กทม. : อปท.รูปแบบพิเศษที่ไม่พิเศษ | ชำนาญ จันทร์เรือง

กทม. : อปท.รูปแบบพิเศษที่ไม่พิเศษ | ชำนาญ จันทร์เรือง

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่คนต่างจังหวัดทั้งหลายต่างพากันอิจฉา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่มีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นของตนเอง และไม่มีราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับราชการส่วนท้องถิ่นเหมือนในต่างจังหวัด

 ในความเป็น อปท.รูปแบบพิเศษของ กทม.นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับในนานาอารยประเทศทั้งหลายแล้วยังนับว่าห่างไกลจากหลักการเป็นอันมาก เพราะรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) ยังคงมีบทบาทในการกำกับดูแลและมีบทบาทสำคัญในหลายๆ เรื่อง คือ
๑.เรื่องที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลโดย รมว.มท.ก่อน
๑.๑ การที่จะร่วมกับบุคคลอื่นก่อตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัทหรือเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถืออยู่
๑.๒ การมอบกิจการในอำนาจหน้าที่ให้เอกชนดำเนินการ โดยผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการออกระเบียบว่าด้วยด้วยการมอบให้เอกชนดำเนินการด้วย
๑.๓ การออกข้อบังคับหรือประกาศเพื่อให้ส่วนราชการส่วนกลางหรือส่วนราชการส่วนภูมิภาคมอบอำนาจหน้าที่ของตนให้ กทม.ปฏิบัติ

๒. เรื่องที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลโดย รมว.มท.ก่อน
คือ การตราข้อกำหนด กทม.ใช้บังคับเช่นเดียวกับข้อบัญญัติฯในกรณีที่ไม่มีสภา กทม.หรือมีสภา กทม.แต่เป็นกรณีฉุกเฉินและไม่สามารถเรียกประชุมสภา กทม.ได้ทันท่วงที
๓.เรื่องที่รัฐบาลโดยรมว.มท.มีอำนาจยับยั้งหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อการกระทำของผู้ว่า กทม.หากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นไปในทางเสียประโยชน์ของ กทม.(หลายประเทศต้องไปฟ้องศาลปกครองเอาน่ะครับ)
๔.เรื่องที่ กทม.จะต้องเสนอ ครม.เพื่อตราพระราชกฤษฎีกาก่อนจึงจะกระทำได้
๔.๑ การให้ข้าราชการการเมืองและคณะกรรมการที่ผู้ว่า กทม.แต่งตั้ง ได้รับเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินค่าเบี้ยประชุมและเงินตอบแทนอื่นๆ
๔.๒ การให้ประธานสภาเขตและสมาชิกสภาเขตได้รับเงินประจำตำแหน่ง เงินค่าเบี้ยประชุมและเงินค่าตอบแทนอื่นๆ (ปัจจุบันไม่มีสภาเขตแล้ว เพราะถูกระงับการบังคับใช้ตามการแก้ไข พรบ.กทม.เมื่อ ๑๖ เม.ย.๖๒)

๔.๓ การมอบอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของส่วนราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคให้ กทม.ปฏิบัติในบางกรณี
๔.๔ การตั้งและยุบเลิกสหการ (ปัจจุบันยังไม่การจัดตั้งขึ้น) ซึ่งสหการนี้เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ร่วมกันของ กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการบริหารประกอบไปด้วยผ้แทน กทม. ผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและ อปท.ที่เกี่ยวข้อง

๕.เรื่องที่จะต้องออกเป็นกฎกระทรวงก่อนจึงจะกระทำได้ คือ การที่ส่วนราชการส่วนกลางหรือส่วนราชการภูมิภาคจะมอบอำนาจหน้าที่ของตนให้ กทม.ปฏิบัติ
ฯลฯ
    นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ข้างต้นแล้ว รัฐบาลโดย รมว.มท.ยังสามารถยุบสภา กทม. /การให้สมาชิกสภากทม.ออกจากตำแหน่ง /ไปจนถึงการให้ผู้ว่า กทม.ออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งในต่างประเทศเป็นเรื่องของการดุลและคานอำนาจกันเองระหว่างผู้บริหารกับสภาท้องถิ่น 

กทม. : อปท.รูปแบบพิเศษที่ไม่พิเศษ | ชำนาญ จันทร์เรือง

การยุบสภา กทม.
    กรณีที่ผู้ว่า กทม.และสภา กทม.ขัดแย้งกันจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กทม. ซึ่ง รมว.มท.มีอำนาจยุบสภาฯตามที่ผู้ว่า กทม.เสนอ หรือเป็นกรณีที่การดำเนินงานของผู้ว่า กทม.และสภา กทม.ขัดแย้งกันหรือเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้องจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กทม.หรือแก่ราชการ และไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีการอื่น รมว.มท.โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภา กทม.ได้เลย
    ส่วนการให้สมาชิกสภา กทม.(สก.)ออกจากตำแหน่ง นั้น รมว.มท.มีอำนาจสั่งการให้ สก.ออกจากตำแหน่งหากขาดการประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน
การปลดผู้ว่า กทม.
    การให้ผู้ว่า กทม.ออกจากตำแหน่ง นั้น จะเป็นกรณีที่ ผู้ว่า กทม.ได้กระทำการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง หรือปฏิบัติการ หรือละเลยไม่ปฏิบัติการอันควรปฏิบัติ ในลักษณะที่เห็นได้ว่าจะเป็นเหตุให้เสียหายร้ายแรงแก่ กทม.หรือราชการโดยส่วนรวม หรือแก่การการรักษาความสงบเรียบร้อย (ตีความได้กว้างมาก) หรือสวัสดิภาพของราษฎร 
    สภา กทม.มีอำนาจลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา ขอให้ รมว.มท.เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาลงมติให้ออกจากตำแหน่ง ซึ่ง รมว.มท.ก็จะสั่งให้ผู้ว่า กทม.ออกจากตำแหน่งต่อไป
อำนาจอันน้อยนิด
    ในส่วนของตำแหน่งผู้ว่า กทม.ที่กำลังเป็นกระแสข่าวใหญ่โตในปัจจุบัน ซึ่งว่าที่ผู้สมัครหลายต่างแถลงนโยบายว่าจะทำนั่นทำนี่กันมากมายนั้น จริงๆแล้วผู้ว่าฯเองหรือตัว กทม.เองมีอำนาจหน้าที่มากน้อยแค่ไหนนั้นเราควรจะได้ทราบไว้เป็นข้อมูล คือ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔๙ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่เพียง
๑.กำหนดนโยบาย บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมาย
๒.สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร
๓.แต่งตั้งและถอดถอน รองผู้ว่า กทม./ เลขานุการผู้ว่า กทม./ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่า กทม. และแต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กทม. หรือเป็นคณะกรรมการ เพื่อปฏิบัติราชการใดๆ
๔.บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี  หรือ รมว.มท.มอบหมาย
๕.วางระเบียบ เพื่อให้งานของ กทม. เป็นไปโดยเรียบร้อย
๖.รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม.
๗.อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.นี้และกฎหมายอื่น
โดยไม่ได้เป็น จพง.ตาม ป.วิ อาญาเหมือนผู้ว่าฯจังหวัดอื่นแต่อย่างใด หรือออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนก็ไม้ได้ ฯลฯ 

    ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของ กทม.เองแม้ว่าใน พรบฺ.กทม.จะกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆหลายอย่างเกือบ ๓๐ ข้อ แต่ในความเป็นจริง กทม.ทำได้อย่างจำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง การคมนาคม ซึ่งบางส่วนก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง,รฟม. ฯลฯ/ โรงพยาบาลหรือการสาธารณสุขก็มีหลายหน่วยงาน นอกจาก กทม.รับผิดชอบพอมีปัญหาโควิดเกิดขึ้นเลยตีกันมั่วไปหมด

กทม. : อปท.รูปแบบพิเศษที่ไม่พิเศษ | ชำนาญ จันทร์เรือง
    ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยใน อปท.ประเทศที่เจริญแล้วตำรวจล้วนขึ้นการบังคับบัญชาต่อ อปท.ทั้งสิ้น แต่ที่ กทม.ไม่ใช่ แม้ว่าจะมีการแก้ไข พรบ.กทม.เมื่อปี๖๒ เพิ่มเติมให้ กทม. มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนสถานีตำรวจ ก็เพียงเพื่อให้ กทม.ตั้งงบประมาณสนับสนุนเท่านั้นเอง
    เลือกตั้งผู้ว่าฯอย่างเดียวยังไม่ใช่คำตอบหรอกครับ ต้องปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่เสียใหม่ ให้มีการกระจายอำนาจให้มากกว่านี้

เมืองมหานครขนาดใหญ่ทั้งหลายในโลกล้วนเป็นท้องถิ่นสองชั้น (two tiers) ทั้งนั้น แต่ กทม.กลับรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เสาชิงช้า แล้วยังมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดแทบจะกระดิกไม่ได้จากรัฐบาลโดย รมว.มท.ซ้ำเข้าไปอีกน่ะครับ.