‘โซเชียลมีเดีย’ กับ ‘วิธีคิดเชิงวิเคราะห์’

‘โซเชียลมีเดีย’ กับ ‘วิธีคิดเชิงวิเคราะห์’

การรับรู้ข่าวสาร การเชื่อในข้อมูลข่าวสารของคนยุคนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เชื่อง่าย แต่ขาดวิธีการคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งโซเชียลมีเดียเหมือนกับเทคโนโลยีอื่น เป็นดาบสองคมได้ในคราวเดียว ใช้ในทางที่ดีจะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดจะสร้างพิษร้าย

หากไม่นับวิกฤติเศรษฐกิจ และโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาและอาจจะพัฒนาเป็นอีกวิกฤติที่สำคัญ คือ วิธีการใช้ “โซเชียลมีเดีย” ในหลากหลายบริบทของสังคมไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นข่าว “เฟซบุ๊ค” กลายเป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถาม และมองไปถึงอนาคตของบริบทการใช้โซเชียลมีเดียที่ควรจะสร้างประโยชน์ในเชิงบวกมากกว่า สร้างผลกระทบในเชิงลบ ตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด เราเห็นบทบาทของโซเชียลมีเดีย ที่กลายเป็นช่องทางการสื่อสารหลัก รวมถึงเป็นช่องทางในการรับรู้ข่าวสาร เป็นช่องทางในการทำเงิน เราเห็นคนไทยมากมาย ประสบความสำเร็จจากการใช้โซเชียลมีเดียสร้างรายได้ กลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน หากมองในเชิงธุรกิจ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ต้องถือว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ มีศักยภาพและเป็นแนวโน้มการค้าในโลกยุคอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็ว โซเชียลมีเดียบางตัว คนไทยใช้กันอย่างมหาศาลติดอันดับโลก ดึงดูดให้ยักษ์เทคโนโลยีมุ่งหน้าเข้ามาตั้งบริษัท ทำตลาดเพื่อสรรหาบริการมาตอบโจทย์ โซเชียลมีเดีย ยิ่งกลายเป็นช่องทางที่ทรงอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี สมาร์ทโฟน และอยู่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูถึงขีดสุด เป็นยุคที่เราส่งผ่านความปรารถนาดี และความจริงใจ ความรู้จัก ผ่านทางเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก การใช้ชีวิตแบบอนาล็อกความคุ้นชินกับการนัดพบปะสังสรรค์ ตบไหล่ให้กำลังใจยามผิดหวัง การนั่งลงสบตา พูดคุยปรับความเข้าใจ จุดประกายความเอื้ออาทรระหว่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์ แต่ความเอื้ออาทรเหล่านี้ เริ่มขาดหายไปในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท และทรงอิทธิพลต่อชีวิตอย่างสูงสุด เพราะคนยุคนี้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกผ่านเครื่องมือสื่อสาร ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือผ่านตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น  

ขณะที่ การรับรู้ข่าวสาร การเชื่อในข้อมูลข่าวสารของคนยุคนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เชื่อง่าย เข้าใจง่าย แต่ ‘ขาดวิธีการคิดเชิงวิเคราะห์’ ขาดการกลั่นกรองข้อมูล ขาดการค้นคว้าหาหลักฐานอ้างอิง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็วไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอะไร กลายเป็นว่าเราใช้เทคโนโลยี ใช้โซเชียลมีเดียไปในแบบที่ไม่ได้ประโยชน์มากพอ บางครั้งก็ใช้ไปทางที่ผิด เรายังเห็นเยาวชนโดนบูลลี่บนโซเชียลมีเดีย เราเห็นอาชญากรในคราบคนดีใช้เพื่อล่อลวงบริการทางการเงิน และที่สำคัญเรายังเห็นการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธทำลายความน่าเชื่อถือ ห้ำหั่นกันจนแทบไร้ที่ยืน ด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย เป็นสถานที่เผยให้เห็นถึงความคับแคบของจิตใจ โซเชียลมีเดียก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่น เป็นดาบสองคมได้ในคราวเดียว ใช้ในทางที่ดีจะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดจะสร้างพิษร้ายอย่างยากที่จะจินตนาการ