ร่างทรง และ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องในสังคมยุค 4.0 | ณัชชา สุขะวัธนกุล

ร่างทรง และ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องในสังคมยุค 4.0 | ณัชชา สุขะวัธนกุล

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ยุคแห่งความหน้าทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความเชื่อเกี่ยวกับโลกอีกหนึ่งมิติ และพลังงานที่มองไม่เห็นยังคงอยู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างช้านาน

สังคมไทยนั้นความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณหรือเทพจากลัทธิต่างๆ  หรือสิ่งที่เหนือการพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์ก็ยังมีให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้คนสามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียที่นำเสนอเนื้อหาในประเด็นนี้มากมายหลากหลายรูปแบบ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อในเรื่องนี้ไปโดยไม่รู้ตัว 
    รวมถึง "ร่างทรง" ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมและความเชื่อรูปแบบหนึ่งด้วย ประเด็นในเรื่องการกระทำการเป็นร่างทรงกับประเด็นทางกฎหมายนั้น หากจะกล่าวถึงบริบทภายใต้สังคมไทยนั้นถือได้ว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากเกี่ยวพันกับความเชื่อและจิตใจของคนนั่นเอง 

การมีความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ผิดอีกทั้งเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากว่าความเชื่อนั้นก่อให้เกิดปัญหาและทำให้บุคคลใดเดือดร้อนหรือเกิดความเสียหาย การถูกหลอกลวง หรือฉ้อโกงผ่านการแอบอ้างเป็นร่างทรงเทพต่าง ๆ ของบุคคล และการอ้างถึงการมีญาณทิพย์แล้วหลอกขอยืมเงินไปหรือในบางกรณีถึงขนาดเป็นการกระทำความผิดอาญา เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยภาพรวม 
    การรักษามาตรฐานให้สังคมดังกล่าวอยู่และขับเคลื่อนต่อไปได้โดยความสงบเรียบร้อย ผู้รักษากฎระเบียบ เจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือนักกฎหมายอาจจำเป็นต้องบังคับใช้และสร้างเครื่องมือทางกฎหมายขึ้นมาเพื่อลงโทษและเอาผิดกับความเชื่อหรือบุคคลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหาย 
    ในปัจจุบัน ความผิดที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องร่างทรงสามารถเกิดขึ้นได้ และประชาชนสามารถตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย เพราะการกระทำความผิดเกิดขึ้นจากการสื่อสารกันผ่านสื่อออนไลน์ 
    การกระทำความผิดส่วนมากจะเกิดขึ้นผ่านการหว่านล้อมประชาชนด้วยความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น การแก้กรรม ทำพิธียกบายศรีเสริมความเป็นมงคลแล้วชีวิตจะราบรื่น ลงท้ายด้วยการวางแผนเอาไว้ของผู้กระทำผิดเพื่อต้องการพาไปร่วมเสพยาเสพติดหรือการทำอนาจาร หรือการหลอกลวงในเชิงทรัพย์สิน ทำให้กฎหมายจำเป็นต้องกำกับดูแลการกระทำบนฐานความเชื่อข้างต้น

ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างถึงการกำกับดูแลความเชื่อในเรื่องนี้ในประเทศสหราชอาณาจักร ผ่านมุมมองทางกฎหมาย ภายใต้กฎหมาย The Witchcraft Act (9 Geo. 2 c. 5), Kingdom of Great Britain in 1735 ตราโดยรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในปี ค.ศ. 1735 ทำให้เกิดการจำกัดอาชญากรรมและการกระทำความผิดที่บุคคลจะอ้างว่า มนุษย์มีอำนาจวิเศษหรือมีพลังในการปฏิกรรมคาถา ศึกษาเวทมนต์หรือแก้ปัญหารักษาโรค ผ่านความเชื่อเรื่องร่างทรง (The Medium) 
    กฎหมายได้ยกเลิกบทลงโทษรุนแรงในยุคการล่าแม่มดและโทษประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหา โดยกำหนดบทลงโทษสูงสุดตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีโทษจำคุกหนึ่งปี ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการพิจารณาคดีแม่มดในยุคสมัยใหม่ และยกเลิกพระราชบัญญัติคาถาแม่มดก่อนหน้านี้ซึ่งเดิมมีพื้นฐานมาจากการไม่ยอมรับการใช้เวทมนตร์ที่ขัดแย้งกับหลักศาสนาคำสอนของศาสนจักร

ร่างทรง และ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องในสังคมยุค 4.0 | ณัชชา สุขะวัธนกุล
    นอกเหนือจากนี้ยังมีบทบัญญัติอย่างเช่น The Scottish Witchcraft Act หรือ REPUBLIC OF ZAMBIA, THE WITCHCRAFT ACT, CHAPTER 90 OF THE LAWS OF ZAMBIA ซึ่งมีแนวความคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมประเด็นเรื่องร่างทรง 
    โดยการตราพระราชบัญญัติกำหนดบทลงโทษสำหรับการปฏิบัติเวทมนตร์คาถา และจัดให้มีความผิด ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกันกับไสยศาสตร์ร่างทรงขึ้นมาโดยจัดการระบบฐานความผิดและการกำหนดโทษให้ชัดเจน รวมถึงพระราชบัญญัติปราบปรามการใช้เวทมนต์คาถาแห่งแอฟริกาใต้ พ.ศ. 2500 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ก็มีพื้นฐานมาจากกฎหมายในศตวรรษที่ 19 ที่คล้ายคลึงกันอันมีพื้นฐานมาจากพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน
    สำหรับประเทศไทยนั้นตัวอย่างหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมในเรื่องนี้ ที่พอจะมีบังคับใช้และกำหนดบทลงโทษกันอยู่บ้าง ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา อาทิเช่น มาตรา 208  ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายแสดงว่าเป็นนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ 
    กล่าวคือในบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีมิจฉาชีพที่หลอกลวงบุคคลที่ศรัทธาในศาสนาและแต่งกายเป็นนักบวชหรือพระภิกษุหลอกให้ทำบุญโดยเรียกเอาเป็นเงินหรือทรัพย์สิน มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่ออันเป็นเท็จ เช่น การที่ไปขอติดต่อร่างทรงหรือผู้ที่แอบอ้างตนว่าเป็นร่างทรงนั้น หลอกขายวัตถุที่อ้างว่าเป็นวัตถุมงคลซึ่งการกระทำนี้ก็เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานหลอกลวงด้วยเช่นเดียวกัน
    ในส่วนของมาตรา 284 ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารนั้น กฎหมายข้อนี้อาจเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะหลายครั้งการที่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นร่างทรงได้ทำการหลอกลวงคนไปเพื่อทำอนาจารนั้นมีความผิด โดยเจตนาคือหลอกลวงเพื่อการกระทำนั้น ด้านความผิดฐานฉ้อโกงมาตรา 341 และมาตรา 342  การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ บทบัญญัตินี้อาจจะครอบคลุมการมีอยู่ของร่างทรงทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่แล้วเจตนาการหลอกลวงและทำให้เสียทรัพย์นั้นมีอยู่ให้เห็นได้ชัด
    ในปัจจุบัน ประเทศไทยอาจยังไม่มีกฎหมายที่สามารถจัดการกับร่างทรงที่เข้าข่ายการกระทำความผิดอาญาได้โดยตรง หรือมีกฎหมายเพื่อร่างทรงโดยเฉพาะเหมือนอย่างในประเทศที่ยกตัวอย่างมา 
    การจะเอาผิดต่อการแอบอ้างเป็นร่างทรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายนี้จึงทำได้เพียงนำกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมาปรับใช้ ทั้งนี้ยังเป็นความท้าทายอย่างมากในประเทศไทยเพราะเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนซึ่งมีมาอย่างยาวนาน 
    กระบวนการทางกฎหมายอาจจะต้องมีการมาอภิปรายให้ตกผลึกเพื่อกำกับดูแลประเด็นปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
คอลัมน์กฎหมาย 4.0 
ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์