ส่องกล้องมองโอกาสปี 2022 และในอนาคต | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ส่องกล้องมองโอกาสปี 2022 และในอนาคต | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดูเหมือนว่า ช่วงส่งท้ายปีเก่า 2021 ต้อนรับปีใหม่ปี 2022 ดูจะเป็นช่วงที่หดหู่ได้ระดับหนึ่งจากสามปัจจัย ได้แก่ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เงินเฟ้อทั่วโลกและเศรษฐกิจจีน

หากพิจารณาแต่ละปัจจัยเสี่ยง จะพบว่า (1) การระบาดของ Omicron ที่รุนแรงขึ้น (2) จากเงินเฟ้อทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐที่เร่งตัวขึ้นและทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องส่งสัญญาณเร่งยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วขึ้น 
    และจาก (3) ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนที่มากขึ้น จนธนาคารกลางต้องลดดอกเบี้ย บ่งชี้ว่าอนาคตเศรษฐกิจการลงทุนโลกในปี 2021 น่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้น 

แต่หากมองข้ามความเสี่ยงเบื้องหน้า และมองภาพในอนาคตแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าทิศทางในอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจริงจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น

(1) การที่มนุษย์จะต้องอยู่กับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่มากขึ้น ที่จะมีผลกระทบต่อมวลมนุษย์ชาติ

(2) กระแสเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการเงินที่จะเป็นคำตอบของมวลมนุษยชาติในระยะยาว และ

(3) การเปลี่ยนผ่านจากยุคพลังงานแบบปกติไปสู่ยุคพลังงานสะอาด ทำให้ผู้เขียนมองไปถึง 3 อุตสาหกรรมที่จะเป็นโอกาสในยุคปี 2022 เป็นต้นไป

อุตสาหกรรมแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน ทั้งในส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานแบบปกติ โดยการเปลี่ยนผ่านจากยุคพลังงานแบบปกติ (ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน) ไปเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน (เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์  ชีวภาพและชีวมวล)

โดยในการประชุม COP26 ผู้นำทั่วโลกตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (net zero) ใน 2050-2060 เพื่อคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่เคยประกาศใน COP21 

แต่ปริมาณการผลิตพลังงานสะอาดที่ไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์และแรงลม ทำให้ต้องหันไปพึ่งพลังงานแบบดังเดิม ซึ่งสำคัญที่สุดคือ ก๊าซธรรมชาติ (ที่สะอาดที่สุดถ้าเทียบกับน้ำมันหรือถ่านหิน) ทำให้ผู้เขียนจึงเชื่อว่า ราคาก๊าซธรรมชาติจะยังอยู่ระดับสูงอีกในปี 2022 โดยสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (US EIA) คาดว่าราคาแก๊สธรรมชาติจะยังอยู่สูงจากราคาเฉลี่ยก่อน Covid-19 ประมาณ 2-3 เท่า 

แต่ในทางกลับกัน การลงทุนในธุรกิจสีเขียว (Green infrastructure) ก็จะต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลง COP26 โดยมีการคำนวณกันว่า เม็ดเงินลงทุนจะต้องเพิ่มขึ้นอีกกว่า 33 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 30 ปีข้างหน้า จากที่ภาครัฐและบริษัทยักษ์ใหญ่วางแผนไว้ (หรือกว่าปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์) 

ในอีกด้านหนึ่ง ความต้องการในพลังงานสะอาดจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะในการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2022 สำนักวิจัย EIU คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 ล้านคันทั่วโลก (8% ของยอดขายรถทั่วโลก) เติบโตที่ 31% ต่อปี  

ส่วนในประเทศไทยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต (34% ต่อปี) แซงหน้ายอดขายรถยนต์โดยรวม (0.8% ต่อปี) ในปี 2016-2020 ส่วนในอนาคตยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยน่าจะขยายตัวระดับ 10-30% ต่อปี 

ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นทำให้ความต้องการในสถานีอัดประจุสาธารณะ (Public EV Charger) มีมากขึ้นไปด้วย แต่ทั่วโลกมีจำนวนเครื่องชาร์จสาธารณะในปัจจุบันประมาณ 1.3 ล้านสถานี ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าภายใน 2030 จะต้องมีจุดชาร์จสาธารณะ 40 ล้านสถานี และต้องใช้เงินลงทุนปีละ 9 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี แต่หากต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 โลกจะต้องการมากขึ้นถึง 200 ล้านสถานี ดังนั้น การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นอนาคต

อุตสาหกรรมที่สอง ได้แก่ อุตสาหกรรม Fintech และธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ Digital Asset: DA ที่จะตอบโจทย์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ The industrial revolution 4.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก 

โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินเผชิญความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และจากคู่แข่งใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม Tech (เช่น Telecom, Delivery, e-commerce) และ Fintech ที่เข้าถึงข้อมูลมากกว่า 

ภาพดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรม Fintech และสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นทางออกในอนาคต เนื่องจากจะมีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในแง่การเป็นสื่อกลางด้านการลงทุน ลดการเป็นตัวกลางด้านการเงินลง (โดยเฉพาะ DA ที่ใช้ Blockchain เป็นระบบปฏิบัติการ) รวมถึงการระดมทุนแบบใหม่ ๆ เช่น  Initial Coin Offerings (ICO), Security Token Offerings (STO) ที่มีต้นทุนต่ำ และให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูง การโอนถ่ายเงินข้ามพรมแดนทำได้อย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเหล่านี้ก็จะเผชิญกับความเสี่ยงกฎระเบียบที่มากขึ้นเช่นกัน โดยทางการก็กังวลและสกัดกั้นการเติบโตของ DA มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Mean of exchange) รวมถึงจากนโยบายการเงินโลกที่จะตึงตัวมากขึ้น 

อุตสาหกรรมสุดท้าย ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ที่จะมีความต้องการมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยงการกลายพันธุ์ของ COVID-19 โดยผู้เขียนมองว่า การระบาดของสายพันธุ์ Omicron เป็นการเตือนมนุษยชาติว่าโรคระบาดนี้รวมถึงโอกาสของโรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นและอยู่กับเราอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความต้องการในวัคซีนเพื่อต่อกรกับเชื้อ Coronavirusในปัจจุบันและอนาคตจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง 

นอกจากนั้น ในระดับโลก ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ที่คาดไม่ถึงในอนาคต โดยอดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคระบาดสหรัฐ (US CDC) เสนอแนะว่าในระยะต่อไป ทางการทั่วโลกจะต้องมีมาตรการที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคอุบัติใหม่ให้ได้ภายใน 15 วัน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นใน Wuhan ที่ใช้เวลาเกือบ 1 เดือนก่อนประกาศ Lockdown 

นอกจากนั้น ทางสหประชาชาติ ได้มีการตั้งเป้ามาตรการ "90-90-90" ในการควบคุมโรคระบาดระดับโลกอย่าง HIV AIDS ที่สามารถนำมาเป็นมาตรการควบคุมโรคอุบัติใหม่ได้ โดย

(1) ต้องระบุ 90% ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งประเทศได้

(2) กว่า 90% ของผู้ติดเชื้อต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ และ

(3)  ในกว่า 90% ของคนไข้ในการดูแลจากแพทย์นั้น สามารถควบคุมการติดเชื้อ และการแพร่ระบาดได้ 

แม้มาตรการดังกล่าวน่าจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ไม่ให้กระจายสู่ระดับโลกได้ แต่ก็บ่งชี้ว่าทั้งระดับโลก ระดับรัฐบาล ระดับบริษัทเอกชน และระดับประชาชน ต่างต้องใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขในการควบคุมโรคระบาดใหม่มากขึ้น

ผู้เขียนคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข จะต้องปรับเพิ่มขึ้นในระดับ 10% ต่อปีในทศวรรษนี้เป็นอย่างน้อย 

ด้วยภาพดังกล่าว บ่งชี้ได้ว่าอุตสาหกรรมที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงหลังยุค Covid-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน เทคโนโลยีการเงิน และสาธารณสุข หวังว่านักธุรกิจและนักลงทุน คงเห็นโอกาสท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่