เก่งนอกสายตา ปิดทองหลังพระ | บวร ปภัสราทร

เก่งนอกสายตา ปิดทองหลังพระ | บวร ปภัสราทร

ถ้าความเก่งที่ใช้สร้างความสำเร็จอยู่นอกสายตาผู้คน แม้เราทำงานสำเร็จมามากมาย ก็จะไม่ได้รับคำยกย่องใดๆ ถ้าเป็นลูกน้อง แล้วทำงานได้ผลดีมาสารพัดอย่าง แต่ตอนที่มีเก้าอี้ที่ใหญ่โตกว่าว่างลง เก้าอี้นั้นกลับกลายไปเป็นของคนอื่นที่ดูเหมือนมีดีน้อยกว่าเรา

แสดงว่าความเก่งทั้งปวงที่เราว่าเรามีอยู่นั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในสายตาของคนอื่น ถ้าทนปิดทองหลังพระไปได้เรื่อยๆ ก็อยู่ไปแบบเดิมจนกว่าทองจะเต็มหลังพระ แล้วเริ่มล้นออกมาด้านหน้าให้คนอื่นได้พบเห็น ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นคงมีคนอื่นได้ดิบได้ดีแซงเราไปเยอะแล้ว ถ้าคิดว่าเก่งแล้วควรต้องมีคนเห็นบ้าง คงต้องเติมเต็มบางอย่างเพิ่มขึ้นมากกว่าการก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อยๆ
    อย่าคิดไปเองว่าทุกอย่างที่เราได้สร้างความสำเร็จขึ้นมานั้น จะเป็นที่พบเห็นของคนอื่น มีสินค้าดีๆ แต่ไม่เคยเอาไปวางในตำแหน่งที่ลูกค้าพบเจอ สินค้าดีๆ เหล่านั้นก็ยากนักที่จะมีคนซื้อ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราสร้างความสำเร็จใดๆ ขึ้นมาได้ อย่าลืมหาหนทางบอกให้ผู้คนทราบด้วยว่า ความสำเร็จที่เราสร้างขึ้นมานั้น มีส่วนช่วยให้ผู้คนได้อะไรดีขึ้นมาบ้าง 

อย่าบอกแค่ว่าได้ทำอะไรขึ้นมาบ้าง แต่ให้บอกว่าที่เราได้ทำไปนั้นให้อะไรดีๆ กับผู้คนบ้าง อย่าบอกแค่ว่าทุ่มเททำงานหนักไม่หลับไม่นอนมาแรมเดือนเพื่อให้งานนี้สำเร็จ แต่ให้บอกว่างานนี้เสร็จแล้ว คนไหนได้อะไรดีขึ้นมาบ้าง ต้องบอกทั่วกันว่า ความสำเร็จของเราทำให้ชีวิตการงานใครต่อใครมีอะไรดีขึ้นอย่างไรบ้าง
    พยายามสะท้อนความเก่งของเราให้คนเห็นจากวงการเดียวกันในเวทีที่ใหญ่กว่า หลายคนแสดงความเก่งเฉพาะเมื่ออยู่ในองค์กรของตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงความเก่งให้ปรากฏในเวทีโลก ในบ้านพูดเหมือนนักปราชญ์ผู้มากด้วยความรู้ แต่นอกบ้านกลับดูเป็นตัวตลก จะพยายามเคี่ยวเข็ญให้คนเชื่อในความเก่งอย่างไร ก็หาคนเชื่อยากอยู่ ยกเว้นก็แต่เพียงแม่ยกที่ติดอกติดใจแบบไม่ลืมหูลืมตากับลูกสมุนเท่านั้น 
    นานมาแล้วมีคนใหญ่คนโตในวงการหนึ่ง เวลาอยู่ในองค์กรดูเก่งระดับเซียน แต่พอไปปรากฏตัวในเวทีโลกกลับไม่เหลือราศีของเซียนให้เห็นแม้แต่น้อยนิด สุดท้ายคนใหญ่คนโตคนนั้นก็ต้องใช้วิธีห้อยโหนตนเองไว้กับอะไรสักอย่างเพื่อให้คนยอมรับความเก่งในกะลาของตนเอง 
    เวทีที่ใหญ่กว่าช่วยยืนยันความเก่งได้เป็นอย่างดี สังคมที่ใหญ่กว่ามีอิทธิพลต่อสังคมที่เล็กกว่าเสมอ แต่ต้องระวังให้ดีว่าเมื่อเวทีที่ใหญ่กว่าสามารถสะท้อนความเก่งของเราให้ปรากฏต่อสายตาผู้คนได้ เวทีนั้นก็สามารถสะท้อนความป้อแป้ของเราได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น “เซียนในกะลา” ทั้งหลายไม่ควรไปปรากฏตัวในเวทีใหญ่ เพราะมีโอกาสที่คนจะเห็นว่าที่แท้ไม่ใช่เซียน เป็นเพียงแค่เบ๊จำแลงเท่านั้น

เก่งไม่เก่งในสายตาของผู้คนเป็นค่าสัมพัทธ์ คือเทียบกับที่เคยพบเคยเห็นมาแล้ว ถ้าทำได้จริงตามที่เคยบอกไว้ คนก็บอกว่าเก่ง ถ้าทำไม่ได้ตามที่เคยบอกไว้ แล้วแสดงความรับผิด ไม่เอาแต่แก้ตัวเป็นพัลวัน คนก็บอกว่าเก่ง ถ้าเคยเสนอทางออกในเรื่องยากๆ ให้คนเห็นได้ ถ้าเคยเป็นที่พึ่งพาทางความคิด คนก็บอกว่าเก่ง 
    นอกจากนั้น ความเก่งยังถูกเปรียบเทียบกันระหว่างคนเก่ากับคนใหม่เสมอ ทำงานแล้วคนได้อะไรต่ออะไรมากกว่าที่เคยได้จากคนเก่า เขาก็ว่าเก่ง แต่ถ้าไม่อยากแพ้คนเก่า ให้หาทางสร้างความสำเร็จในเรื่องที่แปลกใหม่ไปกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน แต่ถ้าชอบเลียนแบบ ต้องมีนวัตกรรมเพียงพอที่จะเลียนแบบแล้วได้ของที่ดีกว่าต้นแบบของเดิมให้คนเห็นได้
    อยากให้คนอื่นเห็นความเก่ง สรุปง่ายๆ ได้ 3 ข้อ หรือ CARC คือ Context บอกว่าเรื่องที่เราเกี่ยวข้องอยู่นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างไร, Action เราได้สร้างความสำเร็จใดบ้างในเรื่องนั้น, Result ความสำเร็จที่เราได้สร้างขึ้นนั้นทำให้ใครได้อะไรดีขึ้นมาบ้าง แต่ให้ระวัง และ Comparison การเปรียบเทียบกับเรื่องเดิมคนเดิมเอาไว้ให้ดี.