ย้อนรอย 10 เหตุการณ์ สะเทือนโลกธุรกิจ-การลงทุน ปี 2564

ย้อนรอย 10 เหตุการณ์ สะเทือนโลกธุรกิจ-การลงทุน ปี 2564

ย้อนรอยข่าวเด่นแวดวงธุรกิจ การลงทุน ประจำปี 2564 ตั้งแต่ดีลยักษ์สะเทือนวงการธุรกิจไทย รวมถึงคลื่นเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อวงการคริปโทเคอร์เรนซี การมาถึงของเมตาเวิร์ส ทัวร์อวกาศฯลฯ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ขนมาครบ!

ส่งท้ายปี 2564 เตรียมเข้าสู่ศักราชใหม่ ปีใหม่ 2565 “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนย้อนดูปรากฏการณ์สำคัญที่สั่นสะเทือนแวดวงธุรกิจการลงทุน ทั้งในประเทศไทย ไปจนถึงระดับโลก ซึ่งจัดมาให้ครบทั้งดีลยักษ์แห่งปี ปรากฏการณ์บิ๊กคอร์ปขยับปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ รวมถึงเทรนด์เทคโนโลยีห้ามพลาด ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงสิ่งที่ต้องจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในปี 2565

รายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้ 

  • คนดังปั่นกระแสคริปโทเคอร์เรนซี

ปีที่ผ่านมาเหล่าคนดังให้ความสนใจคริปโทเคอร์เรนซีกันมาก แต่ที่ดังสุดๆ คือ   “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) แห่งอาณาจักร “เทสลา” เจ้าพ่อวงการเทคฯ ที่เพียงแค่ทวีตอะไรสั้นๆ ก็สามารถเปลี่ยนเทรนด์นั้นให้กลายเป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งๆที่บางครั้งข้อความที่ทวีตไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร แต่คนที่ติดตามกลับมักตีความเป็นการชี้ช่องรวย จนได้ชื่อว่า “บิดาแห่งการปั่นสินทรัพย์ออนไลน์” ไปแล้ว 

อย่างเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 เพียงแค่ทวีตว่า หยุดรับซื้อรถ Tesla ด้วย Bitcoin แล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าเงินสกุลนี้ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้มูลค่าตลาดของ Bitcoin ร่วงย่อยยับถึง 365,000 ล้านดอลลาร์

แล้ววันรุ่งขึ้น ก็ทวีตว่า “เข้าไปร่วมกับทีมงาน Dogecoin เพื่อปรับปรุงระบบธุรกรรมให้เจ๋งยิ่งขึ้น” ทำให้ราคาเหรียญ Dogecoin วันนั้นดีดตัวขึ้นอยู่ที่เหรียญละ 0.524693 ดอลลาร์ (อันส่งผลให้นักลงทุนสายคริปโทฯ จำนวนไม่น้อย.. ติดดอยกันจนถึงทุกวันนี้)

  • คริปโทฯ สินทรัพย์ใหม่ของคนไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน รวมถึงรายได้ของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศพยายามออกมาตรการช่วยเหลือผ่านการให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับให้ธนาคารกลางอัดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ประชาชนและธุรกิจบางส่วนหันมาแสวงหาผลกำไรผ่านการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง สะท้อนจากจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้น รวมถึงบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว 

โดยจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ณ วันที่ 29 มีนาคม 2564 อยู่ที่เพียง 520,011 บัญชี (29 มี.ค.64) ผ่านไปเพียงแค่ 7 เดือนกลับพุ่งพรวดสูงถึง  1,770,000 บัญชี (ณ สิ้น ต.ค.64) หรือราว 240%

  • "เฟซบุ๊ค" รีแบรนด์เป็น "เมทา" กระโจนสู่โลก “เมทาเวิร์ส

อีกหนึ่งมูฟเมนต์สำคัญของแวดวงไอทีธุรกิจ ก็คือ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊คอย่างเป็นทางการเป็น “เมทา” (Meta) เพื่อเป็นการสื่อถึงภาพลักษณ์ของบริษัทและเพื่อรองรับบริการใหม่ๆในอนาคตที่จะให้ทุกคนจะก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่โลกเสมือนจริงทางบริษัทจะให้ความสำคัญกับ “เมทาเวิร์ส” (Metaverse) เป็นลำดับแรก 

ผลก็คือ โลกเสมือนจริงอย่าง “เมทาเวิร์ส” กลายเป็นกระแสแรงมาก และถูกคาดการณ์ว่า จะเป็นกระแสหลักของการใช้ชีวิตของคนเราใน “อนาคต” ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน เล่นเกม ชมคอนเสิร์ต ดูภาพยนตร์ หรือการออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆได้ด้วย

  • ทัวร์อวกาศบูม 

ปี 2564 เป็นปีที่ทัวร์อวกาศบูมสุดๆ เหล่าเศรษฐีต่างโดดลงแข่งในสนามนี้ เริ่มต้นจากวันที่ 11 ก.ค. ที่ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ วัย 71 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทเวอร์จิน กาแล็กติก นำนักท่องเที่ยวออกนอกโลกไปสัมผัสภาวะไร้น้ำหนักก่อนกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

ถัดมาไม่กี่วัน 20 ก.ค. เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทอเมซอน ก็นั่งจรวดนิวเชพเพิร์ดของบริษัทบลูออริจินที่ตนเป็นผู้ก่อตั้งเช่นกันออกไปสัมผัสอวกาศ 

ต่อมาวันที่ 15 ก.ย. บริษัทอวกาศ “สเปซเอ็กซ์” ของอีลอน มัสก์ ปฏิบัติภารกิจ Inspiration4 ส่งยานอวกาศพร้อมผู้โดยสาร 4 คนไปโคจรรอบโลกเป็นเวลา 3 วัน

8 ธ.ค. ยูซากุ มาเอซาวะ มหาเศรษฐีพันล้านเจ้าของธุรกิจแฟชั่นญี่ปุ่น เดินทางด้วยยานอวกาศโซยุซ เอ็มเอส-20 ของรัสเซียไปทัวร์อวกาศ 12 วันบนสถานีอวกาศนานาชาติ

  • แจ้งเกิด “3 ยูนิคอร์น” ปลุกความหวังสตาร์ทอัพไทย

ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อเกิดยูนิคอร์น 3 รายในปีเดียว ได้แก่ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” “แอสเซนด์ มันนี่” และ “บิทคับ” ที่ล้วนอยู่ในกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกในวิถีใหม่ ทั้งโลจิสติกส์ และ ฟินเทค ปลุกความหวังสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบรุ่นใหม่ให้ "คิดใหญ่ และเติบโตแบบนอกกรอบ"  และกำลังขยายอาณาจักรจากไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ นับเป็นยุคทองของสตาร์ทอัพหากจับเทรนด์ของโลกได้ถูก 

  • อภิดีล ซีพี-เทเลนอร์ เขย่าบิ๊กคอร์ปหนีคลื่นดิสรัป 

“เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือกลุ่มซีพี ผนึกกำลังร่วมกับ “เทเลเนอร์ กรุ๊ป” จากนอร์เวย์ ทำข้อตกลงสู่ Equal Partnerships กลายเป็นบิ๊กดีลที่ใหญ่ และน่าจับตามากที่สุดของปี มูลค่าดีลกว่าแสนล้าน ทั้งยังเขย่าภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมโทรคมไทยใหม่ เพราะข้อตกลงนี้ พร้อมเปิดทางการเข้าควบรวมกิจการของ 2 บริษัทลูก “ทรู-ดีแทค” สู่ เทค คอมพานี ที่มีเป้าหมายการทำธุรกิจในระดับโลก

  • ประเทศไทยติดเครื่อง EV

เมื่อนานาประเทศต่างมุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สู่ฐานการผลิตอีวีครบวงจรอันดับ 1 ของอาเซียนจึงสำคัญ ซึ่งบอร์ดอีวีได้กำหนดนโยบาย30@30 ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดปี2573

ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตร ภาษีนำเข้าศุลกากรและการคืนเงินให้ผู้ซื้ออีวี รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จทั้ง ค่าไฟฟ้าที่จูงใจการลงทุน และอำนวยความสะดวกการติดตั้งจุดชาร์จ โดยขณะนี้ ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมันทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนรวมถึง 3 การไฟฟ้าฯ ได้เริ่มมีการขยายสถานีชาร์จอีวีทั้งในปั๊มนอกปั๊มในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวมกันหลักพันสถานี

  • ดีล1.8 แสนล้าน กลุ่มเซ็นทรัล ผนึกซิกน่าซื้อ ‘เซลฟริดเจส’ในยุโรป 

ส่งท้ายปี 2565 ด้วยดีลประวัติศาสตร์อีกครั้งของกลุ่มทุนค้าปลีกสัญชาติไทย "เซ็นทรัล" ผนึกอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก “ซิกน่า” เข้าซื้อกิจการกลุ่มห้างสรรพสินค้า “เซลฟริดเจส” มูลค่าราว 1.8 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ รวม 18 แห่ง อสังหาริมทรัพย์ 7 แห่ง และดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด 

การลงทุนครั้งนี้ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลก้าวสู่ผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ในรูปแบบออมนิแชแนลระดับโกลบอล เสริมทัพก่อนหน้านี้ “เซ็นทรัล” เป็นเจ้าของห้างหรูในประเทศท่องเที่ยวชั้นนำ ได้แก่ รีนาเชนเต ประเทศอิตาลี, อิลลุม เดนมาร์ก, โกลบุส สวิตเซอร์แลนด์, กลุ่มคาเดเว เยอรมนี และออสเตรีย หลังจากการรวมธุรกิจใหม่นี้ จะทำให้ยอดขายของกลุ่มบริษัทกว่า 5,000 ล้านยูโร ในปี 2019 คาดว่าจะเติบโตถึง 7,000 ล้านยูโรในปี 2024 จาก 8 ประเทศ และ 35 เมืองสำคัญในยุโรป 

  • "ส่งออกไทย" ทุบประวัติศาสตร์ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ปี 

การส่งออกไทยใน 2564 ขยายตัว 16 % มูลค่าการส่งออกของไทย 268,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14-15% จากปี 2563 โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 2553 ซึ่งเดือนมิ.ย.เป็นเดือนที่การส่งออกไทยขยายตัวสูงสุดถึง 43.82 % มูลค่า 23,699 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเดือน พ.ค.ขยายตัว 41.59 % มูลค่า23,057 ล้านดอลลาร์ 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวถึง 16 % มาจากจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก เนื่องจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาคการผลิตมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมการเร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ช่วยเพิ่มอุปสงค์ ส่งผลดีต่อการส่งออก  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทไทยอ่อนค่า และการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในทุกรูปแบบร่วมกับภาคเอกชน 

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ ทรานส์ฟอร์มสู่ยานแม่ SCBX 

ประกาศวิสัยทัศน์องค์กรรับบริบทใหม่ของโลก จัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568   สร้างบริษัทสู่หลากธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์ม วางรากฐานรองรับบริบทใหม่ของโลกวางเป้า 5 ปีข้างหน้ามาร์เก็ตแคป แตะ 1 ล้านล้านบาท มีฐานลูกค้าถึง 200 คน ดัน กำไรเพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า 

กลุ่มเอสซีบี "เอกซ์” เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยานแม่ โดยมุ่งสร้างการเติบโตระยะยาว  ส่งบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)  เข้าถือหุ้น 51% มูลค่า 17,850 ล้านบาท ใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างธุรกิจร่วมกัน รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Ecosystem) ที่มี Digital Asset Exchange เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ Ecosystem ในระดับประเทศให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตต่อไป