Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม (ตอนที่ 1) | ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม (ตอนที่ 1) | ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

Web3 ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจได้อย่างสมบูรณ์จากการตั้งใจอ่าน ฟัง หรือศึกษาเชิงลึก แต่เข้าใจได้จากการสัมผัสมันแบบไม่ได้ตั้งใจ

ระหว่างที่ normies ทั่วไปกำลังดำเนินชีวิตด้วยกายหยาบไปตามปกติ เศรษฐกิจภพใหม่ได้ปะทุขึ้นมาอย่างอึกทึกครึกโครมโดยที่พวกเขาไม่ได้ยิน มันส่งเสียงดังขึ้นเมื่อที่ดินที่สัมผัสไม่ได้ 1 ผืนขายได้ในราคา 80 ล้านบาท, 
    เมื่อประธานาธิบดีจากประเทศแถบลาตินซื้อบิทคอยน์ไป 250 ล้านบาทผ่านโทรศัพท์มือถือ, เมื่อการระดมทุนของคนแปลกหน้าเกือบซื้อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง เมื่อสินเชื่อ DeFi ไต่ถึงจุดที่มีมูลค่าอยู่ราวครึ่งหนึ่งของสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย,

เมื่อพบว่าการฝากเงิน Stablecoin แล้วได้ดอกเบี้ยดีกว่าฝากสกุลท้องถิ่น 6-7 เท่าโดยไม่ต้องออกจากบ้าน ฝากถอนได้ตามใจชอบ และไม่ต้อง KYC ยังไม่รวมสินค้าและบริการดิจิทัลระดับโลกและระดับรากหญ้าที่ผุดเกิดกันแทบทุกชั่วโมงในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เคยหลับใหล 
    คริปโทเคอร์เรนซี่อยู่เบื้องหน้าปรากฏการณ์เหล่านี้มาตั้งแต่ต้นและมักถูกโยงเข้ากับเรื่องราวของการเก็งกำไร ต้มตุ๋น ติดเกม ติดกาว รวมถึงประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ โครงสร้างภาษี และโครงสร้างอำนาจ  
    ประเด็นเหล่านี้ล้วนยังคงมีความจริง แต่ไม่ครบถ้วน และที่สำคัญ ก็ใช่ว่าสถานะปัจจุบันในโลกจริงและโลกอินเทอร์เน็ต Web2 ที่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ครองอำนาจจะดีนักสำหรับคนหมู่มาก 
    เงินอนาคตไม่ใช่ทุกสกุลที่สร้างขึ้นมาเพื่อปั่นแล้วทุบ ไม่ใช่แค่เครื่องมือเพื่อการชำระ และไม่ใช่สินทรัพย์ที่สามารถวิเคราะห์หรือตัดสินได้ครบถ้วนได้ด้วยเพียงองค์ความรู้จากอดีต  

บางครั้งเงินอนาคตคือ บริษัทที่ไม่มีซีอีโอ คือครอบครัวของคนแปลกหน้า คือประเทศล่องหนที่มีจริงแต่ไม่มีนักการเมือง และหลาย ๆ ครั้งมันคือความฝัน อุดมการณ์และการต่อสู้ของผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบบนโลกจริง
    แต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร สำคัญที่สุดคือมันเป็นตั๋วรถไฟสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคม Web3 ที่จะไม่รอใคร จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปล่อยให้ปัจเจกได้ทดลอง ได้บ้าง เสียบ้าง ถูกหลอกบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง

เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะได้เรียนรู้ ไต่เต้าจากผู้ตามไปสู่ผู้นำที่สร้างคุณค่าได้ทันเกาหลีใต้ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งได้นำประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว 

บทความสามตอนในซีรีส์ “Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม” จะไปสำรวจประเด็นสำคัญใน 3 มิติต่อไปนี้ ได้แก่ 1) Ecosystem Consumption 2) Power & Ideology และ 3) Collective Decisioning   
    ในมิติแรก “Ecosystem Consumption” คือการบริโภคสินค้าและบริการที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้เล่นในระบบนิเวศบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ผู้สร้างสถานที่ ผู้รับฝากและให้บริการสภาพคล่อง องค์กรแบบ Decentralized Autonomous Organizations ฯลฯ หลักไมล์สำคัญของการค้าในโลก Web3 คือเราได้เลยป้าย “ของเล่น” ไปเรียบร้อยแล้ว 

Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม (ตอนที่ 1) | ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
    วันนี้ smart contract ได้ให้กำเนิดจริตใหม่แห่งการบริโภคสินค้าดิจิทัล ณ จุดที่ “ความจำกัดที่ยืนยง” ของสินค้า ได้มาบรรจบกับ “ความไร้ขีดจำกัด” ของความคิดสร้างสรรค์อย่างงดงาม 
    “ความจำกัดที่ยืนยง” ได้สร้างความหมายใหม่ให้กับการช้อปปิ้งและ branding ไม่ว่าจะเป็นการจับจองที่ดินเพื่อทำธุรกิจ ปล่อยเช่า และเพื่อ “อยู่อาศัย”  หรือจะเป็นการซื้อเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และรูปโปรไฟล์ล้ำค่าที่มีเพียงหนึ่งเดียวในพหุภพ  
โครงการที่โดดเด่นที่สุดในจักรวาลนฤมิต อย่าง The Sandbox, Decentraland, และ Portals แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบทบาทของอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลในการเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจใหม่ 
    ในระบบใหม่นี้ คุณเป็นได้ทั้งผู้เล่น ผู้สร้างประสบการณ์ และเจ้าของที่ดิน คุณอาจตกหลุมรักกับกับอาชีพใหม่ เป็นนักประกอบเรือยอร์ชเทียมแล้วขายมันไปได้ในราคามากกว่า 20 ล้านบาท

หรือคุณอาจปล่อยเช่าคอนโด ตัวคุณเอง และเครื่องแต่งกายให้กับเหล่านักท่องเที่ยวที่อยากมาใช้เวลาในดาวน์ทาวน์กับดาราที่พวกเขาไม่เคยเข้าถึง
    อุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องแต่งกายก็กำลังถูกเขย่า การแพร่ระบาดของรูปโปรไฟล์ NFT พิสูจน์แล้วว่าวัฒนธรรมการบริโภคสินค้า luxury นั้นไม่ต่างจากโลกจริงนักที่จะมีการอวด การโชว์แบรนด์เนม และการแสดงจุดยืนผ่านอัตลักษณ์ใหม่ของผู้บริโภค 
ในอนาคตโครงการแนวหน้าอย่าง LUKSO ที่จะสามารถเชื่อมเครื่องแต่งกายโลกจริงกับร่างใหม่ของมันและสร้างความมั่นใจว่า เสื้อผ้าหน้าผมจะติดตามเราไปได้ทุกที่อย่างไร้รอยต่อไม่ว่าจะในภพใดก็ตาม 
    หัวใจสำคัญที่จะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่นี้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือประสิทธิภาพและความหลากหลายของผู้เล่นในระบบนิเวศการค้าภายในระบบบล็อกเชนแต่ละชนิด

เพื่ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนของคุณค่าโดยใช้พลังงานและต้นทุนต่ำรวมถึงเคลียร์ธุรกรรมได้รวดเร็วอย่างใน Solana หรือในเวอร์ชั่นถัดไปของ Ethereum ที่ทุกคนเฝ้ารอ  
    ท่ามกลางความผันผวนและความเถื่อนที่มากับเทคโนโลยีใหม่ จะมีคนที่ชีวิตพังและคนที่ถูกหลอก และจะมีผู้ที่ไม่พอใจกับการท้าทายอำนาจ  แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามันอาจนำไปสู่ผู้ชนะหน้าใหม่ ทักษะใหม่ ปลายทางส่งออกสินค้าใหม่ และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ยังรอคนไทยไปค้นพบเป็นชาติแรก 
    Web3 ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจได้อย่างสมบูรณ์จากการตั้งใจอ่าน ฟัง หรือศึกษาเชิงลึก แต่เข้าใจได้จากการสัมผัสมันแบบไม่ได้ตั้งใจในฐานะผู้บริโภค ผู้ผลิต และพลเมืองโลกใหม่เท่านั้น   
    พบกับมิติของ “อำนาจและอุดมการณ์” ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในตอนถัดไป.

Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม (ตอนที่ 1) | ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

คอลัมน์ คิดอนาคต
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation