Networked Local Economy : สู่การพัฒนาที่ยืดหยุ่น ทั่วถึงและยั่งยืน

Networked Local Economy : สู่การพัฒนาที่ยืดหยุ่น ทั่วถึงและยั่งยืน

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจรายย่อยและการว่างงาน สะท้อนจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่ส่งผลให้จำนวนเอสเอ็มอีร้อยละ 80 ขาดสภาพคล่องเพิ่มสูง

หากวิกฤติโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะมีธุรกิจกลุ่มนี้ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก อาจมีคนว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ว่างงานถึงกว่า 500,000 คน จึงเป็นเรื่องน่ากังวลที่วิกฤติโควิด-19 อาจสร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างให้กับประเทศ เพราะธุรกิจรายเล็กที่สายป่านการผลิตสั้นจะล้มหายตายจากไป เหลือแต่เพียงธุรกิจขนาดใหญ่ที่สายป่านยาวกว่า
    ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ร้อยละ 5 มีสัดส่วนกำไรต่อรายรับสูงถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้การล้มหายตายจากของธุรกิจรายเล็กจะซ้ำเติมปัญหาผลิตภาพต่ำของประเทศ อันมีสาเหตุจากการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังก่อนวิกฤติโควิด-19 

รัฐมีมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นการช่วยเหลือและประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น สะท้อนจากกระทรวงการคลังออกมาตรการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาคนไทย 26 ล้านคนในการระบาดระลอกแรก แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในระยะยาว
    ดังนั้น การผลักดันโครงข่ายเศรษฐกิจฐานราก (Networked Local Economy) ที่สนับสนุนให้คนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยพึ่งพาตนเองได้ มีเครือข่ายเพื่อแบ่งปันนวัตกรรม เทคโนโลยี และร่วมกันแชร์ความเสี่ยง คือคำตอบ
    เพราะการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพิ่มโอกาสให้ตลาดสินค้าและบริการของประเทศมีนวัตกรรมและไอเดียที่หลากหลายจากคนหลายกลุ่ม ต่อยอดไอเดียซึ่งกันและกันผ่านโครงข่ายการผลิต ลดการกระจุกตัวของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเก่า และเป็นการกระจายการเจริญเติบโตสู่คนหมู่มากอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว
    โครงข่ายเศรษฐกิจฐานรากจะเกิดได้ นโยบายการพัฒนาต้องช่วยลดอุปสรรคใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจรายย่อยเพื่อเปลี่ยนไอเดียให้เป็นสินค้าบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในยามวิกฤติ

2) แพลตฟอร์มตัวกลางที่เชื่อมต่อผู้ประกอบการเพื่อแบ่งปันนวัตกรรมผ่านโครงข่าย และ 3) มีกลไกที่เอื้อให้สามารถปรับเพิ่มลดกำลังการผลิตได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว หรือเข้าออกตลาดได้อย่างสอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้น ถ้าปลดล็อกเหล่านี้ได้ ประเทศไทยจะมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น มีความหลากหลายของไอเดีย และ กระจายผลประโยชน์การเติบโตได้อย่างทั่วถึง
    ดังนั้น นโยบายพัฒนาที่ควรผลักดันอย่างจริงจังควบคู่ไปกับมาตรการเยียวยาระยะสั้น เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 นโยบายหลัก ได้แก่
    1.พัฒนาระบบตลาดทุนและการเข้าถึงอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับมาตรการผ่อนปรนหนี้ในระยะสั้น เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการสภาพคล่องในยามวิกฤติได้ดีขึ้น พัฒนาระบบตลาดทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย และธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพให้พวกเขามีทางเลือกระดมทุนได้ในต้นทุนที่ถูก
    2.พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าบริการและไอเดีย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการค้นหากลุ่มลูกค้า หรือปัจจัยการผลิตได้ในต้นทุนที่ถูก รวดเร็ว ทำให้คนทั่วไปมองเห็นความเป็นไปได้ของการเป็นผู้ประกอบการเพราะหาลูกค้าและวัตถุดิบได้ง่าย และช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานมีโครงข่ายที่กว้างขวาง สามารถแบ่งปันไอเดียระหว่างผู้ผลิต และกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละระดับขั้นการผลิตได้
    3.ปฏิรูปตลาดปัจจัยการผลิตให้หน่วยธุรกิจสามารถปรับตัว หรือเข้าออกตลาดได้เร็ว เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยที่ต้องปิดตัวจากวิกฤติกลับเข้าสู่ตลาดได้เร็วหลังจากที่วิกฤติซาลง ผ่านการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานให้มีความคล่องตัว 
    นายจ้างสามารถเพิ่มลดจำนวนแรงงานได้ในต้นทุนที่ถูกลง หรือการพัฒนาตลาดซื้อขายปัจจัยทุน เช่น การซื้อขายทอดตลาดอุปกรณ์ เครื่องจักรที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้หน่วยธุรกิจรายย่อย แบกรับต้นทุนในการปรับกำลังการผลิตต่ำลง
    อย่างไรก็ตาม นโยบายปฏิรูปตลาดปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะตลาดแรงงานควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและควบคู่ไปกับนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้คนมีทักษะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ เช่น ส่งเสริมให้คนมีทักษะหลายด้านแทนที่การรู้ลึกเฉพาะด้านเพื่อให้เขาเป็นได้ทั้งลูกจ้าง หรือผู้ประกอบการได้เอง ตามแต่โอกาสและสถานการณ์
    ในสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ไทยจำเป็นต้องปรับตัวเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่ระดับผิวเผิน เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โชคร้ายที่มาชั่วครั้งชั่วคราว แต่คือบทเรียนว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในโลกที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่นนั้นจะรุนแรง แผ่กระจายในวงกว้าง และยากต่อการคาดเดา
     จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มีประสิทธิภาพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    โครงข่ายเศรษฐกิจฐานราก คือรากฐานสำคัญของประเทศไทยที่จะช่วยให้เราเติบโตไปได้อย่างมั่นคง ทนฝ่าพายุร้ายที่โหมกระหน่ำอย่างไม่ปรานีและสุดจะคาดเดา เพราะทุกคนพึ่งตัวเองและปรับตัวตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านโครงข่ายเชื่อมโยงไปด้วยในตัว.