2565 ปีทองของ ESG ดีล | ต้องหทัย กุวานนท์

2565 ปีทองของ ESG ดีล | ต้องหทัย กุวานนท์

ปี 2564 ถือเป็นปีของการซื้อและควบรวมกิจการด้วยเม็ดเงินลงทุนและจำนวนดีลที่สูงที่สุด ข้อมูลจาก Global Data ระบุว่าในแต่ละไตรมาสจำนวนดีลเฉลี่ยมีมากกว่า 9,000 ดีล เม็ดเงินสะพัดกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขการประเมินที่รายงานผ่านสื่อรอยเตอร์ระบุว่ามูลค่า M&A ทั่วโลกในปี 2564 เติบโตถึง 63% มีมูลค่ากว่า 5.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุดคือยุโรปและเอเชีย ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายใหญ่ในการซื้อกิจการยังคงเป็นธุรกิจเทคโนโลยีและเฮลท์แคร์ 
    นักวิเคราะห์หลายสำนักมองตรงกันว่าปี 2565 จะยังคงเป็นปีทองในการซื้อกิจการ เพราะองค์กรขนาดใหญ่ยังคงมีเม็ดเงินที่เตรียมไว้สำหรับการลงทุนอยู่เต็มกระเป๋า ประกอบด้วยกระแสการเติบโตของตลาดทุน ทำให้สามารถระดมทุนผ่านหุ้นกู้ได้ง่าย จึงสามารถนำเงินไปลงทุนซื้อธุรกิจเป้าหมายที่เป็น “Transformative Deal” หรือดีลพลิกอุตสาหกรรมได้อย่างง่ายดาย

ย่างก้าวเข้าสู่ปี 2565  สื่อด้านการวิจัยทางการเงิน Mergermarket ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องการลงทุนและผู้บริหารกองทุนขนาดใหญ่ 300 รายทั่วโลกเพื่อจับตาทิศทางการลงทุน ผลสำรวจพบว่า 60% ของผู้บริหารมองเทรนด์การควบรวมกิจการจะยังคงเป็นขาขึ้น 

    กลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่จะมาแรงจะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่อง Digital Transformation กลุ่ม Data Analytics และ กลุ่ม Cybersecurity ส่วนอุตสาหกรรมที่จะมีแนวโน้มการเติบโตสูงสุดสามกลุ่มหลักคือ 1) กลุ่มคอนซูเมอร์และไลฟ์สไตล์ 2) กลุ่มยาและไบโอเทค 3) กลุ่มเทคโนโลยี โทรคมนาคมและมีเดีย 

แต่ไม่ว่าจะธุรกิจเป้าหมายจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด ประเด็นสำคัญที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ก็คือนักลงทุนองค์กรและกองทุนขนาดใหญ่มองว่า ปัจจัยด้าน ESG จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกดีล นั่นคือจะเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล 62% ของผู้บริหารองค์กรที่ทำการสำรวจ ยืนยันว่า ESG จะเป็นกลไกหลักในกระบวนการตรวจสอบและการตัดสินใจในการเข้าลงทุนซื้อหรือควบรวมกิจการ 

นอกเหนือจากเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาล สามเรื่องหลักด้านสิ่งแวดล้อมที่กองทุนจะให้ความสำคัญกับธุรกิจเป้าหมายก็คือ 
1) มีการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดีมากน้อยแค่ไหน 
2) มีการบริหารจัดการน้ำและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ 
3) มีการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร 

นโยบายและทิศทางการลงทุนในรูปแบบที่เป็น ESG-oriented ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการเลือกดีล M&A ซึ่งแตกต่างจากยุคก่อนที่การตัดสินใจเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการจะโฟกัสที่ผลประกอบการและโอกาสในการเติบโตเป็นหลัก ทิศทางของการลงทุนที่มุ่งเป้าสู่กิจการที่ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนทำให้ทุกองค์กรธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะต้องหันมาประเมินตัวเองและปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

            ในมุมของนักลงทุน ความท้าทายของการลงทุนในธุรกิจเพื่อความยั่งยืนยังคงมีอุปสรรคมากมายที่รอการแก้ไข ความ “ไม่พร้อม” ของข้อมูลและมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่ยังไม่ชัดเจนรวมถึงการขาดบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องรีบเติมเต็ม เพื่อไขว่คว้าโอกาสจากการลงทุนในอนาคต.
คอลัมน์ : Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม