คิดวิเคราะห์อย่างมีความสุข | บวร ปภัสราทร

คิดวิเคราะห์อย่างมีความสุข | บวร ปภัสราทร

ทักษะที่จำเป็นที่สุดสำหรับการทำงานในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คือการคิดเชิงวิเคราะห์ อะไรที่ดูเหมือนว่ากำลังจะดี ก็กลายเป็นมีอุปสรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมาได้เสมอ

ถ้าคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ก็มีแต่ตามหลังปัญหา เจอวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำอีก คิดวิเคราะห์อธิบายอย่างง่ายที่สุดคือ คิดหาเหตุผลว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าเห็นเขาปิดประเทศเพราะมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ ก็คิดหาเหตุผลว่าทำไมเขาปิด แต่เรายังเปิดอยู่ได้ ซึ่งคิดวิเคราะห์กันมากๆ มักทำให้ชีวิตไม่ค่อยเป็นสุข 
    เราพยายามจะหาเหตุหาผลของสรรพสิ่งรอบตัว ถ้าอธิบายได้ก็สบายใจ แต่ถ้าพยายามวิเคราะห์แล้วคำตอบยังไม่มีว่าทำไมอะไรจึงเกิดขึ้น ยิ่งการทำงานมักมีเรื่องผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้อง การคิดวิเคราะห์ที่เปิดหลักสูตรแพงๆ ให้นักบริหารเล่าเรียนกันจะยิ่งทำให้การบริหารเต็มไปด้วยทุกข์ มากบ้างน้อยบ้าง

ปรมาจารย์คนหนึ่งที่ฮาวาร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ คงเป็นที่ยอมรับกันได้ว่าท่านคิดวิเคราะห์เก่งระดับโลกแน่ๆ ท่านอาจารย์ท่านนี้มีลูกศิษย์มากมาย ส่วนใหญ่ถ้าไม่กลายเป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่ง

ลูกศิษย์ของท่านได้ช่วยกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของท่านไว้หลายเล่ม แต่เล่มหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเล่มที่บอกว่า จะคิดวิเคราะห์ให้ประสบความสำเร็จอย่างไรโดยไม่มีทุกข์จากการคิดนั้นตามมา 

ตำราสอนการคิดวิเคราะห์หาอ่านได้เต็มไปหมดในทุกวันนี้ แต่ยิ่งอ่านมาก ยิ่งฝึกมาก วิเคราะห์ยิ่งเก่งจะพบว่าตนเองมีทุกข์มากขึ้น ตำราเรื่องคิดวิเคราะห์อย่างมีความสุขหายากกว่าเยอะ

ท่านเริ่มต้นว่า ที่วิเคราะห์แล้วมีทุกข์นั้น เพราะอาจกำลังอิจฉาคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอยู่ การไปคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่มีความสำเร็จของคนอื่นเป็นองค์ประกอบหนึ่ง มักปะปนไปกับความอิจฉา แทนที่จะไปคิดวิเคราะห์ว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็จะกลายเป็นอะไรเกิดขึ้นแล้วทำให้คนนั้นประสบความสำเร็จ 

ถ้าคนโง่ได้นั่งเก้าอี้ผู้บริหาร แล้วเราไปคิดวิเคราะห์ว่าทำไมคนโง่อย่างนั้นจึงได้ดี การวิเคราะห์นั้นจะนำทุกข์มาให้ ฉันเก่งกว่าตั้งเยอะ ทำไมฉันไม่ได้เก้าอี้นั้น

อาจารย์ท่านแนะนำว่า ถ้าอยากเป็นนักคิดวิเคราะห์ชั้นดี ให้เลิกนิสัยขี้อิจฉาไปให้ได้ก่อน ซึ่งลูกศิษย์ก็ถามกลับไปว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก อาจารย์ท่านตอบว่าเราลดอิจฉาได้โดยพยายามยินดีกับความสำเร็จนั้น อย่ามัวแต่คิดว่าโง่แล้วทำไมได้เก้าอี้ แต่ให้คิดใหม่ว่าโง่ขนาดนี้แล้วยังได้เก้าอี้ แปลว่าเขาเป็นคนโชคดี

ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย อย่าคิดวิเคราะห์โดยมุ่งหมายเพื่อจับผิดคนนั้นคนนี้ การวิเคราะห์หาความผิดของผู้อื่น เปลืองแรงคิดมากๆ กว่าที่จะบอกได้อย่างมีเหตุมีผลว่าใครดีใครเลว เพราะเราต้องสู้กับความลำอียงที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเรา 

คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อดังเดิมของตนเอง ถ้าว่าเขาเลว แต่เจอข้อมูลบอกว่าเขาดี เลยกลายเป็นต้องคิดสู้กับความลำเอียงของตนเอง เหมือนทะเลาะกับตัวเอง ซึ่งคิดไปก็ทุกข์ไปพร้อมกัน

ถ้าความคิดนั้นนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด อย่ามัวแต่เสียอกเสียใจ กล่าวโทษตนเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าทำไมคิดวิเคราะห์ไม่รอบคอบเพียงพอ การตัดสินใจในโลกที่ไม่มีความแน่นอนนั้น การตัดสินใจที่ดี อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวก็ได้ จึงให้ถือเสียว่าครั้งนี้โชคไม่ดี แล้วยุติการกล่าวโทษตนเองไปเสีย ในทางตรงข้าม ถ้าพบเจอใครที่ตัดสินใจแย่ๆ แล้วผลลัพธ์ออกมากลายเป็นดี ท่านให้มองว่าเป็นความโชคดีของเขา จะได้ไม่ต้องวนกลับไปอิจฉาเขาอีก

เรื่องใดที่คิดวิเคราะห์แล้วเห็นว่ารู้ไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับชีวิต ก็ไม่จำเป็นต้องไปเปลืองแรงเปลืองสมองคิดวิเคราะห์เรื่องนั้น พยายามบอกตนเองไว้เสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดทุกเรื่อง

เรื่องไหนที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตการงานของเรา ก็อย่าไปคิดวิเคราะห์ให้ทุกข์กันเลย หยุดไว้แค่นั้นด้วยการบอกตัวเองว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง คิดวิเคราะห์เฉพาะในเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้เสมอ

ทักษะสำคัญคู่กับทักษะการคิดวิเคราะห์ คือการเรียนรู้จากการฝึกกระทำ ท่านใดอยากมีทั้งสองทักษะนี้ให้ลองฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีความสุขนี้ดู.