เมืองที่ยืดหยุ่น สู่ประเทศที่ยั่งยืน | คิดอนาคต

เมืองที่ยืดหยุ่น สู่ประเทศที่ยั่งยืน | คิดอนาคต

ประเทศจะต้องบริหารจัดการสร้างเมืองให้เป็น เมืองที่ยืดหยุ่น (Resilient City) เพื่อที่จะขยายไปสู่ ประเทศที่ยั่งยืน (Resilient Country) จึงจะสามารถตอบรับโลกในอนาคต ที่ความไม่แน่นอนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน และใน โลกอนาคต ความไม่แน่นอนนี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ของ ThailandFuture พบว่าแนวโน้มในอนาคตที่สำคัญซึ่งมีผลกระทบสูง ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ ผลกระทบจาก Climate Change ความแปรปรวนจากราคาพืชผลเกษตร การขาดแคลนน้ำสะอาด การเปลี่ยนไปของความต้องการทักษะมนุษย์  และเกือบทุกเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาเมืองพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น   
    ประเทศจะบริหารจัดการอย่างไรให้ตอบรับกับความเสี่ยงที่กำลังจะมา คำตอบก็คือประเทศจะต้องบริหารจัดการให้เป็นประเทศ Resilient Country นั่นคือ ต้องมีความยืดหยุ่น รับแรงกระแทกได้ดี สามารถปรับตัวได้เร็วเมื่อเผชิญกับวิกฤต หรือถ้าล้มก็สามารถลุกกลับมาได้เร็ว

คำถามก็คือทุกวันนี้ประเทศไทยมีความ Resilient มากน้อยแค่ไหน  เช่น ภาคท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก แต่นักท่องเที่ยวร้อยละ 80 ไปแค่ 5 เมืองใหญ่ๆ  เมื่อมีวิกฤตขึ้นมาย่อมเกิดผลกระทบมากเพราะไม่มีการกระจายความเสี่ยง เราต้องสร้างเมืองให้เป็น Resilient City  นั่นจะขยายไปสู่ Resilient Country
    ทำอย่างไรถึงจะเกิด Resilient City ได้ คำตอบหลักก็คือเรื่อง เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy)  Local Economy ไม่ใช่แค่เรื่องการแก้จนเท่านั้น แต่เป็นการสร้างโครงข่ายของเศรษฐกิจแต่ละหน่วยของชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นให้เสริมซึ่งกันและกันได้ ทั้งภาคเศรษฐกิจ การตลาด การเงิน การศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน  การพัฒนาแบบโครงข่ายจะมีความเข้มแข็ง เมื่อเกิดวิกฤต ผลกระทบจะไม่รุนแรง
    การสร้าง Local Economy ทำได้โดยลดการกระจุก กระจายความเสี่ยง สร้างเมืองรองให้แข็งแรงขึ้น  กระจายอำนาจ นั่นจะทำให้เกิดการกระจายความเจริญ มีการพึ่งพาตนเองที่สูงขึ้น รวมทั้งพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เช่น  วิกฤตโควิด-19 มีคนย้ายกลับไปบ้านเกิดมาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี 
    ตัวอย่างกรณีภาคเกษตรที่มีคนทำงานอยู่จำนวนมาก แต่มี GDP เพียงประมาณร้อยละ 10  เราต้องยกระดับภาคเกษตรเป็นกำลังของประเทศ เกษตรกรต้องเปลี่ยนจากการทำเกษตรดั้งเดิม เป็นเกษตรสมัยใหม่ เกษตรพรีเมียม ภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเกษตรกร จากการมองว่าเป็นผู้ผลิต แต่มองเป็นผู้ประกอบการ

ต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่า  ภาครัฐต้องส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมเรื่องระบบนิเวศ ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัย อำนวยความสะดวกการจดทะเบียนหรือการติดต่อหน่วยงานต่างๆ  รวมไปถึงเชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคการท่องเที่ยว (Agro-Tourism) ก็เป็นการเพิ่มมูลค่าได้ 

การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองเป็นสิ่งที่มาควบคู่กัน  มีทั้งโอกาส ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบาย โครงสร้างพื้นฐานที่ดี โอกาสในการต่อยอดธุรกิจ และมีทั้งภัยคุกคาม ทั้งปัญหาขยะ มลพิษ ความแออัด คนจนเมือง อาชญากรรม  วิกฤตโควิดทำให้เราเห็นแล้วว่า คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนจนเมือง

เราจะวางแผนอย่างไรให้ก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ให้สิ่งเหล่านี้กลับมาเป็นวิกฤตกับเราอีก  ซึ่งทาง ThailandFuture ของเราได้จัดทำฉากทัศน์อนาคตขึ้นมา
• ฉากทัศน์แบบเดิม (Business As Usual)  คนค่อยๆ ปรับตัวสู่ New Normal  ความเจริญยังกระจุกอยู่ที่เมืองหลัก แรงงานย้ายกลับเข้ามาในเมืองเช่นเดิม
• ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) คนใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้เต็มที่ เมืองมีการพัฒนาเป็น Smart City  หรือเมืองที่เดินทางไปไหนก็ได้ใน 15 นาที ไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน พักผ่อน หรือทำอะไรก็ได้ภายใน 15 นาที ทำให้คนมีความสุขขึ้น เมืองน่าอยู่ขึ้น
• ฉากทัศน์กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) คนปรับตัวจากโควิดไม่ได้ เกิดความเหลื่อมล้ำแบบทวีคูณ ผลกระทบส่งต่อไปถึงเมืองรอง เมืองถูกทิ้งร้าง 
• ฉากทัศน์ที่สุดโต่ง (Outlier Scenario) โอกาสในการเกิดขึ้นอาจไม่มาก คล้ายกับกรณีโควิดคนอาจไม่เคยคาดคิด แต่เมื่อเกิดผลกระทบสูงมาก เช่น กรณี Climate Change แผ่นดินไหวรุนแรง โรคระบาดชนิดใหม่ขึ้นมา ความขัดแย้งจากภูมิรัฐศาสตร์   เราจะทำอย่างไร 
    จากฉากทัศน์ภาพอนาคตต่างๆยิ่งย้ำว่าการวางผังเมือง การบริหารจัดการเมืองที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนา Local Economy เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาที่จะก้าวไปสู่ Resilient City และ Resilient Country 

Local Economy ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ และการวางผังเมืองก็ไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพเท่านั้น  ตัวอย่างแรกกรณีจังหวัดขอนแก่น ที่มีการรวมตัวกันของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เทศบาล 5 แห่ง ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ร่วมกันตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง ขึ้นมา ใช้แนวคิด Transit Oriented Development ใช้ระบบคมนาคมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยทางขอนแก่นวางแผนสร้างรถไฟรางเบา มีการพัฒนาสถานีและพัฒนาพื้นที่รอบสถานี นำไปสู่ Urban Productivity และช่วยเสริมให้ Local Economy แข็งแกร่งขึ้น 
    อีกตัวอย่างคือ จังหวัดยะลา ซึ่งมีการสร้างพื้นที่สาธารณะทั้งแบบกายภาพ (เช่น สภากาแฟ) และแบบเสมือน  (มี Line Official Account มีตลาดออนไลน์) มี Sense of Place คนรู้สึกเป็นเจ้าของ ผนวกกับธรรมาภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการแบบโปร่งใส   กรณีศึกษา 2 ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นถึงความหวังว่าเราสามารถเดินต่อไปได้
    ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งมิติเวลา จากอดีตสู่อนาคต การคาดการณ์อนาคต (Foresight) นำมาใช้พัฒนาปัจจุบัน หรือมิติความร่วมมือ ทุกภาคส่วนตั้งแต่ ครัวเรือน ชุมชน เมือง ประเทศ เชื่อมโยงกันหมด    เราต้องมาร่วมกันช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพราะการสร้างประเทศที่ยั่งยืนก็ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน.