การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก: นัยต่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก: นัยต่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

เศรษฐกิจโลกในระยะสั้นมีแนวโน้มชะลอตัวค่อนข้างชัดเจน เมื่อพิจารณาจากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

กล่าวโดยรวมก็คือ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะมีจุดแข็งที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ กลุ่มประเทศยุโรปโดยรวมก็อาจฟื้นตัวด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มากพอที่จะชดเชยกับจุดอ่อนที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ที่เหลือ โดยเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัว เพราะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาสที่สามของปีนี้ยังชะลอตัวลง 0.8% ซึ่งเป็นการลดลงที่มากกว่าที่คาดไว้ จึงคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาอีก

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกกันว่า BRICS อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก็ได้เรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ 20 ประเทศ (G20) ที่ผ่านมาล่าสุด ให้ร่วมมือกันกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สอดคล้องร่วมกันมากขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำนักงานพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่ง ก็เห็นตรงกันว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ยในปีหน้าจะอยู่ในระหว่าง 2.8% ถึง 3.3% แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงกันแน่

โดยแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มความคิดใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรกเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากภาวะปัญหาหนี้ที่ผ่านมา แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และหลายประเทศที่มีปัญหาก็ยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบคิวอี (Quantitative easing) ต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ประกอบการผลิตและธุรกิจก็ได้ประโยชน์จากมีต้นทุนพลังงาน ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนกลุ่มขั้วความคิดที่สองนั้นเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะซึมยาว เพราะอยู่ในระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะที่แตกต่างไปจากอดีต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอายุของประชากร ไปเป็นเศรษฐกิจของผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการออมและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อซึ่งมักนำไปสู่ภัยสงคราม และปัญหาผู้ก่อการร้ายที่คุกคามต่อเสถียรภาพและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว  

ทั้งสองขั้วความคิดดังกล่าวข้างต้นนี้ มีนัยที่แตกต่างกันในแง่ของความเสี่ยงที่เกิดกับแผนการปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมในอนาคตของไทย เนื่องจากว่าแผนการปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมในอนาคตของไทยนั้นนอกจากจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ ที่มีศักยภาพและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่แล้ว ก็ยังต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ตามกลุ่มขั้วความคิดแรก มาตรการจูงใจทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีต่างๆ ของรัฐบาลไทยก็จะทำให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ทว่า หากเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซาต่อไป ตามความเชื่อของกลุ่มขั้วความคิดที่สอง ก็จะมีความเสี่ยงสูงต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตามแผนการปฎิรูปที่ได้ตั้งเป้าไว้ และอาจกดดันให้รัฐบาลต้องกู้เงินมากขึ้นหรือไม่ก็ต้องยอมขาดดุลงบประมาณแผ่นดินมากขึ้นเพื่อมาใช้สนับสนุนแผนงาน เพราะลำพังเพียงเม็ดเงินลงทุนจากในประเทศนั้นคงจะไม่เพียงพอสำหรับแผนงานที่ได้วางไว้

หากเรามองโลกในแง่ดีไว้ก่อนว่า กลุ่มขั้วความคิดแรกน่าจะถูกต้อง นั่นคือเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในอนาคต ก็ต้องถามต่อว่า อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งคงหนีไม่พ้นที่จะต้องตอบด้วยว่าทำไมที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกถึงไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แม้ว่าสหรัฐได้ใช้นโยบายคิวอีอัดฉีดปริมาณเงินเพิ่มจำนวนมากก็ตาม คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้จากมุมมองของ Prof. Robert D.Auerbach แห่ง University of Texas at Austin ก็คือว่าปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่กว่า 80% นั้น กลับถูกเก็บไว้เป็นเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปนั่นเอง

ดังนั้น เงินจึงไม่ได้ถูกปล่อยกู้ไปเพื่อการลงทุนตามที่คาดไว้ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่ผ่านมานั่นเอง ดังนั้น หากปัญหานี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ก็ย่อมเป็นผลเสียต่อการดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามแผนการปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไทยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น จึงยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก เช่น ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และความเข้มแข็งของทุนทางสังคมของไทยเมื่อเทียบกับของประเทศคู่แข่ง ตามที่เคยได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้านี้ เป็นต้น