20 เหตุผล ที่ไม่ควรกลัว GDP ติดลบ | พงศ์นคร โภชากรณ์

20 เหตุผล ที่ไม่ควรกลัว GDP ติดลบ | พงศ์นคร โภชากรณ์

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์" ประกาศอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP Growth) ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน) 2564 หดตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี

หลายคนตกใจเพราะจำได้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (เมษายน - มิถุนายน) 2564 ขยายตัวตั้งร้อยละ 7.6 ต่อปี จากพุ่งอยู่ดี ๆ กลับมาร่วงติดลบ !!! แต่ผมมองว่าหากเราได้อ่านรายงานฉบับนี้ทุกหน้า เราจะพบว่า การที่ จีดีพีติดลบ รอบนี้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ด้วยเหตุผล 20 ประการ ได้แก่ 
    1) ตัวเลขที่ออกมาไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไร ทุกหน่วยงานที่มีแบบจำลองในการประมาณการเศรษฐกิจก็คาดการณ์ว่าจะหดตัวเหมือน ๆ กันหมด เพราะเป็นไตรมาสที่เราโดนโจมตีจากโควิด-19 ระลอกใหม่ สายพันธุ์ใหม่พอดี อาจจะต่างตรงที่หดตัวร้อยละเท่าไร ซึ่งการหดตัวร้อยละ 0.3 ยังหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ด้วยซ้ำไป 

2) ตัวเลขที่ออกมาอย่าเอาไปเทียบกับไตรมาสที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน) ที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพราะไตรมาสที่ 2 ปีก่อน ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณต่ำผิดปกติคือหดตัวถึงร้อยละ 12.1 ต่อปี เพราะเป็นไตรมาสที่โดนโจมตีของวิกฤติโควิด-19
    3) มาตรการที่ใส่ลงไป มันได้ผล เพราะถ้าไม่ได้ผล ตัวเลขที่ออกมาน่าจะหดตัวมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่เข้ามาช่วยพยุงกำลังซื้อ บรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ 
    4) ผลผลิตภาคการเกษตรยังขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 4.3 ต่อปี สะท้อนว่าพี่น้องเกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มอยู่ แม้ราคาพืชผลบางรายการกลับมาหดตัว ผลผลิตที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งปศุสัตว์และประมง 
    5) สาขาขายส่งขายปลีกขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี สะท้อนถึงการทำมาค้าขายยังดำเนินการได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตสินค้าเกษตรและการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

20 เหตุผล ที่ไม่ควรกลัว GDP ติดลบ | พงศ์นคร โภชากรณ์
    6) สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.8 ต่อปี สะท้อนถึงโอกาสของธุรกิจในยุค Digital Transformation และ Internet of Things โดยการขยายตัวเป็นผลมาจากกิจกรรมโทรคมนาคม การจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการบริการสารสนเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

7) การบริโภคภาคเอกชนไม่หดตัวลงไปมากนัก เพราะได้อานิสงค์จากมาตรการต่าง ๆ ช่วยพยุงเอาไว้ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 ตลอดจนมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นต้น
    8) การบริโภคหมวดอาหารขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี สะท้อนถึงประโยชน์จากโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยังขยายตัวได้ทั้ง 2 หมวดย่อยที่ร้อยละ 2.8 และ 1.8 ต่อปี ตามลำดับ 
    9) การบริโภคหมวดที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี สะท้อนถึงผลบวกของมาตรการ Work from Home และลดการเดินทางออกจากบ้าน ดูจากการขยายตัวของค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 
    10) การบริโภคหมวดการสื่อสารขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี สะท้อนถึงการเติบโตของการค้าขายออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เป็นผลจากการขยายตัวของการใช้จ่ายด้านบริการสื่อสารและบริการไปรษณีย์ 
    11) การใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริโภคขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการออกมาตรการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) เนื่องจากการโอนเงินสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายช่วงวิกฤติโควิด-19 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม 
    12) การลงทุนภาคเอกชนในด้านเครื่องจักรเครื่องมือยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ต่อปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนและการผลิตสินค้าบางชนิด และเป็นการพยุงให้การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้การลงทุนด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนจะหดตัว 
    13) การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงเหลือ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 211,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนการผลิตสินค้าสะสมไว้รอขายในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องประดับ อัญมณี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบ สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ
    14) การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.3 ต่อปี สะท้อนว่าเครื่องยนต์การส่งออกยังช่วยประคับประคองเศรษฐกิจที่โดนพิษโควิด-19 โดยสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์จากประเทศจีน รวมถึงการส่งออกรถยนต์นั่ง รถกระบะ และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ขยายตัวได้ดีตามตลาดอาเซียน ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็ยังขยายตัวได้ในระดับสูงเช่นกัน
    15) การนำเข้าสินค้าขยายตัวถึงร้อยละ 26.8 ต่อปี ชี้ว่าภาคเอกชนยังมีการลงทุนและผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าขยายตัวทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น สินค้าทุนก็ขยายตัวตามการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือของภาคเอกชน รวมถึงสินค้าที่นำเข้าผลิตเพื่อส่งออกด้วย 
    16) รายรับจากภาคบริการเข้าประเทศขยายตัวร้อยละ 11.8 ต่อปี สะท้อนว่าไทยยังมีรายรับจากบริการขนส่งสินค้า มาจากค่าบริการขนส่งสินค้าที่ขยายตัวสูงตามปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น แม้ว่าบริการรับจากการโดยสารเข้ามาท่องเที่ยวยังคงหดตัว
    17) การเปิดประเทศทำให้แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามากขึ้นเป็น 45,000 คน ผลจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และช่วยเพิ่มความคึกคักให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย  
    18) เศรษฐกิจไตรมาส4 (ตุลาคม – ธันวาคม) 2564 จะขยายตัวดีขึ้น เพราะเป็นไตรมาสที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงชัดเจน มีการเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นชัดเจน จังหวัดสีแดงเข้มลดลงเหลือ 6 จังหวัด จากเดิม 29 จังหวัด กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำได้มากขึ้น และมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาหลังจากอั้นมานาน

20 เหตุผล ที่ไม่ควรกลัว GDP ติดลบ | พงศ์นคร โภชากรณ์
    19) เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคงทุกด้าน เงินเฟ้อต่ำ ว่างงานต่ำ หนี้สาธารณะอยู่ใต้เพดานที่ตั้งไว้ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมาก จำนวนคนจนปี 2563 เพิ่มไม่มากนัก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อมายังปี 2564 และ 2565 
    20) ปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ใกล้ระดับศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยทั้งกระทรวงการคลังและ สศช. ประมาณการตรงกันว่าในปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี และสูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 
    จะเห็นว่าเครื่องยนต์ฟันเฟืองของเศรษฐกิจมหภาคยังทำงานได้ ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่ GDP หดตัวครั้งนี้ เรายังเห็นสมรรถนะของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นในอนาคต ... GDP ที่ติดลบ จึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดครับ.
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)