลัง | วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องเล่าดีๆ มีพลัง | วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องเล่าดีๆ สามารถเป็นพลังใจสำหรับดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี เรื่องเหล่านี้จากหนังสือ ภาพยนตร์ นิทาน เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของตนเองและของผู้อื่น คำพูดของผู้คนทั้งด้านบวกและลบ ฯลฯ สามารถนำมาใช้เป็นมุมมองชีวิต

ปีใหม่นี้ถ้าเริ่มด้วยเรื่องเล่าดีๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ได้บ้างกระมัง เรื่องแรก ภาพยนตร์เรื่อง October Sky (ท้องฟ้าเดือนตุลาคม)    สร้างจากชีวิตจริงของวิศวกรการบินคนหนึ่งของ NASA    ให้ข้อคิดที่ดีมาก      
    ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างในปี 1999 เล่าเรื่องชีวิตของเด็กในชั้นมัธยมปลาย 4 คน   ในเมืองเล็ก ๆ ของรัฐ West Virginia ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา    ประชากรของรัฐส่วนหนึ่งอาศัยในเมืองที่อยู่ท่ามกลางเทือกเขา Appalachian โดยมีธุรกิจเหมืองถ่านหินเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่  คนเหล่านี้ที่ค่อนข้างยากจนตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างไม่น่าเชื่อ      

นานมาแล้วผู้เขียนเคยเดินทางไปหนึ่งในเมืองเล็กเหล่านี้และพบเห็นผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะหน้าตาแปลก ๆ  ร่างกายไม่เป็นปกติ น่ามาจากการผสมของพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน   เข้าใจว่าเมื่อถูกตัดขาดมากจึงแต่งงานกันในกลุ่มคนที่มีจำนวนจำกัด
    เด็ก 4 คนนี้มีความฝันอย่างเดียวคือเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้วก็ทำงานเป็นกรรมกรเหมืองถ่านหินเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ  เหมือนปู่  พ่อ  ลุง  ฯลฯ   ที่สืบทอดกันมายาวนานนับร้อยปี     ชีวิตมักจบลงด้วยการป่วยเกี่ยวกับโรคปอด หรือไม่ก็ตายจากเหมืองถล่ม แต่แล้วก็มีครูคนหนึ่งมาจากนอกรัฐมากระตุ้นให้เด็กฝันไปไกล   ไม่วนเวียนอยู่ด้วยความน่าสังเวชแบบนี้     ครูบอกว่ามนุษย์เรานั้น “ฝันแค่ไหนก็ไปไกลแค่นั้น”       
    เด็ก 4 คนจึงเริ่มคิดผิดไปจากที่เคยเป็นกันมา      เมื่อไปปรึกษาพ่อ ๆ ก็หัวเราะและบอกว่าอย่าไปคิดอะไรมากเลย  ที่เป็นอยู่นี้ก็ดีแล้ว จบแล้วก็มีงานทำ  มีชีวิตเหมือนที่เป็นกันมา  คนที่นี่เรียนจบแล้วมี 2 หนทางที่จะหลุดออกไปอยู่ข้างนอก     หนึ่ง  ได้ทุนไปเรียนมหาวิทยาลัย   สอง  ได้ทุนกีฬาเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยไปและเล่นกีฬาไป   แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีเด็กคนไหนที่ได้รับทุนเลย   เพราะฉะนั้นเลิกคิดและจงเป็นอย่างที่เราเคยเป็นกันมา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณต้นทศวรรษ 1960   คนอเมริกันกำลังตกใจที่สหภาพโซเวียตสามารถส่ง Sputnik I ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ก่อนคนทั้งโลกในเดือนตุลาคม 1957 (เหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงชื่อ “ท้องฟ้าเดือนตุลาคม”)   ในช่วงสงครามเย็นนี้คนอเมริกันรู้สึกว่าถูกแซงหน้าจึงมีแรงกดดันให้รัฐบาลบุกเบิกด้านอวกาศ     ประธานาธิบดี Kennedy เมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 1961 จึงประกาศว่าสหรัฐจะเหยียบโลกพระจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษ 1960 ให้ได้

เด็ก 4 คน ภายใต้กระแสนี้จึงตื่นตัวเรื่องจรวด   เรียนรู้จากหนังสือและคำแนะนำของครูคนนี้   รัฐบาลสหรัฐประกาศประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอวกาศในหมู่นักเรียนทั่วประเทศ     เด็ก 4 คนนี้ส่งโครงงานเข้าประกวด    และในที่สุดก็ชนะได้เดินทางไปรับรางวัลและได้รับทุนไปเรียนมหาวิทยาลัย       หลายปีต่อมาคนหนึ่งก็ได้เป็นวิศวกรของ NASA   อีก 2 คนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และอีกคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ
    ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่ฝันไกล ในที่สุดก็คงได้เป็นแค่กรรมกรเหมืองแก่ ๆ ที่เป็นโรคปอดอันเนื่องมาจากผงดำของถ่านหิน หรืออาจตายไปแต่ยังหนุ่มเพราะเหมืองถล่มก็เป็นได้  ไม่มีโอกาสได้เป็นอย่างที่เป็นนี้   ทั้งหมดก็เพราะ “ฝันแค่ไหนก็ไปไกลแค่นั้น”
    เรื่องที่สอง    นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์     ถึงไม่ใช่เรื่องจริงแต่ก็เป็นตัวอย่างของการมีความคิดนอกกรอบชนิดที่ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิต   เรื่องก็มีอยู่ว่าพ่อค้าคนหนึ่งที่มีลูกสาวเป็นหนี้เจ้าหนี้หน้าเลือดอย่างท่วมท้น   ไม่รู้จะหาทางแก้ไขอย่างไร    
    วันหนึ่งเจ้าหนี้ก็บอกว่าให้เอาลูกสาวมาแลกหนี้ก็แล้วกัน  หากแต่งงานกับฉันแล้วก็จะยกหนี้ให้หมดเลย     พ่อค้าก็ต่อรองว่าขอโอกาสเสี่ยงแล้วกัน    ทางเลือกแรกคือล้างหนี้หมดเลยและไม่ต้องแต่งงานด้วย ส่วนอีกทางก็คือล้างหนี้และยอมให้ลูกสาวแต่งงานด้วย กติกาคือหยิบก้อนหินจากสองก้อนโดยเสี่ยงว่าจะเป็นทางไหน
    ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้หน้าเลือดจะยอมแต่ที่ยอมก็เพราะเขาคิดจะโกง  ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าถ้าลูกสาวจับได้หินก้อนสีขาวก็พ้นหนี้และไม่ต้องแต่งงาน     หากจับได้ก้อนสีดำถึงจะพ้นหนี้แต่ก็ต้องแต่งงานด้วย   เจ้าหนี้ก็เริ่มกระบวนการโดยแอบเอาหินสีดำ 2 ก้อนใส่ลงไปในถุงเพื่อที่ว่าจับอย่างไรก็ไม่พ้นแต่งงาน บังเอิญลูกสาวแอบเห็น  
    เมื่อถึงเวลาเธอต้องเลือกก้อนหินจากถุงโดยมี 3 ทางเลือก   (1) ปฏิเสธไม่ยอมจับ   (2)  ยอมแพ้โดยดี โดยจับก้อนใดก็ได้    (3)  เปิดโปงว่ามีก้อนหินดำอยู่ทั้งสองก้อน      แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเธอ      จึงยอมจับขึ้นมาก้อนหนึ่งโดยไม่ให้ใครเห็นสีของก้อนหินแล้วเธอก็แกล้งทำมันหล่นลงไปบนกองก้อนหินที่มีจำนวนอยู่มากมาย
    เธอขอโทษที่ทำหล่นจนไม่รู้ว่าเป็นหินสีอะไร แต่ไม่เป็นไรลองดูหินอีกก้อนที่อยู่ในถุงก็จะรู้ได้ว่าก้อนที่ทำหล่นไปนั้นสีอะไร   เจ้าหนี้เสียรู้ความคิดสร้างสรรค์จึงเทก้อนหินออกมาและเป็นสีดำ ซึ่งแสดงว่าก้อนที่เธอหยิบมานั้นเป็นสีขาว ดังนั้นจึงหลุดทั้งหนี้และไม่ต้องแต่งงานกับชายหน้าเลือด
    เรื่องที่สาม    เด็กวัย 10 ขวบนั่งรถไฟไปกับพ่อ   ตลอดเวลาที่นั่งก็พร่ำพูดถึงความเขียวของต้นไม้   ทิวทัศน์ที่งดงามข้างทางจนทำให้ชายหนุ่มที่นั่งถัดไปรู้สึกรำคาญมาก จึงพูดกับพ่อเขาว่าคุณควรเอาลูกไปตรวจสมองบ้างนะ  ดูจะไม่เต็มบาท   พูดจาเพ้อเจ้อและไม่สมวัย พ่อเด็กก็บอกว่าผมขอโทษแทนลูกด้วยเพราะเมื่อเช้านี้หมอเพิ่งเปิดผ้าปิดตาหลังจากผ่าตัดแก้ไขตาที่พิการมาแต่กำเนิด    เขาเพิ่งเห็นต้นไม้และทิวทัศน์เป็นครั้งแรกในชีวิตครับ     
    เรื่องนี้ทำให้ชายขี้รำคาญเกิดสติ  รู้จักสังเกตและคิดให้รอบคอบก่อนที่จะพูดหรือกระทำการใด ๆ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่ได้ยินเรื่องเล่านี้
    เรื่องที่สี่  ครั้งหนึ่งนานมาแล้วผู้เขียนมีประสบการณ์ของครอบครัวจากการที่น้องชายต้องรีบพาญาติผู้ใหญ่ไปโรงพยาบาลอย่างรีบด่วนกลางดึกเมื่อมีอาการตัวหนาวสั่น  ปัสสาวะติดขัดมาหลายวันจนเข้าใจว่าเกิดการอักเสบจนอาจมีภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้     
    การขับรถด้วยความเร็วสูง  การต้องแซงปาดหน้ารถราที่วิ่งบนถนนอาจทำให้เกิดอันตราย แต่ในขณะนั้นมันดูเล็กมากเมื่อเทียบกับอาการของผู้ป่วยบนรถ  ถึงจะรู้ว่ามีคนใช้รถใช้ถนนที่ไม่พอใจจำนวนมากแต่ก็เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
    ประสบการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจบางคนที่ขับรถเร็ว    แซงหน้าและปาดไปมาโดยพยายามคิดว่าเขาคงมีเหตุผลของเขาในการกระทำเช่นนั้น       เขาอาจกำลังพาคนเจ็บหนักไปโรงพยาบาลหรือเขาอาจกำลังจะไปทำงานสาย  กำลังจะตกเครื่องบิน   ฯลฯ  หากพยายามคิดอย่างนี้แล้วจะรู้สึกสบายใจ     ให้อภัย และมีความสุข  ไม่ต้องทะเลาะแบะแว้งกับใครโดยเฉพาะในยามนี้ที่ฟิวส์ของอารมณ์มันเปราะบางอย่างยิ่ง
    ไม่ว่าเรื่องเล่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง   จริงหรือเท็จก็ตาม   หากมันมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเราแล้ว    จำไว้คิดและเล่าต่อก็จะเกิดประโยชน์ครับ.