บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก |คิดอนาคต

บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก |คิดอนาคต

บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรอันเป็นรากฐานที่สำคัญของ "เศรษฐกิจฐานราก" (Local Economy)

บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล, ดวงกมล แก่นสาร 
www.facebook.com/thailandfuturefoundation

การให้ความสำคัญกับ "เศรษฐกิจฐานราก" ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถแสวงหาโอกาสและพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในโลกหลังโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง  การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง จำเป็นต้องดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังนี้

    ประการแรก การปรับตัวของเกษตรกรเอง เกษตรกรต้องปรับจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตแบบใหม่ ทำเกษตรผสมผสาน ผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียม เกษตรกรในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้แข่งขันแต่ในประเทศต้องแข่งกับต่างประเทศด้วยและถ้าไม่ปรับตัวก็จะแข่งขันไม่ได้ ทั้งนี้ ข้อดีของเกษตรกร คือ มีความพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองโดยดูจากเกษตรกรต้นแบบ รัฐต้องหาค้นหาต้นแบบหรือผู้นำชุมชนให้เจอเพื่อจูงใจเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนการผลิตที่นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น 

    ประการที่สอง การปรับตัวของภาครัฐ  โดยปรับมุมมองที่มีต่อเกษตรกรจากการเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรให้เป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งปรับทิศทางการส่งเสริมที่ไม่ให้ความสำคัญเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเท่านั้นแต่ต้องทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น รัฐต้องปรับนโยบายให้เป็น Integrated System สนับสนุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน  

นโยบายภาคเกษตร จึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปรับจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตแบบใหม่ สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย โดยที่เกษตรกรต้องมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 

นอกจากนี้ การส่งเสริมการกระจายอำนาจเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในยุคหลังโควิด-19 รัฐต้องทำงานให้ยืดหยุ่นและรวดเร็วขึ้น การให้อิสระในการทำงานแก่ส่วนท้องถิ่นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและนวัตกรรมในพื้นที่ รวมทั้งการบริหารท้องถิ่นจากคนท้องถิ่นจะทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมเพิ่มขึ้น

    การปรับเปลี่ยนทิศทางและแนวนโยบายให้การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  ทำได้โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวม เพื่อให้เกิดเป็น Integrated System รัฐจะต้องมีนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานและด้านการกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่จะสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น

    ด้านการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น 
    -สร้างระบบพี่เลี้ยงแก่เกษตรกรหน้าใหม่ โดยให้มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้เป็นหน่วยงานกลาง ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน  ภาครัฐอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือ 
    -ส่งเสริมให้เกษตรกรทำบัญชีครัวเรือนเพื่อใช้ในการควบคุมต้นทุนและวางแผนการผลิต เพราะการทำบัญชีครัวเรือนแก่เกษตรกรที่ผ่านมาส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมาก 
    -ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตภาพการผลิตทั้งด้านที่ดินและกำลังแรงงาน ส่งเสริมให้เกษตรกรวางแผนและใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดผลอย่างเต็มที่ 

-สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเป็นการทำเกษตรที่พึ่งพาเทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้น และส่งเสริมให้แรงงานที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนกลับไปช่วยทำการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคเกษตรลดลงและแรงงานสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น
    -สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยให้ท้องถิ่นทำสินค้าเกษตรตามเอกลักษณ์และ ความโดดเด่นแต่ละพื้นที่  
    -สนับสนุนการลดต้นทุนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของเกษตรกร  รวมทั้งให้ความสำคัญกับการหาตลาดในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียได้ง่าย 
    -ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากแปลงเกษตรที่มี Landscape/Scenery ที่สวยงามตามธรรมชาติในการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และทำให้เกิดเป็น Soft Power ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และมุ่งเน้นความยั่งยืนของการท่องเที่ยว
    -ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความรู้ทางดิจิทัล  พัฒนาระบบข้อมูลของตลาดสินค้าเกษตร เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งประเทศไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ 
    -มีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหา Climate change ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ต้องทำให้เกษตรกรมีระบบชลประทานที่ทั่วถึง และในหลายประเทศเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบโรงเรือน เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ 

    ด้านการกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคสินค้าเกษตร สามารถทำได้โดยการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการภาคเกษตร โดยการผ่อนคลายและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค  รวมทั้งสนับสนุนให้ SMEs ให้ซื้อผลผลิตของเกษตรกรมาแปรรูป (ท้องถิ่นนิยม) ซึ่งจะตอบโจทย์นโยบาย BCG ด้วย ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรไปเชื่อมโยงกับเรื่องท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรรวมถึงส่งเสริมให้ SMEs มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอีกด้วย
    นอกจากนั้นภาครัฐสามารถดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายแบบเฉพาะกลุ่มได้ เนื่องจากเกษตรกรมีความหลากหลาย โดยเฉพาะรายได้ที่แตกต่างกันมาก จึงไม่ควรดำเนินนโยบายลักษณะเหมารวม หากแต่กำหนดนโยบายส่งเสริมที่แตกต่างกัน รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรตามทุนและทักษะ สำหรับทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รัฐสามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ได้ แต่การรับรู้หรือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของเกษตรกรแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาส่งเสริมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลตามความเหมาะสม
    เศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ โดยเริ่มจากปรับและเปลี่ยนเท่านั้น   และบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ตอกย้ำกับพวกเราแล้วว่า  เราไม่ปรับ ไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว.