แนวทางไต้หวันต่อต้านอำนาจจีน (จบ) | เรือรบ เมืองมั่น

แนวทางไต้หวันต่อต้านอำนาจจีน (จบ) | เรือรบ เมืองมั่น

ไม่มีอะไรที่จะอยู่คงทนถาวรโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล โดยเฉพาะเมื่ออยู่ท่ามกลางการกดดันกัดเซาะจากพลังที่เหนือกว่า ไต้หวันก็เช่นกัน

 ตอนนี้แทบไม่ต้องถามกันแล้วว่าอีก 20 ปีข้างหน้าไต้หวันจะดำรงสถานะเดิม (Status Quo) ต่อไปหรือไม่  แต่เป็นว่าไต้หวันจะเปลี่ยนไปอย่างไร  ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มชนในไต้หวันที่มีอุดมการณ์ต่างกันว่าสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร  หรือไม่ก็อาจไม่ทันได้ปลงใจตกลงกัน สงครามก็มาถึงก่อน
    หากถามว่า ไต้หวันจะประกาศเอกราชหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศ ปัจจุบัน แม้ว่าพรรค DPP ได้รับความนิยมจากประชากรไต้หวันรุ่นใหม่ที่ยึดถือว่าตนเองเป็นชาวไต้หวันมาก แต่ไม่น่าที่จะอยากละจากแนวทาง Status Quo ที่เป็นอิสระในการดำเนินกิจการทุกอย่างอย่างไม่เป็นทางการ ไปประกาศเอกราช ซึ่งเสี่ยงต่อการต้องทำสงครามกับจีน ที่มีกองทัพแข็งแกร่งกว่าไต้หวันมาก 

อย่างไรก็ตาม มีโอกาส 2 ประการที่ไต้หวันจะประกาศเอกราชในอนาคต คือ 1. คนรุ่นใหม่ของไต้หวันมีความมั่นใจในว่าการเป็นชาติเอกราชจะทำให้ไต้หวันเจริญรุ่งเรืองกว่านี้และไต้หวันจะสามารถรับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากจีนได้ คาดว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี 
    จึงจะทำให้ประชากรเกือบทั้งประเทศเห็นพ้อง  และ 2.จีนกดดันไต้หวันถึงระดับทำสงครามก่อน  และสหรัฐ ฯ ปกป้องไต้หวันตามพันธกรณีอย่างจริงจัง คาดว่าโอกาสดังกล่าวอาจเกิดขึ้นภายในเวลา 5 ปี

    แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ พรรค DPP จะอาศัยโอกาสที่สหรัฐ ฯ กำลังเพิ่มความขัดแย้งกับจีนอย่างรุนแรง เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อไต้หวัน คือการให้ไต้หวันได้รับการยอมรับบนเวทีรับนานาชาติมากขึ้น พ้นจากข้อจำกัดที่จีนปิดล้อมไว้  

เช่น ไต้หวันอาจจะตั้งสำนักงานการค้าในประเทศต่างๆ มากขึ้น   ผู้บริหารประเทศเดินทางเข้าร่วมประชุมองค์การความร่วมมือต่างๆ อย่างเสรี หรือการใช้ชื่อไต้หวันแทนที่สาธารณรัฐจีนนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย  

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันต้องควบคุมความเสียหายของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เช่น สงครามแบบจำกัดของการปะทะกันในน่านน้ำและน่านฟ้าของไต้หวัน เป็นต้น หากพรรค DPP ทำได้สำเร็จ พรรค DPP น่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2568 ต่อไป     

นอกเหนือจากประชากรที่พิจารณาว่าตนเองเป็นชาวไต้หวันแต่ยังต้องการรักษา Status Quo แล้ว  ประชากรกลุ่มที่ต้องการให้ไต้หวันไปรวมชาติกับจีนมีจำนวนน้อยกว่า และไม่น่าที่จะมีโอกาสที่จะแสดงพลังในเชิงสัญลักษณ์เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของไต้หวันในปัจจุบันได้  

ปัจจุบันพรรคฝ่ายค้านหลักของไต้หวันคือพรรค KMT ที่นโยบายดั้งเดิมคือ ต่อต้านคอมมิวนิสต์และต้องการชนะสงครามจีนคอมมิวนิสต์เพื่อกลับไปบริหารประเทศจีนด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น ดูทรงแล้วเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติหรอกครับ  ทำให้ฐานเสียงของพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ ยึดแนวทาง Status Quo ต่อไปเหมือนเดิม  

แต่ต่างกับพวกต่อต้านจีนตรงที่พยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  อีกทั้งไม่คัดค้านการรวมชาติจีนในอนาคตหากบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี จึงจะทำให้ประชาชนกลุ่มอื่นเห็นพ้อง

ทางเดินของไต้หวันมีดังที่กล่าวมา ซึ่งถือว่าจำกัดอยู่ไม่น้อย  ขณะที่จีน อเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่น มีแนวทางที่จะทำให้สถานการณ์ในตะวันออกไกลเปลี่ยนสภาพได้เสมอ  หากจีนยังยึดแนวทางของประธานาธิบดีตลอดชีพของพวกเขาอยู่ กระแสชาตินิยมน่าจะนำพาจีนเข้าสู่สงครามในเวลาไม่กี่ปีนี้  

ส่วนอเมริกาที่ไม่ถึงขนาดอยากให้สถานการณ์บานปลาย แค่อยากให้ระส่ำระสายจนพันธมิตรต้องพึ่งพาแต่รัฐบาลวอชิงตันนั้น หากเล่นเกมไม่เก่ง ไฟลวกมือ สงครามก็อาจเกิดขึ้นได้  

สำหรับญี่ปุ่นที่ฝ่ายค่อนขวามีอำนาจในสภามานานสิบปีแล้วและพัฒนากองทัพให้ถึงขั้นอันดับ 5 ของโลก ก็คงไม่สามารถถูกกันออกไปจากปัญหาไต้หวันเพื่อนบ้านได้  ความคืบหน้าเหล่านี้ไม่แน่ว่าภายในปี 2565 เราอาจเห็นสิ่งที่พอคาดถึงแต่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ปรากฏขึ้นก็ได้.